บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์
ณ สังคมปัจจุบัน วุฒิภาวะไม่ใช่เพียงเรื่องของอายุเท่านั้น การตีตราหรือเหมารวม (Stereotype) คนๆ หนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งด้วยตัวเลข ก็ถือเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้วเสียด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันคำว่า ‘วัยรุ่น’ ก็มีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นกว่าอดีต หากเทียบตัวผู้เขียนในวัย 15 ปี กับเด็กวัย 15 ปีในปัจจุบัน ก็ช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกิน ต่างทั้งในเรื่องความคิดความเชื่อ มุมมองความรัก รูปแบบการใช้ชีวิต แวดล้อมในการเติบโต การแสดงออกทางอารมณ์ หรือกระทั่งความกล้าหาญ
แต่ถึงแม้โลกจะพัฒนาไปจนแทบไม่หันมองกลับหลัง ก็ยังคงมีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของสังคมได้ คล้ายมีชนักใหญ่ติดหลังแน่น ความคิดความเชื่อที่ถูกขังไว้กับค่านิยมเก่า คุณภาพชีวิตไม่ก้าวหน้าเพราะโครงสร้างสังคมต่างๆ หรือกระทั่งต้นทุนในชีวิตที่สูงต่ำไม่เท่ากัน ก็นับเป็นเหตุผลหลักของการหลุดออกจากระบบสังคม
และเมื่อไม่มีพื้นที่สำหรับคนหนุ่มสาวที่เชื่องช้า เมื่อตัวตนที่แตกต่างหลากหลายถูกปฏิเสธ ความปรารถนาอันแรงกล้า หรือแม้แต่ความเคียดแค้นเหลือคณานับก็ต่างปรากฎขึ้นในทุกซอกหลืบ ภาวะดังกล่าวบอกเราว่า โลกสมัยใหม่ไม่ได้ผลิตสร้างเพียงคนพิเศษ หรือมนุษย์ผู้ทรงคุณค่าเท่านั้น แต่ยังมีคนหนุ่มสาวที่รุ่มร้อนไปด้วยเพลิงไหม้ในใจ ที่ต่างปรากฎกายขึ้นอย่างไม่ขาดสายด้วยเช่นกัน
All About Lily Chou-Chou ของ Shunji Iwai จึงเปรียบเสมือนถ้อยความของผู้ร้อนรุ่มนั้น เสียงร้องตะโกนของหนุ่มสาวที่มีต่อโลกที่โหดร้าย กระทั่งเสียงน้ำตาจากเด็กน้อยที่หมดอาลัยต่อชีวิต อิวาอิได้พาเราดิ่งสู่ก้นบึ้งจิตใจของหนุ่มสาวที่แตกสลาย ความเป็นเด็กที่สูญหายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จวบจนการหมดศรัทธาในโลกความเป็นจริงและมองไม่เห็นตัวตนในอนาคต จนเขาผู้นั้นตื่นตระหนก และล่องลอยสู่ความเลวระยำที่ไม่อาจให้อภัยได้
All About Lily Chou-Chou เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของเด็กมัธยมฯ ต้นในโรงเรียนชานเมือง ยูอิจิ ฮาซูมิ (แสดงโดย Hayato Ichihara) เด็กหนุ่มพูดน้อยหน้าตาไม่ค่อยเป็นมิตร ได้ไปรู้จักกับ ชูซึเกะ โฮชิโนะ (แสดงโดย Shugo Oshinari) เด็กหนุ่มบ้านรวยดีกรีหัวหน้าระดับชั้น ทั้งสองค่อยๆ สนิทสนมกันจากการที่ยูอิจิไปข้างคืนที่บ้านของโฮชิโนะ เขาได้แนะนำให้ยูอิจิรู้จักกับ Lily Chou-Chou (แสดงโดย Salyu) ศิลปินผู้นำสารแห่งอีเธอร์ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจความหมายในทีแรก แต่ยูอิจิก็สนใจในตัวตนของลิลี่ ชู-ชู อยู่ไม่น้อย
เมื่อเข้าสู่ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ยูอิจิ, โฮชิโนะ และกลุ่มเพื่อนได้พากันไปเที่ยวที่โอกินาว่า ทริปนี้ต่างสุดเหวี่ยงไปด้วยความสนุกสนาน รายล้อมด้วยพี่สาวสุดสวย บ้าบอตามประสาเด็กผู้ชาย แต่ในท้ายที่สุด การเที่ยวครั้งนี้กลับจบลงด้วยประสบการณ์เฉียดตายถึงสองครั้งของโฮชิโนะ
และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โฮชิโนะก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังตีน
การเปลี่ยนไปของโฮชิโนะทำให้ชีวิตของยูอิจิร่วงลงเหว เขาทั้งโดนรังแก บังคับข่มขู่ รีดไถเงินจากโฮชิโนะและสมุน เลวร้ายถึงขั้นให้เขามีเอี่ยวในเรื่องที่โสมมที่สุดในโลกอย่างการข่มขืน ซึ่งในช่วงเวลาที่สิ้นแล้วซึ่งความอยากมีชีวิตและตัวตนของยูอิจิ มีเพียงสิ่งจริงแท้อย่างลิลี่ ชู-ชู และเว็บบอร์ดแห่งอีเธอร์เท่านั้น ที่คอยโอบอุ้มยูอิจิไม่ให้ชีวิตของเขาร่วงหล่นไปมากกว่านี้
หนึ่งในประเด็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กๆ ที่มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของชีวิต หรือจะตามแต่ความประสงค์ของผู้ปกครอง ช่วงเวลาเหล่านั้นมันแสนเปราะบางและเร็วรวดอย่างยิ่ง การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครองหรือผู้ดูแล (ในที่นี้อาจเป็นครู พระ หรือใครก็ตาม) ต่างเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการเข้าใจหนุ่มสาวเหล่านี้
แต่หนังไม่ได้เล่าด้วยการบอกว่าคุณจะต้องดูแลพวกเขาแบบนั้นแบบนี้ กลับกัน หนังได้แสดงให้เห็นโลกที่พังทะลายของเด็กๆ และหนุ่มสาวที่ปราศจากการเอาใจใส่จากผู้ปกครอง จนเหลือเพียงความโกรธเกรี้ยว การกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดจากโลกที่คอยบีบรัดพวกเขา จึงไม่แปลกที่เมื่อพูดถึงครอบครัว ใบหน้าของหลายคนมักระเรื่อไปด้วยรอยยิ้มแห่งความเป็นเด็ก ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยกลับเปื้อนไปด้วยความโดดเดี่ยว คราบน้ำตา และเรื่องเลวทราม
เมื่อภาวะที่ว่านั้นเกิดขึ้น ความเป็นเด็กจึงสูญหายตามไปด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ในประเด็นนี้คือตัวละครอย่าง ซูซึเกะ โฮชิโนะ หลังประสบการณ์เฉียดทั้งสองครั้งที่เกิดขึ้นกับเขา อาจอนุมานได้ว่าเขาได้ค้นพบสัจธรรมอะไรบางอย่าง หรือรู้คุณค่าของการมีชีวิต เขาจึงเปลี่ยนไป แต่จริงแล้วๆ ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับทริปโอกินาว่า ครอบครัวของโฮชิโนะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัวล้มละลาย และเขากลายเป็นเด็กบ้านแตกอย่างสมบูรณ์
จริงอยู่ที่ภาวะเหล่านั้นไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำเลวๆ ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ต่างสร้างผลลัพธ์กับคนหนุ่มสาวไม่มากก็น้อย การเปลี่ยนแปลงตัวเอง หลบซ่อนความอ่อนแอ หรือแสดงออกถึงตัวตนที่ก้าวร้าวไม่แยแสต่อโลก จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่คอยประโลมคนหนุ่มสาวที่แตกสลาย ให้ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกร้ายๆ ใบนี้ได้
ซึ่งความบิดเบี้ยวบนเนื้อตัวของหนุ่มสาวที่นอกจะแสดงออกมาผ่านบทภาพยนตร์แล้ว อีกหนึ่งในส่วนที่มีรสชาติแปลกใหม่ และยากที่จะหาชิมจากหนังเรื่องอื่นคือ ภาษาของหนัง ซึ่งส่วนมากมันไม่ใช่การพูดคุยแบบปากต่อปาก แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบของกระทู้
หลังจากที่ยูอิจิเริ่มโดนรุมสกรัมโดยโฮชิโนะและสมุน สิ่งเดียวที่ยูอิจิหันไปหาแล้วเจอเสมอคือ ลิลิ ชู-ชู ศิลปินสาวผู้นำสารแห่งอีเธอร์ ถึงแม้เธอจะไม่รับรู้ว่ายูอิจิมีตัวตน แต่สำหรับยูอิจิแล้ว เธอเป็นสิ่งจริงแท้เสมอ ยูอิจิจึงสร้างเว็บกระทู้พูดคุยสำหรับคนรักลิลี่ ชู-ชูเท่านั้นขึ้นมา โดยใช้นามแฝงว่า ‘ฟีเลีย’ ซึ่งนอกจากกระทู้นั้นจะเป็นพื้นที่ของยูอิจิสำหรับสรรเสริญลิลี่ ชู-ชูแล้ว มันก็ประหนึ่งเป็นหลุมหลบภัยจากชีวิตจริงอันแสนเลวร้ายเขาด้วยเช่นกัน
ซึ่งกรรมวิธีที่อิวาอิใช้คือการนำ ข้อความ ตัดสลับกับภาพเหตุการณ์ในเรื่องที่เร็วช้าต่างกันไป หากอิงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คงเหมือนการดูหนังเงียบในยุค 20s ที่ในขณะนั้นการบันทึกเสียงยังไม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผู้สร้างสรรค์งานจึงใช้วิธีการคล้ายการใส่ คำบรรยาย (Subtitle) พร้อมฉากหลังสีดำตัดสลับกับประโยคที่ตัวละครกำลังพูดคุยกันอยู่ในฉากนั้น
แต่นั่นเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยของอุตสาหกรรม สิ่งที่ต่างออกไปใน All About Lily Chou-Chou คืออิวาอิเลือกที่จะประยุกต์กรรมวิธีแสดงความเห็นในปัจจุบัน (ในที่นี้คือการตั้งกระทู้) มาเป็นภาษาหลักของหนังเรื่องนี้ และสิ่งที่ทำให้ความรู้สึกที่มาในรูปกระทู้ถามตอบนั้นรุนแรงมาก คือมีบางส่วนที่มาจากความรู้สึกจริงของคนในสังคม (อิวาอิได้สร้างเว็บไซต์คล้ายกันนี้ขึ้นมาจริงๆ และได้เลือกบางส่วนในเว็บไซต์นั้นเข้ามาใส่ในหนัง) นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ความรู้สึกของผู้ชม ยึดโยงกับตัวละครในเรื่องได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ All About Lily Chou-Chou จึงเป็นหนังที่ไม่เก่าแม้จะผ่านมาเกือบ 19 ปี และยังคงรสชาติอันแปลกใหม่นั้นไว้ได้เช่นเดิม
อีกสิ่งนี้ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และเป็นส่วนที่ลงตัวมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ บทเพลงจาก Lily Chou-Chou ซึ่งประพันธ์โดย Takeshi Kobayashi และมี Salyu ศิลปินสาวหน้าใหม่มารับหน้าที่เป็นนักร้อง และเป็นแสดงเป็นลิลี่ ชู-ชู ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ผู้เขียนจะฟังและอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกแม้แต่นิดเดียว (สบถตามอนิเมะได้บ้าง) แต่กำแพงทางภาษาเหล่านั้นล้วนทลายสิ้น เพราะมวลอารมณ์ที่ทะลุผ่านบทเพลงนั้นรุนแรงเหลือเกิน จนผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเข้าใจในภาษา และความรู้สึกโกรธเกรี้ยว หรือเศร้าโศกนั้นล้วนเป็นสากล
และเป็นครั้งแรก (อีกครั้ง) ที่ผู้เขียนรู้สึกได้เลยว่า ดนตรีก็คือดนตรี
อีกหนึ่งประเด็นที่ต่อเนื่องกับการที่คนหนุ่มสาวขาดการถูกเอาใจใส่และที่พึ่งพิงคือ การหาพื้นที่ใหม่สำหรับตนเอง เมื่อการหมางเมินเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป การหาพื้นที่ใหม่คงเป็นสิ่งดีที่สุด ซึ่งภาวะที่ว่านี้เกิดขึ้นกับยูอิจิเช่นเดียวกัน เขาได้สร้างเว็บไซต์กระทู้และตัวตนใหม่ขึ้น (ฟีเลีย) และเว็บไซต์นั้นอาจสำหรับคนรักลิลี่ ชู-ชู หรือสำหรับตัวเขาเองก็สุดแล้วแต่ แต่สิ่งที่เราได้เห็นได้ชัดเจน คือไม่ได้มีเพียงฟีเลียที่สิ่งสถิตอยู่ภายในเว็บไซต์ ยังมีแมวสีฟ้า เพื่อนสนิทที่คอยชะล้างความเศร้าให้ หรืออาจมีกระทั่งพี่หมี พี่ซัลวาดอร์ พี่โรเจอร์ หรืออีกต่างๆ มากมายหลายร้อยคนที่ปรากฎกายขึ้น เพื่อแบ่งปันความรักความห่วงใยซึ่งกันและกัน
การปรากฎตัวของนามแฝงเหล่านี้ นัยหนึ่งก็นับว่าเป็นนิมิตรอันดีให้กับชีวิตที่เกือบพังทลาย แต่อีกนัยหนึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า และเป็นการย้ำชัดถึงการมีอยู่ของตัวตนที่ถูกปฏิเสธจากสังคม อย่างยูอิจิเองที่ในโลกความจริง เขาแทบจะไม่พูดอะไรออกมาสักอย่าง หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ เขาไม่รู้จะพูดอะไรมากกว่า อย่างเช่น ในฉากที่เขาโดนจับได้ว่าขโมยซีดีเพลงลิลี่ ชู-ชูจากร้านค้า และโดนเรียกผู้ปกครอง (แม่) มาคุยที่โรงเรียน แม้ตอนแรกแม่ของเขาจะไม่เชื่อ เพราะเชื่อว่าลูกเธอเป็นคนดี แต่เมื่อได้เห็นหลักฐานก็กระหน่ำทุบตียูอิจิไม่ยั้งมือ
หรือจะเป็นฉากหลังจากที่ โยโกะ คุโนะ (แสดงโดย Ayumi ito) เพื่อนร่วมชั้นของยูอิจิที่โดนสมุนของโฮชิโนะข่มขืน ซึ่งเรื่องราวรุนแรงถึงขั้นพูดกันทั่วทั้งห้องเรียน และทุกคนก็คิดว่าคุโนะจะไม่มาเรียนอีกแล้ว แต่เปล่าเลย คุโนะยังมาเรียนเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือเส้นผมที่ปลิวหายไปเหมือนขนนก และใบหน้าที่เปื้อนด้วยความเจ็บปวดเกินจะทน ซึ่งนั่นเป็นฉากที่ผิดปกติอย่างที่สุดแล้ว แต่เพื่อนร่วมชั้นหรือกระทั่งคุณครูยังเลือกที่จะสร้างกำแพงใจ ปล่อยให้อารมณ์ภายในของคุโนะเป็นปริศนาและไร้การเยียวยาต่อไป
หรือกระทั่งตัวละครอย่าง ชิโอริ ทสึดะ (แสดงโดย Yû Aoi) เพื่อนในห้องเรียนเดียวกับยูอิจิ ที่ถูกโฮชิโนะบังคับขายเรือนร่างให้ชายอื่น (Enjo kōsai) ซึ่งถ้าไม่ทำก็จะปล่อยรูปเปลือยของเธอ โดยในแต่ละครั้ง โฮชิโนะก็จะให้ยูอิจิเป็นคนดูแลเธอและพาเธอกลับบ้าน แม้ทสึดะจะดูเข้มแข็ง และเข้าใจกลไกของสังคมเพียงใด การถูกบังคับขายตัวมันยากและเลวร้ายเกินกว่าหัวใจจะรับไหว และในท้ายที่สุด เธอเลือกถามหาอิสรภาพของชีวิต แต่น่าเสียดายที่ปีกของเธอไม่สามารถโบยบินได้
พื้นที่ใหม่สำหรับหนุ่มสาวที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบสังคม ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นกระทู้ถามตอบ จะเป็นกลุ่มไลน์ หรือวงสนทนาจริง แต่มันต้องเป็นที่ๆ เราสามารถเปลือยจิตใจที่อ่อนแอออกมาได้ เป็นที่ๆ จะโอบอุ้มความแข็งแกร่งต่างๆ ไปพร้อมกัน หรือเป็นที่ๆ ตัวตนจริงแท้ของมนุษย์ ตัวตนอันบริสุทธิ์ที่ไร้ความดีเลว ได้พรั่งพรูออกมาให้สมกับชีวิต สังคมที่ว่าจะกลายเป็นสังคมที่โอบรับทุกความหลากหลาย เยียวยาทุกสกุณาที่หักลงและหลุดร่วง และกลายเป็นสิ่งจริงแท้ที่จับต้องได้
ซึ่งความจริงแล้วสังคมเราก็ยังไม่ได้เข้าใกล้ความเป็นพื้นที่ใหม่นั้นแม้แต่น้อย หากเทียบกับ All About Lily Chou-Chou ที่วางฉายตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเป็นหนังที่เผยฉากทัศน์ของสังคมของญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น แต่ในปัจจุบัน บ้านเราเองก็ยังเต็มไปด้วยข่าวเสียข่าวหาย ข่าวเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายเพราะเรียนหนัก ข่าวการคุกคามทางเพศ การฆ่าข่มขืนเด็ก หรืออะไรก็ตาม มองผ่านๆ ก็รู้ว่าสังคมมันไม่ได้พัฒนานัก
มีฉากหนึ่งที่ไร้กาลเวลาอย่างที่สุดสำหรับผู้เขียน คือฉากคอนเสิร์ตของ Lily Chou-Chou ในช่วงท้ายของเรื่อง ตามปกติของคอนเสิร์ตใหญ่ของทุกวง ก็จะมีการไปยืนรอประตูเวทีเปิดบ้าง บางคนก็ยืนต่อแถวรับบัตรคิว บางคนต่อแถวซื้อของที่ระลึกก็ว่ากันไป เมื่อเป็นโชว์ของศิลปินที่รัก การวมตัวกันของคนที่ชื่นชอบก็พาสร้างบทสนทนาขึ้นไม่ขาดสาย แต่แล้วปัญหาก็บังเกิดขึ้น เมื่อแฟนคลับท่านหนึ่งดันปากพล่อยพูดถึงวงเก่าที่ลิลี่ ชู-ชู เคยอยู่ และสรรเสริญวงนั้นอย่างสุดๆ (ลิลี่ ชู-ชูเคยอยู่วงที่ชื่อว่าฟีเลีย แต่จบกันไม่ดี เลยพลางทำให้แฟนคลับเกลียดวงฟีเลียไปด้วย) เมื่อแฟนคลับท่านอื่นได้ยินเช่นนั้นก็ควันออกหู ต่อล้อต่อเถียงกันลามไปถึงขั้นเกิดการรุมประชาทันฑ์
ฉากนี้พาให้ผู้เขียนนึกถึงวัฒนธรรมของการวิจารณ์ที่หดแคบลงอย่างมากในปัจจุบัน จริงอยู่ที่ผู้เขียนก็ไม่ได้คร่ำหวอดในวงการงานวิจารณ์เลยแม้แต่น้อย แต่เพียงแค่มองจากมุมคนนอก ก็สามารถเห็นภาวะหดแคบนั้นได้ชัดเจนทีเดียว หรือกระทั่งใช้ลักษณะของงานวิจารณ์ ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นเสมือนเขาผู้น้อยต้อยต่ำกว่าตนเองเหลือเกิน เราจึงจะได้ยินศัพท์คำว่า ทัวร์ลง บ่อยมากในปัจจุบันนี้ เพียงแค่พูดจาไม่เข้าหูหน่อยเดียว ท่านก็สามารถโดนแขวนเป็นปลาเค็มได้เลย ซึ่งหลายกรณีอาจเป็นเรื่องราวขำขัน แต่ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่ามันจะไม่ส่งผลดีในระยะยาว และอาจเลวร้ายถึงขั้นที่การวิเคราะห์ หรืองานวิจารณ์ที่ดีอาจสูญหายไปจากสารบบของเราได้เลย
ทั้งนี้ หากเรายกเทียบภาวะการสรรเสริญบูชาตัวบุคคลจนเกินพอดีในภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้ากับบริบทของสังคมไทย ก็ดูจะลงล็อคอย่างดีเลยทีเดียว ทั้งเรื่องการพูดจาไม่เข้าหู การเซนเซอร์ กระทั่งการใช้ความรุนแรงแบบไร้สาระนั้น หากในหนังมันทุเรศเพียงใด ความเป็นจริงก็ทุเรศเพียงนั้น ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าวัฒนธรรมป่าเถื่อนเหล่านั้นจะหายไปโดยไว และเป็นเพื่อนมนุษย์กันเสียที
ท้ายนี้ เมื่อเพลงสุดท้ายของลิลี่ ชู-ชู ในภาพยนตร์เรื่อง All About Lily Chou-Chou จางลง ผู้เขียนก็ยังไม่อาจทราบได้ว่าสารแห่งอีเธอร์ที่ว่านั้นคืออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดอย่างที่สุด คือ การพยายามค้นหาตัวตนของคนหนุ่มสาว ที่มีทั้งเรื่องที่สูงส่งเทียมฟ้า กระทั่งเลวทรามเคียงดิน
ร่างเปลือยเปล่าของมนุษย์นั้นไม่มีสิ่งใดอยู่ภายใน และช่วงเวลาหนึ่งก็เหมือนเป็นกระดาษเปล่าที่รอวันเวลาถูกขีดเขียนลงไป หากต้องการให้ร่างเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาอย่างงดงาม เราควรบรรจงเขียนถ้อยความอย่างใจเย็น หรืออย่างดีที่สุด เพียงแค่จัดโต๊ะ เตรียมปากกา และแวดล้อมรอบๆ เมื่อถึงเวลาที่ดีของการเติบโต ก็จงปล่อยให้เขาได้ขีดเขียนร่างกายนั้นด้วยตนเอง
อย่างไรเสีย ในฉากสุดท้ายของการเดินทาง คงมีหลายคนยืนทะนงองอาจท่ามกลางชัยชนะ แต่ก็มีหลายคนศิโรราบให้กับการสูญเสียและความตาย
และสักวันหนึ่งการเยียวยานั้นจะต้องเกิดขึ้น