มันเป็นค่ำคืนหนึ่งในช่วงฤดูฝนที่ผมนอนไม่หลับ
หลังจากพลิกตัวไปมาหลายครั้งบนที่นอน ไม่รู้เหมือนกันว่าอะไรดลจิตบันดาลใจให้ตัวเองต้องการเรื่องผีเรื่องลี้ลับเป็นตัวขับกล่อมให้ผ่านพ้นคืนนี้
หลังจากถ่างตาไถ Spotify ในความมืดได้สักพักผมก็สะดุดตาเข้ากับช่อง ๆ หนึ่งที่มีชื่อประหลาดแต่ก็จำง่ายอย่างช่อง “พระเจอผี” ที่แค่ชื่อก็บ่งบอกเรื่องที่เล่าได้พอประมาณแล้วว่าเกี่ยวกับอะไร แถม “พี่บี” ผู้จัดรายการก็เล่าด้วยน้ำเสียงหวานหูขัดกับความน่ากลัวของเรื่องที่เล่าและซาวน์ประกอบชวนหลอน
คืนนั้นผมเลยนอนหลับสนิทไปได้แบบงง ๆ
“จริง ๆ ช่องพี่ไม่ได้มีแต่เรื่องผีนะ พี่เอาวรรณกรรมมาเล่าบน Youtube ด้วย” พี่บี หรือชื่อจริงคือ ฐกร เชียงน้อย เล่าให้ฟังผ่านน้ำเสียงที่คุ้นเคย
ด้วยความที่ผมพยายามค้นหาว่ามีใครเคยสัมภาษณ์พี่เขาแล้วบ้างแต่ก็ไม่เจอเลย เลยขอติ๊ต่างว่าบทสัมภาษณ์นี้เป็นการแนะนำทุกคนให้รู้จักกับพี่เขาก็แล้วกันนะครับ
พี่บีแนะนำตัวเองหน่อยครับว่าเป็นใครมาจากไหน?
“บีก็เป็นคนธรรมดา ๆ นี่แหละ เป็นเด็กบ้านนอกจากยโสธร เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นผู้ประกาศวิทยุหลักของต่างจังหวัด ตอนอยู่ยโสธร ก็ทำงานที่ ตชด. 105 MHZ. ตอนอยู่ร้อยเอ็ดก็วิทยุตำรวจภูธรภาค 4 และก็ไปอยู่นครพนมคือวิทยุกองทัพภาคที่ 2 จากนั้นพี่ก็ไปร้องเพลงกับหลวงไก่ อาร์สยาม”
เอ้า เหรอพี่?
“ใช่ ชีวิตพี่เรียกว่ามีอะไรที่ไม่เคยทำบ้างดีกว่า รปภ. เด็กบิ๊กซี เด็กโลตัส โอ้ยทำมาหมดแล้ว (หัวเราะ) แต่พี่ชอบอาชีพนักจัดรายการที่สุด งานแรกในชีวิตของพี่คือเป็นผู้ประกาศของสถานีวิทยุชุมชน” พี่บีเริ่มเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองมาทำงานด้านนี้
“ช่วงนั้นน่าจะประมาณปี 2549 มั้ง มันเริ่มจากการที่พี่โทรไปขอเพลงในรายการวิทยุนี่แหละ ผู้จัดเขาบอกว่าเราเสียงดีเลยถามว่ามาจัดรายการมั้ย เราก็แบบอุ้ยตาย! จริงหรอ? แล้วก็ขับมอเตอร์ไซค์พัง ๆ ไปสถานี ตอนแรกเขาก็ตกใจตอนเห็นเรานะ เพราะตอนนั้นพี่เป็นเด็กตัวดำ ๆ อ้วน ๆ ขัดกับเสียงพูด แล้วพี่ก็ได้ไปจัดรายการกับเขา
ตอนนั้นพี่เรียนจบแค่ป.6 เพราะพี่เป็นลูกชาวนา คิดว่าต้องทำนาตามพ่อแม่เลยรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะเรียนต่อ แต่ด้วยความที่พี่ชอบทำงานเกี่ยวกับเสียงเลยรู้สึกว่าเราต้องเรียนเพิ่มก็เลยใช้เวลาไปสี่ปีในการเรียนกศน.จนจบม.6 และใช้วุฒิเป็นใบเบิกทาง พี่เริ่มสอบจนได้ใบผู้ประกาศ แล้วก็ได้ขึ้นมาอยู่วิทยุหลักผ่านการชักชวนจากดีเจที่นั่นอีกทีหนึ่ง”
พอผมได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกว่าชีวิตของพี่บีก็ดูเข้าที่เข้าทางแล้วนี่ แล้วเหตุใดกันที่ทำให้พี่บีต้องเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ เมืองที่หวงความเจริญทุกอย่างไว้?
“ตอนนั้นมันมีรัฐประหารน่ะ ครั้งล่าสุดนี่แหละ พี่จัดรายการอยู่ที่อุดรฯ พอมีรัฐประหารวิทยุเลยเข้าสู่ช่วงเปิด ๆ ปิด ๆ ซึ่งสถานีเนี่ยมันอยู่ได้เพราะสปอนเซอร์ ในเมื่อออกอากาศไม่ได้แต่ค่าเช่าเวลายังต้องจ่ายสถานีมันก็เลยอยู่ในสภาพจะล้มแหล่มิล้มแหล่ เขาเลยมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับคนที่อยากออก พี่เลยลาออกแล้วมาที่กรุงเทพฯ เพราะเห็นว่ามันเป็นแหล่งทำมาหากินของคนทุกภาค ต่อให้เราไม่ได้ทำงานที่เงินเดือนสูงมันก็ยังมีงานอื่นที่รับคนเข้าไปทำง่าย
พอมาอยู่กรุงเทพฯ พี่ก็ทำหลายอาชีพอย่างที่บอกนั่นแหละ จนพี่ได้มาอยู่ Spring Radio (FM 98.5 MHz) แต่เป็นงานในห้องควบคุมนะ ก่อนที่พี่จะโดนเลย์ออฟแล้วไปสมัครงานที่วิทยุดาวเทียมเจ้าหนึ่งแต่ก็ยังไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าว จนพี่ได้รับการแนะนำจากคน ๆ หนึ่งให้ลองเปิดช่องจัดรายการบน Youtube ดู เขาบอกว่ามันทำเงินได้ดีพี่ก็เลยลองทำ ถึงตอนนั้นจะไม่ได้ทำงานใช้เสียงมาเกือบ ๆ สามปีแล้วก็ตาม”
ในช่วงแรกพี่ทำคอนเทนต์แบบไหนครับ?
“ช่วงแรกพี่ไม่มีความรู้อะไรหรอก ก็ไปหยิบเอาหนังสือธรรมะมาอ่านเป็นนิทานแต่มันก็ไม่บูม จนมีอยู่วันหนึ่งไปเจอเรื่องของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าที่ท่านไปเจอผีสมภารหวงกุฏิ ก็เลยเอามาอ่านปรากฏว่าแค่เรื่องนั้นเรื่องเดียวทะลุไปเป็นแสนกว่าวิว และยอดผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นก็เลยคิดได้ว่าคนชอบฟังเรื่องผีนี่หว่า แล้วต้องเป็นเรื่องของพระด้วยนะ จึงเป็นที่มาของชื่อช่อง ‘พระเจอผี’ ”
แล้วชื่อเก่าชื่ออะไรเหรอครับ?
“ชื่อ ‘ลูกธรรม’ … แบบโอ้โห! พูดชื่อแล้วขนลุก ไม่ได้จะบูลลี่ตัวเองนะแต่ชื่อมันบ้านนอกมาก (หัวเราะ) เหมือนย้อนไป 40-50 ปีก่อน เราฟังวิทยุจากคลื่นของวัดป่าไรงี้ พอเปลี่ยนชื่อช่องก็เหมือนเปลี่ยนตีมรีแบรนด์ไปเลย ไม่ต้องสงต้องสอนเรื่องธรรมแล้ว เจอผีอย่างเดียวเลยหลวงพ่อ!
พอทำช่องไปเรื่อย ๆ ก็มาคิดว่ากลุ่มคนฟังเขาน่าจะมีความชอบอย่างอื่นนอกจากเรื่องพระที่ไปเจอผีด้วย บางคนอาจจะชอบวรรณกรรมบ้าง เรื่องเล่าจากทางบ้านบ้าง เราเลยเล่าแบบหลากหลายไปเลยละกัน ‘พระเจอผี’ มันเป็นแค่ชื่อช่อง มันไม่ได้หมายความว่าจะมีแต่เรื่องพระที่เจอผีอย่างเดียว ไม่งั้นมันจะเอียนแย่”
พี่จัดรายการแนวเล่าเรื่อง แสดงว่าเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมากเลยใช่มั้ยครับ?
“ไม่เลย ตอนเด็กไม่ชอบอ่านหนังสือเลยสักนิด พี่เพิ่งมารู้จักวรรณกรรมแต่ละเล่ม นักเขียนแต่ละท่านก็ตอนที่ได้คุยกันเพื่อขอลิขสิทธิ์หนังสือเขามาเล่านี่แหละ
ถ้าถามว่าพี่ชอบอ่านหนังสือมั้ย? พี่ขอตอบว่าพี่รักการใช้เสียงมันเลยมีความจำเป็นต้องอ่าน แต่ไม่ใช่ว่าพี่ไม่รักหนังสือนะ พี่มองว่าหนังสือที่เราอ่านคือผู้มีพระคุณของเรา” พี่บีบอกว่าบ้านที่ยโสธรก็มีลังหนังสือใบใหญ่แบบในห้องอยู่อีกสี่-ห้าลัง
“ตอนนี้ก็จัดรายการมาได้ห้าปีแล้วต้องอ่านทุกวัน คิดว่ามันต้องเยอะมั้ยล่ะ (หัวเราะ)”
พี่บีคัดเรื่องที่นำมาเล่ายังไงครับ?
“พี่จะเลือกอะไรที่มันตรงกับพี่ เพราะพี่คิดว่าในจุดนี้คนอยู่ในช่วงโหยหากับอะไรที่มันเป็นอดีต อะไรที่ยุคนี้มันไม่มีแล้ว ส่วนประเภทที่พี่เลือกก็จะเป็นแนวผจญภัย ยิ่งเรื่องเป็นเรื่องในป่านี่ยิ่งชอบเลย แนวผี อย่างที่สามก็แนวดราม่าซึ่งพี่ก็จะดูอีกว่ามันเป็นดราม่าแบบไหน ดราม่าแบบชีวิตบ้านนอกหรือชีวิตในเมือง แต่ถ้าเลือกไม่ได้พี่ก็ซาวเสียงจากคนฟัง
แน่นอนว่าคนฟังวรรณกรรมจะน้อยกว่าคนฟังเรื่องผีแต่เราทำเพื่อรักษาฐาน เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมไทยเอาไว้ งานฝีมือระดับครูมีเยอะมากนะแต่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่การเอาวรรณกรรมมาเล่ามันก็มีปัญหาเหมือนกันคือการขอลิขสิทธิ์ บางเรื่องก็ขอยากและมีมูลค่าลิขสิทธิ์ค่อนข้างสูง ซึ่งเราสู้ไม่ไหวก็จำต้องปล่อยไป”
เล่าให้ฟังถึงวรรณกรรมเรื่องแรกที่นำมาเล่าหน่อยครับพี่
“แรกเริ่มเลยคือพี่ไปเจอวรรณกรรมของครูเหม เวชกร พี่รู้สึกว่าเรื่องของแกมันเป็นเรื่องเล่าที่อมตะและอ่านไปแล้วจินตนาการตามได้เพราะแกจะใช้สถานที่จริงในการสร้างพล็อตขึ้นมา บางเรื่องนี่อ่านไปร้องไห้ไปก็มีจริง ๆ อย่างบท ‘รำเพยจะเป็นของคุณทุก ๆ ชาติ’ เนี่ยพี่อ่านแล้วร้องไห้เลยนะ ตอนอัดนี่อ่านไปร้องไห้ไปอยู่หลายนาที จนต้องตัดช่วงเดดแอร์ตรงนั้นทิ้งไป
อันดับต่อมาที่ทำให้พี่ร้องไห้คือ ‘ทุ่งกุลาอาถรรพ์’ กับเรื่อง ‘ลูกลำน้ำโขง’ ของคุณคำพูน บุญทวีเพราะว่ามันเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของคนอีสาน คนลาวที่ต้องทำมาหากินอยู่ริมแม่น้ำโขงว่าเขาต้องปากกัดตีนถีบ ต้องเจออะไรบ้าง ด้วยความที่เป็นคนแถบนั้นเลยสามารถสัมผัสได้ว่ารุ่นปู่ย่าตายายเราเขาลำบากยังไง เขาสู้กันขนาดไหนอะไรอย่างนี้”
พอถามว่าตัวพี่บีเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องลี้ลั้บบ้างมั้ย
พี่บีเล่าให้ฟังว่าตัวเองเคยมีประสบการณ์เจอเสียงประหลาดตอนขับรถไปเที่ยวกับแฟนที่อุทยานแห่งหนึ่ง ซึ่งก็บังเอิญดูเข้ากับสโลแกน “มองไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี” ของช่องดี
“พี่กับแฟนก็มาคุยกันหลังจากออกอุทยานนะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ก็หาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายก็หาเหตุผลให้มันไม่ได้เลยลงความเห็นว่ามันต้องเป็นผีเท่านั้น พี่เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้พ่อให้พระอาจารย์ที่พี่เคารพฟังท่านก็บอกว่า ถ้ามาในลักษณะนั้นมันน่าจะเป็นอสูรกาย เพราะมันสามารถจำแลงเป็นอะไรก็ได้ หรือจะไม่จำแลง มาแต่เสียงให้น่ากลัว อะไรอย่างนี้
มันก็ไม่ใช่ผีแบบโบ๊ะบ๊ะอ่ะนะ ตัวพี่เองก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเจอผีแบบนั้นเราจะมีความรู้สึกยังไง”
ไหน ๆ พี่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์แล้ว ขอถามความเห็นหน่อยแล้วกันว่าทำไมยุคนี้แล้วคนถึงยังชอบฟังเรื่องแนวนี้อยู่?
“พี่ว่าเรื่องผีมันเป็นเรื่องอมตะ ถึงคนสมัยนี้จะไม่มีความเชื่อแต่เขาก็ฟังในด้านความบันเทิง ฟังเพราะเอาสนุก แต่อย่างน้อย ๆ มันก็ดีนะถ้าเขาฟังแล้วคิดตามและใช้หลักเหตุผลประกอบว่าเรื่องพวกนี้มันมีความจริงอยู่แค่ไหน
แต่ก็นั่นแหละ เราก็ต้องไม่ลืมว่าทุก ๆ คนย่อมมีความเชื่อส่วนบุคคล ตราบใดที่คนยังมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ยังมีความศรัทธา เรื่องผีก็จะไม่หายไปไหนแน่นอน ให้คนเป็นหุ่นยนต์ก่อน ให้คนไม่มีจิตใจก่อนเมื่อนั้นแหละที่จะไม่มีผี”
พี่ทำยังไงให้ช่องของตัวเองโดดเด่นกว่าช่องอื่น?
“จริง ๆ พี่ไม่ได้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับช่องอื่นนะ พี่เคยเดินมาแบบไหน พี่ก็เดินมาแบบนั้น อาจจะเพิ่มเส้นทางการเดินของตัวเองมากขึ้นเพื่อที่จะให้คนที่เสพช่องเราได้รับความหลากหลายมากยิ่งขึ้นแต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ปรับเปลี่ยนนะ พี่ก็รับฟังทุกอย่างที่เขาคอมเมนต์ เอามาปฏิบัติตามหมด แต่ถ้ามันไม่สำเร็จพี่ก็ยุติ จะไม่รั้น ไม่ฝืน นี่คือการบ้านที่พี่ต้องทำ”
ในฐานะที่พี่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ พี่ได้รับ feedback ยังไงบ้างตอนเปิดเผยหน้าตาตัวเอง?
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันก็รู้สึกเฟลนะ เคยมีคนเอาของฝากมาให้ตอนพี่จัดรายการ สมัยก่อนเนี่ยต่างจังหวัดเวลาเขาชอบใครคือเขาเหมารถกันมาหาเลยนะ ตอนนั้นพี่ก็ลนลานจัดรายการไปรอรับเขาไป ปรากฏว่าพอมาพี่เดินมารับ แนะนำตัวว่าเราคือดีเจบี เราคือเจ้าของเสียงนี้นะซึ่งเขาคิดว่าเราเป็นผู้หญิง คนประมาณหก-เจ็ดคนที่มาหาก็พากันอึ้งไปเลย ตอนนั้นเป็นจังหวะเพลงจบพอดีพี่เลยขอตัวกลับไปห้องจัดช่วงคราว พี่ก็เห็นเขายืนดูเราผ่านกระจกห้องอัดอยู่ แต่พอเปิดเพลงเสร็จพี่เดินออกมาพวกเขาก็ไม่อยู่แล้ว ของฝากก็ไม่ได้
ตั้งแต่นั้นมาพี่เลยไม่เปิดเผยตัวเลย มีแต่เสียงอย่างเดียว ที่เป็นแบบนั้นเพราะเรารู้สึกว่าเราด้อยที่พี่เป็นเกย์ พี่เป็นตุ๊ด มันเป็นปมด้อยและเป็นความกลัวสำหรับพี่”
“เหมือนพ่อพี่แต่ก่อน เชื่อว่าพวกกะเทย เกย์ คือพวกคนบาป คือพวกผิดเพศผิดธรรมชาติ แต่โชคดีหน่อยที่พ่อพี่ค่อย ๆ เปิดใจเพราะแม่พี่เสีย แม่พี่สนิทกับพี่มากเวลามีปัญหาอะไรกับพ่อเราจะเข้าทางแม่ตลอด
หลังจากแม่เสียพี่ก็พึ่งพาตัวเองมาโดยตลอด พอไม่มีแม่พ่อก็ไม่มีใครคุยด้วยเขาเลยต้องมาตะล่อม ๆ เรา กลายเป็นว่าทุกวันนี้ห่วงพ่อมากกว่าห่วงตัวเองอีกนะ พี่ไม่เกลียดพ่อตัวเองที่เขาคิดแบบนั้นเพราะมันก็ไม่ได้ผิด มันเป็นความรู้สึกผิดหวังของคนที่เป็นพ่อที่เขาคาดหวัง อะไรที่ไม่ได้ดังหวังมันก็จะผิดหวังและรู้สึกไม่ดีต่อสิ่งนั้น… แต่พี่ก็ไม่ใช่คนบ่อน้ำตาตื้นที่จะมาเสียน้ำตาให้กับชีวิตตัวเองนะ เราจะเสียน้ำตาให้กับวรรณกรรมเท่านั้น! (หัวเราะ) เสียน้ำตาจนต้องไปถวายสังฆทานให้ครูเหมอ่ะ… ครูนะครู”
“พอพี่มาทำช่องใน Youtube มันหลอกตัวเองไม่ได้นะในยุคนี้ จะมาหลอกว่าเป็นผู้หญิงไม่ได้ก็เลยเปิดหน้าไปเลย รับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะพี่ทำใจไว้แล้ว ถ้าเขารับไม่ได้ ยอดฟอลจะลดมันก็คงแค่เหมือนหก-เจ็ดคนที่เขาเอาของมาฝากเรา ซึ่งมันก็มีนะคนที่มาพูดแนวผิดหวังมาก ‘โธ่… คุณบีหลอกผม’ เราก็งงว่าหวังอะไร? หวังว่าฉันจะเป็นอะไร? เราก็บอกตลอดว่าเราคือบีนะ บีคือบี
พี่มองว่าเขาเห็นแก่ตัวเพียงเพื่อที่จะให้ตัวเองมีความสุขจากสิ่งที่คนอื่นเขาเป็น แล้วบังคับให้คนอื่นเขาเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่เราก็ไม่ได้ไปว่าเขานะเพราะมันก็สิทธิ์ของเขาที่จะเห็นแก่ตัว และมันก็เป็นสิทธิ์ของเราด้วยที่เราจะไม่ไปโต้ตอบ เราก็ทำใจนิ่ง ๆ แล้วก็ตอบว่า ‘ค่ะ’ มันก็เป็นเรื่องในอดีตเรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ปล่อยมันไป”
เราสามารถติดตามช่อง “พระเจอผี” ได้จากช่องทางไหนบ้าง?
“ตอนนี้งานหลัก ๆ คือ ช่อง ‘พระเจอผี’ ใน Youtube ที่ลงคอนเทนต์ทุกวันเวลาหนึ่งทุ่ม แล้วก็จะมีพวกกิจกรรมพากันไปทำบุญบ้าง… ก็ฝากกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ ถ้าไม่ติดตามก็รบกวนดูโฆษณาให้จบหน่อย ห้าวิก็ยังดีค่ะ(หัวเราะ) หรือจะติดตามผ่านพอดแคสต์เช่น Spotify, Apple Podcasts, Google Podcasts ส่วนใน Facebook แฟนเพจก็เสิร์ชว่าพระเจอผี ก็เจอเลย ฝากไว้ด้วยนะคะ