fbpx

เคยเห็นมีม The Face Thailand ที่ทุกวันนี้ยังอยู่ในความทรงจำกันได้หรือไม่? วันนี้ “นักการตลาดล่าง” ในฐานะหนึ่งในทีมคอนเทนต์ออนไลน์ที่เคยทำให้รายการนี้ มาเปิด Twitter Space แชร์เรื่องราวหลังไมค์ตลอด 10 ปีของการทำคอนเทนต์รายการนี้ ร่วมกับ “บ้านดอยปุย” อีกคนในทีมออนไลน์มาร่วมเล่าให้ฟังอีกด้วย ทีมนี้ได้ทำรายการ The Face Thailand ตั้งแต่ซีซั่นที่ 1 – 2 – 3 และ The Face Men Thailand อีกด้วย

รายการใหม่มาก เลยต้องแอบไปส่องคนอื่นก่อน

ในยุคแรกๆ ของการทำ The Face Thailand ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ได้ไปดูรายการอื่นๆ ในยุคนั้น ก็พบว่ามีรายการ The Voice Thailand ที่เน้นการใช้ Social Media โดยเฉพาะกับ Twitter ที่ใช้ Hashtag แบ่งเป็นทีม และใช้ Social Media ในการสื่อสารกับแฟนคลับรายการอีกด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่ประสบความสำเร็จทางออนไลน์ในการสร้าง Second screen เป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การทำ The Voice UK 

นอกจากนี้ นักการตลาดล่างยังได้เห็น Thesis ตัวหนึ่งที่ทำในหัวข้อ “การสื่อสารรายการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ” โดยได้ไปสัมภาษณ์ทีมทำสื่อสังคมออนไลน์ของรายการ Hormones The Series ซึ่งก็คือ GTH ซึ่งมีการทำการสื่อสารให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว

หลังจากนั้น The Face Thailand เลยนำต้นแบบจากทั้งสองรายการมาปรับและเริ่มทดลองผ่านการทำรายการและคอนเทนต์ให้ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นมีมได้จนถึงทุกวันนี้

เคล้ดลับการทำรายการให้ปัง!

สิ่งแรกที่หากคุณจะทำรายการในยุคนี้ให้ปัง คือ เจ้าของรายการ ที่ต้องเปิดใจและเข้าใจทีม ให้โอกาสทีมคอนเทนต์ออนไลน์ในการทำงานและเข้ามาช่วยเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งเจ้าของรายการส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจและเปิดใจแบบ คุณเต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ที่เคยบอกว่าตนเองไม่รู้จักทวิตเตอร์หรอก แต่กลับให้อิสระกับทีมตามความเหมาะสมและให้เกียรติกับทีมที่ทำมากๆ 

ซึ่งบางทีการไปนั่งขออนุมัติงาน โดยเฉพาะกับรายการที่ต้องถ่ายทำไปออนแอร์ไป อาจจะทำให้งานไม่สำเร็จได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าการต้องทำ Account บน Social Media รายการต้องเป็นเสมือนตัวตนๆ หนึ่งที่มีชีวิต ที่ต้องสอดคล้องไปกับรายการเหมือนกันอีกด้วย

ต่อมาคือทีม Creative และ Producer ต้องเข้าใจร่วมกันทั้งหมดว่ารายการเป็นอย่างไร Mood & Tone เป็นอย่างไรบ้าง ทีมงานกลุ่มนี้คือคนวางตัวตนของเมนเทอร์ และสร้างสถานการณ์เพื่อส่งเสริมให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างตัวตนนั้นเน้นพื้นฐานจากตัวตนในชีวิตจริง โดยทีม Creative ถูกแบ่งตามทีมเมนเทอร์รายการ (ตอนนั้นมีทั้งหมด 6 คน คุมเมนเทอร์ละ 2 คน) และคอยส่งสัญญาณไปให้เมนเมอร์ทีมอื่นๆ เพื่อเสี้ยมให้เกิดสถานการณ์นั้นขึ้น

ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ในรายการนี้ ยังสามารถเดินไปดูกองในวันถ่ายทำได้เช่นกันว่ามีสถานการณ์อย่างไรบ้างในวันถ่าย เพื่อหาคอนเทนต์คร่าวๆ ไว้ก่อน แต่หน้าเซ็ตที่เราถ่ายกับตอนตัดต่อเพื่อออกอากาศนั้น ไม่เหมือนกันเลยซะทีเดียว เพราะจะถูกร้อยเรียงการเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมดอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ ทีมคอนเทนต์ออนไลน์และทีม Creative ยังคอยรับ-ส่งข้อมูลและช่วยกันเติมกันไปมา รวมถึงการดู Social Listening ที่เข้ามาช่วยดูทิศทางตั้งแต่ตอนแรกว่าคนในออนไลน์ให้ความสนใจกับใครบ้าง แล้วควรขยี้ใครบ้าง เพื่อทำให้รายการตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และส่งต่อไปยังทีม Creative ในขณะเดียวกันทีม Creative ก็ส่งข้อมูลมาช่วยขยี้ให้เห็นสถานการณ์กับทีมคอนเทนต์ออนไลน์เช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งของรายการ The Face Thailand คือการเป็นรายการที่แตกต่างมากๆ ในช่วงเวลานั้น ด้วยการที่เป็นรายการ “พลังงานบวกเชิงลบ” ท่ามกลางรายการ Feel Good และลงในช่วงเวลาที่ไม่มีใครสนใจสักเท่าไหร่ นอกเหนือจากนั้นทางกันตนายังกรุยทางในการลงรายการแบบเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ผ่านทาง YouTube ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการแชร์มีมต่อและกลับมาดูรายการเต็มตอนเรื่อยๆ 

รายการไม่มีบทนะจ้ะ

อย่างที่บอกว่ารายการนี้ “ไม่มีบท” แต่ใช้การวางตัวตนเป็นหลัก ซึ่งก็พอมีคู่มือไบเบิ้ลมาจากต้นฉบับอยู่ ซึ่งขั้นตอนแรกคือการหาตัวตนจากต้นทาง และทีม Creative พร้อมกับทีม Producer จะช่วยกันหาทิศทางของแต่ละตอน คอยสร้างโครงว่าแต่ละตอนมีอะไรบ้าง? ซึ่งตอนถ่ายรายการจะเน้นการสร้างสถานการณ์ให้แต่ละทีมตีกัน

แน่นอนว่าทีมตีกันเองจริงๆ โกรธกันจริงๆ และไม่มีบท เพราะถ้ามีบทก็น่าจะจำไม่ได้กัน เพราะมันยาวมากๆ ขนาดพิธีกรยังจำไม่ได้เลย! (หัวเราะ) นอกเหนือจากนี้ ทีมงานยังต้องคอยจับตาแต่ละทีมและใช้ข้อมูลที่ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ส่งมาในการช่วยสร้างสถานการณ์ไปด้วย และในแต่ละซีซั่นนั้นใช้วิธีการ “ถ่ายไป-ออกอากาศไป” ทำให้ทีมสามารถสร้างสรรค์เป็นมีมได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

กว่าจะมาเป็นมีม ต้องดู 3 รอบ!

ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ทั้ง 3 คนจะใช้วิธีการดูรายการนี้ทั้งหมด 3 รอบ แบ่งเป็นรอบแรกที่เน้นการดูแบบชิลๆ สบายๆ ก่อน หลังจากนั้นจะดู Reaction แต่ละคน พูดถึงความรู้สึกโดยที่ยังไม่ต้องจดอะไรเลย หลังจากนั้นมาคุยกันคร่าวๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจึงดูรอบที่สองต่อ ดูแบบตั้งใจค่อยๆ เก็บคำต่างๆ และรอบสุดท้ายเน้นการดูวีดีโอว่าช่วงไหน ซีนไหนที่ยังขาดหาย เพื่อเติมเข้ามาให้หมด

แน่นอนว่าดูทั้งสามรอบ มีเวลาให้แค่ “6 ชั่วโมง” เท่านั้นจ้ะ!

ซึ่งการหาคำพูดต่างๆ มาทำเป็นมีมได้นั้น คนแรกที่ทำให้เกิดขึ้นคือมาจากคนที่พูดในรายการ และทีม Creative ที่ทำให้เขาพูดคำๆ นั้นได้ หลังจากนั้นคือทีม Producer และทีมตัดต่อที่เลือกให้คำนั้นเข้ามาในรายการฉบับเต็ม ฉะนั้นทีมตัดต่อต้องรู้ใจมากๆ เพราะไม่มีบทในการมาไกด์ให้ตัดมากสักเท่าไหร่ ซึ่งมีเวลาตัดต่อเพียง 2 วันเท่านั้น เพราะต้องตัดไปออกอากาศไป ไม่นับรวมการเผื่อเวลาที่ต้องเกลี่ยสีด้วย และสุดท้ายคือทีมคอนเทนต์ออนไลน์ที่เลือกมีมและลำดับการลง ซึ่งมีบางซีนไม่ลงด้วย

ซึ่งตอนที่รายการออกอากาศนั้น ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ก็จะตั้ง KPI ว่าจบ 1 เบรครายการ จะต้องมี Quote ลงประมาณ 1-2 โพสต์เป็นอย่างน้อย ผ่านการดูและเลือกว่าคำพูดใครเริ่ดและดีที่สุด ตีหัวเข้าบ้านได้ เน้นการทำให้ความหมายเหมือนเดิม แต่เรียงคำให้คนเข้าใจมากขึ้น อีกเรื่องคือ ด้วยความที่คนในทีมคอนเทนต์ออนไลน์มีตัวตนบุคคลที่แตกต่างกัน มีทั้งชายแท้ หญิงแท้ และหญิงดูนางงาม ทำให้เกิดความหลากหลายในการเลือกมีมเช่นกัน

ส่วนการวางกราฟิกนั้น ทีมคอนเทนต์ออนไลน์เป็นคนมาวางด้วยตนเอง เพราะเนื่องจากไม่มีรูปแบบจากต้นทางที่ชัดเจนมากนัก ทำให้เป็นข้อดีของทีมคอนเทนต์ออนไลน์เช่นกัน รวมไปถึงด้วยหน้าตา ท่าทางที่เมนเทอร์และคนในรายการแสดงสีหน้าออกมาจริงๆ โดยที่ไม่มีบท ทำให้มีมนั้นสำเร็จมากขึ้น

Audition คือด่านแรกที่ทำให้มี “คอนเทนต์”

การที่คนๆ หนึ่งเข้ามาอยู่ในรายการได้ ไม่ใช่เพราะความสวย หรือสูง แต่เป็นคนที่ต้องอยู่ในรายการแล้ว “ไม่จม” และไม่ต้องให้ทีม Creative ปั้น ซึ่งคนที่เข้ามาในรายการบางส่วนจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองจะทำให้มีซีนได้อย่างไรบ้าง หรือมีเรื่องราวเบื้องหลังมากพอที่ทำให้ตัวเองมีซีนได้ ซึ่งทีมคอนเทนต์ออนไลน์ได้มีโอกาสเข้าไปดูรอบ Audition ตั้งแต่แรกที่สยามพารากอน ซึ่งมีโอกาสได้เจอ “ลิลลี่” ที่มีความน่ารักและความกล้าในตัวเองที่ทำให้ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ชอบตั้งแต่แรกเห็น และ “จีน่า” ที่มีความเป็นนางแบบมากๆ แต่ก็มีความเผ็ด มีความมั่นใจในตัวเองมากๆ ที่พอจะให้ทีมคอนเทนต์ออนไลน์นำไปขยี้ได้ต่อเช่นกัน

นอกจากนี้ ตอนถ่ายรายการยังได้เจอกับ “กวาง” ที่มีความสู้ชีวิตมากๆ ให้ใจกับการทำงานเต็มร้อย รวมไปถึง “ติช่า” ที่มีพลังล้นเหลือตอนออกรายการมากๆ และ “เจสซี่” ที่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองเต็มร้อยและทำให้ทุกวินาทีคือการทำงาน ซึ่งทำให้ตัวเองมีซีนจริงๆ และส่งผลทำให้มีแววตั้งแต่ในรายการมากๆ ซึ่งการทุ่มเทของคนเข้าแข่งขันคือสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ตนเองไม่จม และทำให้ทีมโปรดักชั่นและทีมคอนเทนต์ออนไลน์นำไปขยี้ต่อได้อีกด้วย

นอกเหนือจากนั้น เมนเทอร์คืออีกคนที่ทุ่มเทให้กับรายการมากๆ โดยเฉพาะ “บี น้ำทิพย์” ที่หลังจากตอบรับการมาเป็นเมนเทอร์รายการปุ๊ป เช้าวันต่อมาบีก็เลยเริ่มออกกำลังกายทันที เพราะบีอยากเต็มที่กับรายการมากๆ แล้วก็อยากจะให้ตนเองดูดีเมื่อออกรายการเช่นกัน ซึ่งบีให้ความทุ่มเทตั้งแต่รายการยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายการนี้ดังในซีซั่นของบีนั่นเอง

รับมือกับการเป็นคนดังหน่อยจ้า

ครั้งแรกที่รู้ว่าราการเริ่มดังมากๆ คือช่วงที่น้ำหวานโดนตัดออกจากรายการ และทีมคอนเทนต์ออนไลน์พบว่ามีคนเข้ามาส่งข้อความด่าทอ เสมือนว่ามีความรู้สึกค้างหลังจากการดูรายการจบ และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ร้องไห้ เพราะเจอการส่งข้อความทั้งบน Facebook และ Twitter แบบรุมชี้หน้าด่าเลย หลายคนส่งเข้ามาด่าทอ ให้ไปตายบ้างอะไรบ้าง จนทีมคอนเทนต์อีกคนก็บอกว่า “เค้าด่ารายการ เค้าไม่ได้ด่าเรา” ทีมที่เจอเลยดึงตัวเองกลับมาได้ภายในชั่วโมงเดียว!

ซึ่งทีมงานก็ถามกันว่ารายการมีการบังคับให้อ่านแชทไหม ซึ่งเมื่อรายการไม่ได้บังคับให้อ่านแชท ทีมงานจึงอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง โดยในยุคนั้นยังไม่มีการฟ้องร้องใดๆ ทำให้ยังมีคนที่ใช้ Account จริงมาด่ารายการ จนกระทั่งมีคนเริ่มฟ้องร้อง (ซึ่งไม่ได้เกิดในรายการแต่อย่างใด) จึงเริ่มใช้แอคหลุมด่าแทน 

นอกเหนือจากนั้น พอรายการเริ่มดราม่ามากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็เริ่มมีการไปด่ายันเมนเทอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่องทางส่วนตัว จนทำให้พี่ลูกเกดไปพูดในรายการว่า “อย่าอินเกิน” และหลังจากนั้นทีมงานจึงรู้ว่าที่พี่ลูกเกดสตรองมากๆ เพราะเขาไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้คล่องมากนัก ทำให้ไม่ได้ใส่ใจ กลับกันพี่คริสและพี่บีมีบางครั้งที่ไม่กลับไปอ่านคอมเมนต์เลย

ทำดีแบบนี้ก็เคยคิดพลาดนะ

ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ยังเล่าให้ฟังว่าเคยมีการคาดการณ์ผิดพลาด เมื่อครั้งหนึ่งพี่คริสพยายามจะขอออกจากรายการเอง ทีมคิดว่าคนต้องรุมด่าพี่คริสแน่นอน เลยทำคอนเทนต์และลงไปแล้ว แต่กลับไม่มีกระแส จนไปรู้ว่าจริงๆ แล้วคนไม่ได้ซีเรียสเรื่องกฎมากเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันคนกลับสงสารพี่คริส แล้วกลับด่าพี่ลูกเกดและรายการมากกว่า จึงรู้ว่าคนรักพี่คริสมากๆ

ช่างภาพเก่ง ถ่ายให้สวยจนขึ้นหน้า 1 ไทยรัฐ!

ในรอบ Final ของรายการ ช่างภาพประจำรายการซึ่งมาจากหาดใหญ่เดินทางมาถ่ายรูปนิ่งรายการรอบ Final แล้วต้องทำรูปให้ทันก่อนเข้ารายการเบรคต่อไป ซึ่งทำให้มีเวลาเพียง 3 นาทีระหว่างโฆษณาที่ต้องโหลดรูปเข้าเครื่องแล้วส่งไปให้ทีมคอนเทนต์ออนไลน์ใส่ Logo รายการแล้วลงเลย ซึ่งด้วยความที่เป็นการถ่ายทอดสดจึงทำอะไรไม่ได้มาก แต่ด้วยความเก่งของช่างภาพคนนี้ที่ทำให้การถ่ายรูปรายการนั้นออกมาสวยจนไม่ต้องรีทัชอะไรเลย และทีมคอนเทนต์ออนไลน์ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย 

ปรากฎว่ารูปช่างภาพจากรายการในวันรอบ Final นั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำไปลงหน้า 1 ในวันถัดมาทันที ซึ่งเมื่อช่างภาพรู้ทำให้คุณแม่ของเขาเหมาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐทั้งตลาดเลยทีเดียว และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทีมคอนเทนต์ออนไลน์หาลูกค้าได้ เพราะเป็นเพียงไม่กี่เพจรายการในยุคนั้นที่มีคนกดถูกใจถึงล้านภายใน 2 Season เท่านั้น!

และนี่คือทั้งหมด ทั้งความลับและกระบวนการทำงานตลอด 10 ปีของรายการ The Face Thailand ที่ทำให้รายการเกิดมีมจนถึงทุกวันนี้ ส่วนในซีซั่นต่อๆ ไปทางทีมได้คุยกับคุณเต้ จึงได้ทราบว่าปัจจุบันลิขสิทธิ์ไม่ได้อยู่กับกันตนาอีกแล้ว ก็คงต้องรอติดตามกันว่าคุณเต้จะทำยังไงกับโปรเจกต์ The Original Thailand ยังไงต่อไป อดใจรออีกสักพักใหญ่ๆ นะ

Content Creator

  • ณตภณ ดิษฐบรรจง

    บรรณาธิการบริหาร THE F1RST แมกกาซีนออนไลน์ที่เล่าทุกเรื่องราวให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่