ช่วงที่ RS สร้างทีม IAM เรื่องอะไรที่คู่แข่งอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะต้องยอม?
เมื่อ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ (หรือ อินเด็กซ์ อีเว้นท์ เอเจนซี่ ในเวลานั้น)” ถูกแกรมมี่เข้าซื้อหุ้นราวครึ่งหนึ่ง “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” เจ้าของอาณาจักรอินเด็กซ์ จึงได้รับโอกาสปั้นทีม “อราทิสต์” ให้แกรมมี่
ในปี 2548 ณ ช่วงเวลาเดียวกันกับช่วงที่ “อาร์เอสฯ” ปั้นทีม IAM (Image & Asset Management) อย่างหนักหน่วง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ในเวลานั้นสวมบทบาท “นักช้อปชั้นดี” ในวงการบันเทิง ที่ขยันซื้อธุรกิจเข้าพอร์ตแบบ NON-STOP และขยันแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ ในเดือนเมษายน จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ที่ตอนนั้นถูก SPIN-OFF เข้าไปจดใน ตลท. อยู่ช่วงหนึ่ง ก็เข้าไปถือหุ้นในอินเด็กซ์กว่าครึ่งหนึ่ง ร่วมกับกลุ่มของ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ผู้สร้างอาณาจักรอีเวนต์สุดอลังการ (ปัจจุบันแกรมมี่ฯ ไมไ่ด้มีหุ้นใน INDEX แล้ว)
1 ในงานที่แกรมมี่มอบหมายให้เกรียงไกรช่วยปลุกปั้น ก็คือการตั้งธุรกิจบริหารจัดการศิลปินใหม่ นามว่า “อราทิสต์ (A-RA-TIST)” เพราะแกรมมี่ก็คิดในทางที่ว่า หากยังมัวแต่ขายเพลงต่อไป ไม่คิดจะขายตัวตนของศิลปินร่วมด้วย ก็มีหวังจะแพ้แผ่นผีราบคาบ…และยิ่งในตอนนั้นแกรมมี่ยังค่อนข้างที่จะตามหลังอาร์เอสในเรื่องของธุรกิจดิจิทัลอยู่พอสมควร แม้จะเคลื่อนตัวก่อนด้วยการจัดตั้งเว็บ eotoday แต่ด้วยการบริการที่ไม่ค่อยจะคล่องตัว สุดท้าย ปี 2547 เว็บไซต์นี้ ก็ต้องรวบเข้ามาอยู่ในเว็บไซต์หลักของแกรมมี่…
เกรียงไกรกล่าวกับเว็บไซต์ของนิตยสาร POSITIONING Magazine เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ว่า “มีแนวโน้มที่คนยังใช้เงินไปกับกิจกรรมด้านบันเทิงมากขึ้น และทุกธุรกิจก็พยายามเอาคนบันเทิงมาใช้สร้างสีสันในกิจกรรม โดยเฉพาะเวลาช่วงเศรษฐกิจแย่”
แล้วทำไมอราทิสต์ ถึงมาปั้นนางแบบได้ละ!?
ต้องยกความดีความชอบของไอเดีย “Fashion TV เมืองไทย” ให้แก่ “วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” หรือนิค ที่ตอนนั้นยังอยู่กับแกรมมี่นั้นมาปิ๊งไอเดียนี้ได้ จึงจัดตั้งค่าย “Club F (คลับ เอฟ)” ขึ้นมา โดยไม่รีรอที่จะชักชวน “ลูกเกด (เมทินี กิ่งโพยม)” นางแบบตัวท็อปของไทย ณ เวลานั้น มารับบท Executive Consultant คอยให้คำปรึกษา และคุมคุณภาพการเลือกโมเดลเข้าสังกัด ซึ่งไม่ใช่แค่นางแบบ แต่ยังรวมไปถึงคนในวงการใกล้เคียงอย่างดีไซเนอร์ ช่างทำผม หรือแม้แต่ช่างภาพ…
นิคกล่าวกับนิตยสารผู้จัดการ เดือนพฤศจิกายน 2546 ว่า “มันเป็นไอเดียของผมมาก่อนเห็น ftv ว่าน่าจะมีช่องของแฟชั่นทั้งวันทั้งคืนเพราะหลาย ๆ ปีก่อน ตอนที่ดูคุณสมชาย นิลวรรณ (อดีตพี่เลี้ยงนางงาม – ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) จัดรายการพวกนี้ก็มีคนดูและมีสปอนเซอร์จริงๆ แล้วคำว่า Asset เราไม่ได้เล่นแค่นางแบบ แต่มันครอบคลุม ไปกว้างมากถึงดีไซเนอร์, เมกอัพ อาร์ทติสท์, ช่างทำผม และอะไรต่างๆ เหล่านี้มันเป็น value และ win-win marketing ทั้งวงการ”
แม้ตอนนั้นทีวีดาวเทียมยังไม่ได้ Open สักเท่าไหร่ แต่แกรมมี่ก็เลือกทำ Magazine on VCD สวย ๆ เกี่ยวกับนางแบบ ตามคำแนะนำของ “คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา” หรือพี่แอร์ ผู้ปลุกปั้นนิตยสาร IMAGE ที่เห็นโอกาสนี้เมื่อครั้งที่ลูกเกดออกหนังสือ Metinee’s Secret ว่าน่าจะลองทำวีซีดีดูสักตั้ง และเมื่อลูกเกดพบกับคุณเล็ก (บุษบา ดาวเรือง) คุณเล็กก็นำไปเสนออากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) และอากู๋ก็เป็นฝ่ายแนะนำและคิดกับนิคว่าจะทำอะไรดี? สุดท้าย ลูกเกดจึงคิดว่าน่าจะลองทำวีซีดี ในเนื้อหาแบบที่เธอถนัดจะดีกว่า คือ นางแบบ ซึ่งนอกจากลูกเกดแล้ว ยังมีนางแบบอีก 3 – 4 คนได้รับโอกาสโลดแล่นบน Magazine on VCD รวมถึง “แอนนี่ บรู๊ค (รุ่งนภา แก้วไทรหาญ)” ในช่วงเวลาก่อนที่เธอจะเป็นที่รู้จักอีกครั้งจากเรื่องที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่นัก…
นอกจากนี้ Club F ยังมีศิลปินวง Foxy ที่เริ่มต้นจากการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้ทีมฟุตบอลของแกรมมี่่ฯ
[Fun Fact : อนึ่ง แอริน ยุกตะทัต กล่าวถึงที่มาในการเข้าเป็นสมาชิกวง FOXY ในคลิป Reaction ผลงานในวงการบันเทิงของเธอ กับ เบญจ เบญจรงคกุล สามีของเธอว่า “ตำแหน่งของเธอ คือตำแหน่งที่มาแทนที่สมาชิกอีกคนในวง” แต่ว่ามีการถ่ายตัวเอ็มวีกันไปแล้ว ฟุตเทจของแอริน จึงต้องถ่ายแยก โดยเธอนั้นเล่าว่าตอนที่ถ่ายทำฟุตเทจแยกของเธอนั้น ฟุตเทจนั้นถ่ายกันในห้องธรรมดา โดยที่เธอยืนบนโซฟา และเบื้องหลังของแสงไฟที่ส่องไปที่หน้าของแอรินนั้น เกิดจากการที่ทีมงานถือไฟฉายในมือส่องไปที่หน้าของแอริน]
และนอกจากนั้นแล้วก็ยังมี “จี-จูเนียร์ (G-Junior)” กลุ่มศิลปินฝึกหัดรุ่นเล็ก ที่ต่อมาได้ไปเดบิวต์กันในฐานะศิลปินดังของยุค 2000 มาแล้วมากมาย ทั้ง กอล์ฟ – ไมค์ (พิชญะ – พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล) ไอดอลวัยรุ่นสุดฮิตจากฝั่งแกรมมี่ , ชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน) ที่เปิดมาก็โด่งดังกับเพลง “ปากไม่ตรงกับใจ” หลังเคยเดบิวต์ในนามสมาชิกวง BIG4, แพรว (หัสสยา อิสริยะเสรีกุล) ที่ปัจจุบันยังคงมีผลงานแสดง และงานพิธีการให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ, ตีน่า (พิมพ์นารา ไรท์) เจ้าของเพลง “วีน” ที่ “เจ๊โฉม” จาก “เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร” เคยเอาไปร้องล้อจนแทบจำต้นฉบับไม่ได้ และอีกมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกับ “สถาบันสอนดนตรีมีฟ้า” ซึ่งปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้ ถูกรวมเข้ากับ BLKGEM (บจก. แบล็คเจ็ม) ที่มี Purpose แบบเดียวกัน รวมถึงต้องให้เครดิตครูอู๋ (เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี) ในยุคที่ D-Dance Thailand ยังคงอยู่ในตึกแกรมมี่
และเมื่อมีการจัดทัพใหม่ ทั้ง คลับเอฟ – จีจูเนียร์ และรวมถึง GMM ARTIST MANAGEMENT ก็ถูกรวมเข้ามาอยู่ใน A-RA-TIST ทำให้อราทิสต์ มีศิลปินมากหน้าหลายตา ตั้งแต่นักร้องแกรมมี่ – นักแสดง GTH – นักแสดงเอ็กแซ็กท์ฯ – นายแบบ/นางแบบดัง – ดีเจเอไทม์ ครบแบบจุก ๆ แถมยังพ่วงด้วยสกิลกิจกรรมกีฬา ที่อราทิสต์แตกเซกเมนต์ Sport Entertainment Marketing แถมไม่ได้เล่นแค่ฟุตบอลแบบอาร์เอส เพราะมีทั้งทีมฟุตบอล G Man – โบว์ลิ่ง – บาสเกตบอล และแบดมินตัน
แม้ A-RA-TIST จะอยู่นานกว่า IAM ของอาร์เอสก็จริง แต่สุดท้ายแล้ว…เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ขยายองค์กร แนวคิด “ต่างค่าย ต่างทำ” ก็ค่อย ๆ ชัด
เมื่อแกรมมี่แยกธุรกิจสื่อทั้งหมดไปยัง ONEE ช่องวันเองก็มีทั้งบริษัท เอ็กแซ็กท์ – ซีเนริโอ (ที่ตั้งใหม่โดยเอาชื่อ 2 บริษัทนี้มารวมกัน) ที่ทำหน้าที่ดูแลศิลปินของช่องวัน31 – จีเอ็มเอ็มทีวึ ก็มีศิลปินในสังกัดตัวเอง และเช้นจ์ 2561 ก็มีศิลปินในสังกัดของตนอีก รวมถึง OPEN LABEL ที่เน้นดูแลศิลปินกลุ่มไอดอลของช่องวันฯ (รวมถึง GMM X ONE ที่เน้นปั้นศิลปินที่อยู่กึ่งกลางระหว่างศิลปินของ GMM MUSIC และศิลปินของช่องวันฯ)
เมื่อแกรมมี่โยกธุรกิจสื่อทั้งหมดไปยัง ONEE ศิลปินกลุ่มนี้ก็ล้วนต้องถูกแยกไปยัง ONEE ส่วน GDH (หรือ GTH เดิม) ก่อนหน้านั้นก็มี “นาดาว บางกอก” ที่หลังจากยุบไปในช่วงปี 2565 ปัจจุบันก็ไปในทางที่หลาย ๆ คนใน GDH ก็ดูแลกันเอง
แม้จะออกมาในเชิงต่างคนต่างทำ แต่อราทิสต์ก็ยังคงมีการดูแลศิลปินที่เป็นนักร้องของแกรมมี่เช่นเดิม
ปัจจุบัน A-RA-TIST นั้นในเว็บไซต์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังคงระบุอราทิสต์ว่าเป็นชื่อแผนกบริหารศิลปินของแกรมมี่ฯ อยู่ ส่วนในเว็บไซต์ของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (GMM) ซึ่งแยกธุรกิจเพลงออกมาจากตัวของ GRAMMY โดยที่ GRAMMY ยังคงถือหุ้นใหญ่ จะระบุเพียงแค่เป็นธุรกิจบริหารศิลปินของ GMM MUSIC ที่ไม่ได้มีชื่อแผนกชัดเจน
อ้างอิง
- http://goto.thestarto.com:780/news/details.aspx?id=32096
- http://goto.thestarto.com:780/news/details.aspx?id=10402
- https://positioningmag.com/8094
- http://goto.thestarto.com:780/news/details.aspx?id=9728
- https://web.archive.org/web/20071011200150/http://aratist.com/?module=profiles&action=clubf
- https://youtu.be/FuxMQbxlGko?si=sIwqbBmyaSbrmhlB
- https://positioningmag.com/33782
- แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) และร่างหนังสือชี้ชวน ของ บมจ. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ซึ่งได้ยื่นแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- https://www.gmmgrammy.com/th/music-business.php
- https://www.gmmmusic.com/th/business.php#artistmanagement