ในวันที่โทรทัศน์ไทยเปลี่ยนผันเข้าสู่ยุคของดิจิตอล ยุคแห่งความเร็วของข้อมูล ยุคแห่งความหลากหลายของเนื้อหา ผู้บริโภคสามารถเลือกสื่อเสพได้ตามใจ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้วงการโทรทัศน์ต้องกระตือรือร้นให้ตัวเองยังได้ความนิยมชมชอบอยู่ แล้วยิ่งพวกเขารับรู้อีกว่าเกมโชว์แนวความรู้ ให้ผู้ชมลุ้นตาม กลับกลายเป็นว่า “ไม่เวิร์ค” สำหรับพฤติกรรมคนดูแบบไทย ๆ อีกต่อไป แล้วอะไรล่ะที่จะตอบโจทย์นี้ได้?
นั่นก็คงไม่พ้น “เพลง” สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ผ่อนคลายได้ตลอดเวลา บทความนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจโลกของรายการประกวดร้องเพลง รวมถึงวิจารณ์เรียลลิตี้ และเกมโชว์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการร้องเพลงกันครับ
จุดเริ่มต้นของเรื่อง : เรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง
อธิบายอย่างหนึ่งว่าในยุคสมัยเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น เขายังไม่ค่อยมีใครนิยมทำรายการประกวดร้องเพลงในรูปแบบของเรียลลิตี้โชว์มากสักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่คือถ้าไม่ประกวดตามเวทีทั่วไป ก็มักจะเข้าวงการมาผ่านการออดิชั่นของค่ายเพลงนั้น ๆ แต่อาจจะเป็นข้อยกเว้นสำหรับเวทีประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทาน “เคพีเอ็นอวอร์ด” ซึ่งสำหรับผู้ที่ได้เข้าประกวดเวทีนี้ หากมีผลงานที่เข้าตาคนในวงการ ก็อาจจะมีสิทธิ์เข้าวงการมาได้ เพราะเวทีนี้คนที่จะขึ้นเวทีก็ต้องมั่นใจมาแล้วว่ามีพลังเสียงที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะเป็นถึงเวทีประกวดร้องเพลงที่มีศักดิ์ศรี และคุณค่าในตัวของเขาเอง
แต่ในช่วงปี 2547 ซึ่งถือว่าเป็นช้วงเบอกบานของเรียลลิตี้โชว์
ผู้ชมที่ติดตั้งกล่องดาวเทียม หรือเคเบิลทีวีของยูบีซี (หรือทรูวิชั่นส์ในปัจจุบัน) ก็คงจะมีโอกาสตื่นตาตื่นใจกับการประกวด “อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย (เอเอฟ)” เป็นครั้งแรก ด้วยรูปแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ที่น่าจับตา และน่าหลงใหล ทำให้ผู้ชมที่มีกำลังทรัพย์ พร้อมจะติดตามพวกเขาไปตลอด 24 ชั่วโมง โดยในซีซั่นแรกยังไม่ได้มีการออกอากาศบนฟรีทีวี ก่อนที่ในซีซั่นถัดมาจะออกอากาศคอนเสิร์ตทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และเปลี่ยนสถานีมาเป็นสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีในอีกซีซั่นถัดมา
สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ชนะการประกวด ฝั่งของเอเอฟค่อนข้างจะมีของรางวัลที่อู้ฟู่กว่า ดึงดูดใจผู้เข้าประกวด ด้วยความที่สเกลทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นก็จัดว่าไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ บ้านเอเอฟต่างก็ปั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมามากหน้าหลายตา ซึ่งบางส่วนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงการบันเทิง ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ทรูจะไม่ได้ใช้คนจากเวทีนี้บ่อย ๆ แบบเมื่อก่อนแล้วก็ตาม… ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย
ส่วนฝั่งฟรีทีวี ในเวลาใกล้เคียงกัน ก่อนหน้านั้นไม่นานมากเท่าไหร่ ฝั่งของเอ็กแซ็กท์ก็ขอส่ง “เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว” ลงจอช่องโมเดิร์นไนน์ทีวีในช่วงเวลาใกล้เคียงกันไม่นานนัก
เท่าที่ได้ยินมา เดอะสตาร์ในซีซั่นแรกๆ ยังไม่ได้มีการให้ผู้เข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน และไม่มีเพลงธีมประจำเวที แต่ในซีซั่นถัดมา ก็มีการปรับให้ผู้เข้าแข่งขันเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และมีเพลงธีมประจำเวทีอย่าง “เพื่อดาวดวงนั้น” เป็นเพลงหลัก
เดอะสตาร์ไม่ได้มีของรางวัลอู้ฟู่หรูหราให้กับผู้เข้าแข่งขันมาก เมื่อเทียบเท่ากับฝั่งของเอเอฟ แต่เดอะสตาร์ก็มีโอกาสสำคัญมอบให้ คือการได้เป็นศิลปินในสังกัดจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ค่ายเพลงอันดับต้นๆ ของไทย (ที่ฟาดฟันกับอาร์เอสเป็นประจำ) ซึ่งก็มีหลายคนที่มีโอกาสดี ๆ มีชื่อเสียงในวงการ และมีหลายคนที่ผู้อ่านบางท่านอาจจะลืมเลือนหน้าไปแล้วส่วนหนึ่ง บางท่านก็ผันตัวไปเป็นหมอ, พนักงาน มุ่งสู่ถนนการเมือง หรือเป็นผู้ประกาศข่าว
“ประกวดร้องเพลง” ที่เข็นใหม่ – ปรับใหญ่
ส่วนอาร์เอส ก็ไม่รู้ว่าทางนั้นเขายึดติดกับเวที “พานาโซนิค สตาร์ ทาเลนต์” เกินไปหรือเปล่า หรือรู้สึกว่ายังไม่เก๋าเกมในด้านการผลิตรายการทีวี จึงดูเหมือนจะไม่ตามเทรนด์เรียลลิตี้โชว์ไปกับอีกค่าย แต่เขาก็ขอส่งรายการประกวดร้องเพลงสำหรับเด็กอย่างรายการ “เพชร” ซึ่งมีพิธีกรชื่อดังอย่าง “จ๋า – ณัฐฐาวีรนุช ทองมี” ควบคู่กับพิธีกรหน้าใหม่ในตอนนั้นอย่าง “มั้งค์ – ชัยลดล โชควัฒนา”
ในปี 2554 ก็ไม่รู้ว่าฝั่งเจเอสแอล โกลบอล มีเดีย ติดใจอะไรกับเวทีประกวดร้องเพลงหรือเปล่า แต่ก็ขอจับ 2 รายการบนจอช่อง 7 อย่าง “กิ๊กดู๋” และ “จันทร์พันดาว” มาแต่งหน้า แต่งตัว เติมชื่อห้อยท้าย ปรับรูปแบบมาเป็นรายการประกวดร้องเพลงอย่างเต็มตัว ในนาม “กิ๊กดู๋สงครามเพลง” และ “จันทร์พันดาว โจ๊ะ พรึม พรึม”
หรือแม้แต่กระทั่ง “ทีวีธันเดอร์” ก็ขอหยิบ “มาสเตอร์คีย์” มาปัดฝุ่นใหม่กลายเป็นรายการประกวดร้องเพลง “มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด” ต่ออายุ และลมหายใจให้ชื่อรายการ
ก่อนที่ในช่วงปลายปี รายการประกวดร้องเพลงจะกลับมาบูมจัดๆ หลังจากการมาของรายการ “เดอะวอยซ์ เสียงจริง ตัวจริง” รายการประกวดร้องเพลงฟอร์แมตระดับโลกที่กลุ่มทรูขอซื้อสูตรสำเร็จจาก Talpa มาทำเป็นเวอร์ชั่นไทย (ปัจจุบันลิขสิทธิ์อยู่ในมือ ITV Studios แล้ว-บรรณาธิการ)
เดอะวอยซ์แจ้งเกิดศิลปินที่มีพลังเสียงที่ดีอยู่หลายคน หนึ่งในนั้นคือหนุ่มเสียงทรงเสน่ห์อย่าง “นนท์ – ธนนท์ จำเริญ”, หรือหากไม่ใช่หน้าใหม่ เวทีนี้ก็กลับมาชุบชีวิตศิลปินที่เคยมีผลงานมาก่อนอย่าง “ฟิล์ม – บงกช เจริญธรรม” หรือ “ไก่ – อัญชุลีอร บัวแก้ว” ให้กลับมาเป็นที่รู้จักของคนไทยอีกครั้ง
หลังจากนั้นมาเลยไม่ค่อยแปลกใจ ถ้าจะเป็นยุคของ “สงครามเกมโชว์ประกวดร้องเพลง”
เวทีศักดิ์สิทธิ์…ที่ต้องขอเบรคเพราะล้นตลาด
หลาย ๆ ท่านที่มีอายุประมาณหนึ่ง อาจจะจำเวทีประกวดร้องเพลงชิงถ้วยพระราชทานซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์ขลังอย่าง “เคพีเอ็นอวอร์ด (หรือในชื่ออื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่นนิสสันอวอร์ด / ซูบารุอวอร์ด)” ของกลุ่มเคพีเอ็นได้
ในช่วงแรก ๆ การประกวดมักจะเป็นการประกวดแบบรายปีต่อปี ไม่ได้ออกมาในลักษณะเรียลลิตี้เท่าไหร่นัก
แต่ในช่วงประมาณปี 2549 ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของรายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง เพราะทรูก็มี AF ส่วนเอ็กแซ็กท์ก็มี The Star “คุณดาว – พอฤทัย ณรงค์เดช” หลังจากที่แต่งงานกับคุณณพ ณรงค์เดช ผู้เป็นสามี ทางคุณดาวก็นำรูปแบบใหม่ของเวทีนี้ในแบบฉบับเรียลลิตี้โชว์ไปเสนอผู้ใหญ่อยู่หลายช่อง จนในที่สุด ในอีก 3 ปีถัดมา ก็ตัดสินใจเข็นเวทีประกวดร้องเพลงอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาลงจอที่ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี ช่องที่จัดได้ว่าเป็น “House Of Singing Reality Show” ของเมืองไทยในขณะนั้นเลยก็ว่าได้ [1]
ก่อนที่ในช่วงปี 2553 เวทีนี้จะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งคือมีการปรับรูปแบบมาเป็นเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงแบบรายฤดูกาลเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากปี 2553 ที่ได้ “เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย” มาจัดการด้านงานโปรดักชั่น
ก่อนที่ในอีกไม่นานนัก ในปีเดียวกัน จะมีการปรับรูปแบบขนานใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อต่อท้าย จากเลขปี เป็นเลขครั้งที่จัดประกวด (ทำให้ในปี 2553 มีการจัดประกวดถึง 2 ครั้ง) และได้ทีมโปรดักชั่นคอนเสิร์ตสุดอลังการอย่าง “โฟร์โนล็อก” เข้ามาดูแลให้จนถึงครั้งล่าสุด(ครั้งที่ 25) และมีจุดเปลี่ยนสุด ๆ ในครั้งที่ 22, ครั้งที่ 23 และครั้งที่ 24 ที่มีการปรับรูปแบบโดยแบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่ถูกเลือกมาจาก “เสียงร้อง” และฝั่งที่ถูกเลือกมาจาก “หน้าตา” ซึ่งทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก แรงจนถึงขั้นที่ว่าเนื้อหารายการในซีซั่นที่ 23 ได้ถูกจัดเรตไว้ที่ “น.13+” ซึ่งไม่ค่อยมีรายการประกวดร้องเพลงเวทีไหนได้รับการจัดอยู่ในเรตนี้
เวทีนี้ปั้นศิลปินที่มีชื่อเสียงออกมาหลายสิบคน รวมถึง “เพิท – พงษ์ปิติ ผาสุขยืด” ผู้ก่อตั้ง Ad Addict ที่ก่อนจะผันตัวมาทางด้านนี้ เขาก็ผ่านการประกวดเวทีนี้มาเช่นกัน
แต่ด้วยจำนวนเวทีที่มันเยอะ ล้นตลาดขนาดนี้ ทำให้เวทีแห่งนี้ต้องตัดสินใจเบรคตัวเองไว้ที่การแข่งขันครั้งที่ 25 ซึ่งเป็นซีซั่นที่มีผู้เข้าแข่งขันเก่า ๆ จากซีซั่นก่อน ๆ กลับมาร่วมประกวด
“เกมโชว์เพลง” ที่ไม่ใช่ “เกมโชว์ประกวดร้องเพลง”
ถ้าให้ย้อนกลับไปเนี่ย รายการเกมโชว์เพลงก็มีหลายยุค หลายรูปแบบ แต่เราจะพูดถึง 3 รายการที่สำคัญ ๆ อย่าง “จู๊คบอกซ์เกม” “คอซองเกม” และ “คาราโอเกม” ครับ
“จู๊คบอกซ์เกม” หนึ่งในรายการของ “บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอทด์” ที่สร้างภาพจำความเป็นเกมโชว์เพลงได้อย่างดี และมีพิธีกรเป็น 2 คู่หูสุดกวน “ไก่ – สมพล ปิยะพงศ์สิริ” และ “ตุ๊ก – ญาณี จงวิสุทธิ์” ว่ากันว่าเกมโชว์รายการนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่โปรโมทเพลง ที่ค่ายต่าง ๆ ก็พากันแย่งชิงเลยล่ะ โดยพัฒนามาจากรูปแบบของรายการในค่ายเดียวกันอย่าง “เพลงต่อเพลง”
“คอซองเกม” รายการของ “แกรมมี่ เทเลวิชั่น” ที่อยู่ในผังช่อง 3 หลัง “บอร์นฯ” ตัดสินใจย้ายรายการไปพร้อมกับการปรับผังใหม่ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สร้างความงุนงงให้กับผู้ชม เพราะผู้ชมก็งงว่าทำไมรายการเปลี่ยนไป ทั้งชื่อ ทั้งการที่ใช้เพลงค่ายแกรมมี่มากขึ้น (แน่นอนว่าไม่มีเพลงค่ายอาร์เอส) แถมพิธีกรดันมีอาไก่ สมพล จากรายการเมื่อตะกี๊อีก (โดยทำทั้ง 2 รายการ คือรายการเมื่อกี้ และรายการนี้)แต่แค่เปลี่ยนพิธีกรคู่มาเป็นคู่หูอีกคนนึงอย่าง “ตุ๊ยตุ่ย – พุทธชาด พงศ์สุชาติ” และดีเจผู้ล่วงลับอย่าง “ดีเจโจ้ – อัครพล ธนะวิทวิลาศ”
และ “คาราโอเกม” เกมโชว์ที่เกิดขึ้นในช่วงโมเดิร์นไนน์ทีวีกำลังปรับไปเรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ เริ่มต้นด้วยพิธีกร 2 คนอย่าง “ฟลุ๊ค – เกริกพล มัสยวาณิช” และ “ธงธง มกจ๊ก” ก่อนที่จะหลีกทางให้กับเรียลลิตี้ร่วมค่ายอย่าง “เดอะสตาร์” ไปพักหนึ่ง และกลับมาอีกครั้งด้วยพิธีกรเซ็ตใหม่อย่าง “ชาคริต แย้มนาม” และ “แฟรงค์ – ภคชนก์ โวอ่อนศรี”
แฟรงค์ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ “คุยแซ่บโชว์” เมื่อไม่นานมานี้ว่าเขามีส่วนร่วมในการคิดเกมนี้อีกด้วย และในการเป็นพิธีกรครั้งนั้น ก็เกิดจากการที่บอสใหญ่อย่างคุณบอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ ต้องการพิธีกรที่เข้าใจเกมนี้เป็นอย่างดี[2]
ก่อนจะหายไปอีกสักพักใหญ่ และกลับมาด้วยพิธีกรคู่ใหม่ (อีกแล้ว) อย่าง “หยวน – กวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร” และ “ตุ๊ยตุ่ย – พุทธชาด พงศ์สุชาติ” และหายไปยาว ๆ
หลังจากนั้น ก็น้อยครั้งนะครับที่เราจะได้เห็นรายการเกมโชว์เพลงจากบนหน้าจอทีวี จนมาถึงยุคของประกวดร้องเพลงที่ผสมเกมโชว์…
ตีโจทย์แนวคิด “ประกวดร้องเพลง” ทำไมถึงได้นิยมมากนัก
เอาจริง ๆ ต้องยอมรับว่าการทำรายการประกวดร้องเพลงนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาได้ บางอย่างก็คือ “การพัฒนารูปแบบ” แต่บางอย่างก็คือ “การทำตามกระแส” อย่างเช่นช่วงที่รายการ “เกมเศรษฐี” ดังใหม่ ๆ หลาย ๆ ช่องก็แห่กันทำควิซโชว์เต็มไปหมด(และเจ๊งเต็มไปหมด!)
ช่วงที่รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” โด่งดัง หลายช่องก็อยากกลับมาปั้นเวลาข่าวเช้าให้เด่น และเจิดจ้า
หรือช่วงที่รายการเรียลลิตี้โชว์ดังระเบิดระเบ้อ ก็ทำให้บางช่องก็อยากจะตามเสียเหลือเกิน
Trendsetter ที่เห็นได้ชัดเลยในสังเวียนนี้คือรายการ “ศึกวันดวลเพลง” ของช่องวัน 31, รายการ “ไมค์หมดหนี้” ของช่องเวิร์คพอยท์, รายการผู้มาก่อนที่โลกลืม ตั้งแต่ยุคดาวเทียมเริงร่าอย่างรายการตระกูล “เสียงสวรรค์” ของช่อง 8 ซึ่งมีหลายยุคเสียเหลือเกิน หรือรายการ “ร้องได้ให้ล้าน” ที่เพิ่งหลุดจากผังช่องไทยรัฐทีวีได้ไม่นาน
ซึ่ง 4 รายการนี้ เป็นรายการที่พัฒนารูปแบบเวทีประกวดร้องเพลง จากรูปแบบเวทีทั่วไป และเรียลลิตี้ ให้เป็นลูกผสมระหว่างรายการประกวดร้องเพลง และเกมโชว์ จากที่เคยเห็นมา หลาย ๆ รายการต่างก็มีรูปแบบที่เป็นลูกผสมระหว่างประกวดร้องเพลง และเกมโชว์ แถมหลายเวทีได้ผู้ชนะแล้วใช่ว่าจะได้เลย ต้องผ่านการรักษาแชมป์ติดต่อกันหลาย ๆ สมัย เพื่อเพิ่มพูนเงินรางวัล และบางรายการอาจมี Spin Off ซึ่งถ้าไม่ให้ผู้เข้าแข่งขันหน้าเดิม ๆ กลับมาแข่งกันอีกครั้งเพื่อหาสุดยอดผู้เข้าแข่งขัน (เช่น “ศึกวันดวลเพลง เสาร์๕”) ก็เป็นรูปแบบใหม่ไปเลย (เช่น “ไมค์หมดหนี้ ตั้งตัว”)
สงครามนี้ในช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก เพราะในช่วงแรก ผู้มาก่อนอย่าง “ศึกวันดวลเพลง” ออกอากาศในช่วง 1 ทุ่ม และผู้มาทีหลังอย่าง “ไมค์หมดหนี้” ก็ออกอากาศในช่วง 6 โมง 20 แต่เมื่อศึกวันดวลเพลงขยับเวลามาชนกัน การแข่งขันจึงเริ่มต้นขึ้น
ถึงแม้ว่าช่องวันจะเคยนำรายการ “บันไดเศรษฐี” ซึ่งเป็นรายการควิซโชว์มาแทนรายการศึกวันดวลเพลงก็จริง แต่สุดท้ายช่องวันก็ต้องทำใจ ก้มหน้ายอมรับความจริง ว่าเรตติ้งรายการควิซโชว์ในปัจจุบันมันไม่ได้ดีแบบเมื่อก่อน! ก็เลยต้องนำรายการ “ดวลเพลงชิงทุน” ที่ทางช่องเป็นผู้ผลิตเองมาลงผังรายการแทน
และล่าสุดช่อง 7 ก็เอาบ้าง ส่งรายการ “ร้องต้องรอด” มาท้าชนกับสงครามรายการประกวดร้องเพลงที่เร่าร้อน แทนรายการ “เกมแจกเงิน The Money Drop Thailand” จากผู้ผลิตเดียวกันอย่าง “เซ้นส์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” ที่สร้างบาดแผลให้กับเรตติ้งช่วงเย็นของสถานี
หลายช่อง หลายแห่ง ต่างก็สนใจรายการประกวดร้องเพลง เพราะทำยังไงก็มีคนดู และอย่างน้อย ๆ ถ้ามีผู้ชนะและค่ายเพลงเตรียมพร้อมละก็ เท่ากับว่าอาจจะได้ศิลปินมาประดับวงการด้วย แถมเวลามาก็ชอบมาแบบติดกันถี่ ๆ ยุคนี้รายการเกมโชว์ประกวดร้องเพลงน่าจะมีเยอะกว่ารายการเพลงจริง ๆ ด้วยซ้ำ
(ไม่ต่างกับเมื่อก่อนที่ทุกค่ายต้องมีรายการเพลง ไว้โปรโมตเพลงค่ายตัวเอง แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้วน่ะสิ…)