รถเมล์ถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่งในการเดินทางในกรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยราคาที่ถูก เดินทางสะดวก และสามารถเชื่อมต่อได้หลากหลายทาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ก่อนที่เราจะเจอรถเมล์ เราก็ต้องเจอป้ายรถเมล์ก่อน ซึ่งในบางครั้งก็เป็นที่พักพิงให้หลบฝน หลบแดด หรือรอรถโดยสาร บางครั้งก็ให้ข้อมูลในการบอกเส้นทางต่างๆ ที่จะไป ซึ่งในหลายๆ เมืองให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พอสมควร แต่ในเมืองไทยนั้นป้ายรถเมล์เป็นปัญหาที่หลายคนหนักใจและถูกพูดถึงมานักต่อนัก บางครั้งป้ายก็มาในรูปไม่สมบูรณ์ ศาลารอรถเมล์ก็เก่าแก่ ผุพัง ไม่ได้แก้ไขปัญหา
คำถามคือ เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร และปัญหานี้ถูกแก้มามากน้อยแค่ไหนบ้าง?
ป้ายรถเมล์ มีไว้เพื่อให้มี แต่ใช้งานจริงได้น้อย
ทีมกองบรรณาธิการได้เดินสำรวจป้ายรถเมล์บริเวณถนนรัชดาภิเษก สิ่งที่เราพบปัญหาเลยก็คือตัวของป้ายรถเมล์บางจุดไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยหรือสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวป้ายรถเมล์ที่มีสิ่งกีดขวางทัศนียภาพในการมองตัวรถเมล์ ป้ายบางจุดไม่ได้รับการแก้ไขทั้งชุด ทำให้ที่นั่งยังคงเป็นแบบเดิม และเมื่อนั่งก็ไม่สามารถมองมาที่ถนนได้ นอกเหนือจากนี้ยังพบเจอป้ายรถเมล์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีการปรับปรุงข้อมูลรถเมล์ที่เดินทางได้ และไม่มีเวลาบอก
สำหรับป้ายบางจุดที่เราพบเจอในถนนเส้นเดียวกัน (และอยู่ตรงข้ามกัน) คือป้ายอัจฉริยะที่เอกชนได้รับสัมปทานไป ซึ่งแตกต่างราวฟ้ากับเหว เนื่องจากตัวป้ายได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ทางเท้ามีความเรียบ และสามารถเห็นทัศนียภาพบนท้องถนนได้ชัดเจนกว่าอีกด้วย แต่ข้อดีก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้พัฒนาระบบการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับรถเมล์ ตลอดจนถึงแสดงเวลาการมาถึงของรถเมล์ด้วย ซึ่งก็คือ Viabus ที่มีให้ดาวน์โหลดบนระบบ iOS และ Android
นโยบายในอดีต ใครทำอะไรกับป้ายรถเมล์บ้าง?
เมื่อย้อนกลับไปในอดีต กรุงเทพมหานครในฐานะผู้ติดตั้งป้ายและศาลาคอยรถเมล์ได้มีนโยบายต่างๆ ในการพัฒนาป้ายรถเมล์ให้มีประสิทธิภาพและอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการมีระยะเวลาเมื่อรถเมล์เดินทางมาถึง หรือการพัฒนาจุดให้แสงสว่าง เป็นต้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ในยุคของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ได้เริ่มต้นตรวจป้ายรถเมล์อัจฉริยะจุดแรกหน้าโรงภาพยนตร์สยาม (ปัจจุบันถูกรื้อแล้ว) ซึ่งทางกรุงเทพมหานครในขณะนั้นมีแผนที่จะติดตั้งให้ครบ 200 ป้ายในปี 2549 ซึ่งเป็นการทยอยติดตั้ง รวมถึงการดำเนินการติดตั้งระบบระบบ GPS ที่รถเมล์อีกจำนวน 1,500 คัน โดยนายอภิรักษ์กล่าวว่าได้เริ่มติดตั้งไปแล้วจำนวน 86 คัน ได้แก่สาย 73, 73ก และ 18 โดยราคาเฉลี่ยของป้ายรถเมล์อัจฉริยะตกอยู่ที่ป้ายละ 300,000 บาท ส่วนการติดตั้ง GPS ตกเครื่องละ 30,000 บาท
ส่วนในปี 2559 สมัยที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาจากกรณีศาลาที่พักคอยรถโดยสารกว่า 1,000 จุดที่เอกชนรับไปดูแลนั้นไม่มีไฟส่องสว่าง ให้ทางสำนักการจราจรและขนส่งประสานงานไปยังการไฟฟ้านครหลวงดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างให้แล้วเสร็จอีกด้วย ซึ่ง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ยังกล่าวต่อว่าป้ายที่ไม่มีไฟส่องสว่างในขณะนั้น เนื่องจากเป็นป้ายชั่วคราว และมีคดีกับเอกชนที่ดูแลป้ายอยู่นั่นเอง
ผ่านมาจนถึงปี 2560 ภาคเอกชนโดย MAYDAY ได้ร่วมมือกับพันธมิตร และเจ้าภาพที่ดูแลเรื่องนี้อย่างสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เข้ามาปรับปรุงป้ายรถเมล์ โดยใช้หลักการออกแบบที่ทำให้จดจำง่าย น่าสนใจ และให้ข้อมูลครบ มาใช้ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์รวมทั้งสิ้น 118 จุด และค่อยๆ ขยายตัวไป
จนกระทั่งปี 2563 บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด ชนะการประมูลโครงการปรับปรุงป้ายรถเมล์อัจฉริยะ โดยได้รับสิทธิ์บริหารและบำรุงรักษาโครงการเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อแลกกับการหารายได้จากการขายสื่อโฆษณาบริเวณป้ายรถเมล์และป้ายโฆษณาของกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 1,170 หลัง จากทั้งหมด 3,000 หลังที่ใช้การได้ และจากจำนวนป้ายทั้งหมด 5,000 หลังที่มีอยู่จริงทั่วกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบศาลารอคอยผู้โดยสาร ได้แก่ Full Function ที่จัดให้มีระบบบอกสายรถโดยสารประจำทางและระยเวลาการมาถึงป้ายบนจอ LED ขนาด 32 นิ้ว มีระบบรักษาความปลอดภัย คือกล้อง CCTV และไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบแสดงข้อมูลข่าวสารผ่านจอ LED ขนาด 55 นิ้ว ระบบชาร์จโทรศัพท์มือถือและ Wi-Fi ฟรี ส่วนอีกรูปแบบคือ Light Function จะตัดจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว และระบบ Wi-Fi ฟรีออกไป
แต่จนถึงวันนี้ป้ายรถเมล์ก็ยังปรับปรุงไม่ครบและไม่ตอบสนองคนใช้บริการที่แท้จริง
แล้วเราก็ยังคงจมกับปัญหาเดิมๆ วนเวียนไปมาใช่ไหม?
แล้วเราก็ยังหาคนมาช่วยแก้ไขปัญหาได้เท่าที่ควรใช่ไหม?