fbpx

เรารู้เลาๆ จากเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อไปเยือนตึกบรรลือสาสน์ที่รัชดาซอย 3 ว่าในออฟฟิศแห่งนี้กำลังจะมีสื่อออนไลน์เกี่ยวกับธุรกิจเกิดใหม่

และเราได้รู้อีกว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เมื่อหันไปมองหลังโต๊ะประชาสัมพันธ์หน้าตึกแล้วเจอพี่เบลล์-จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ ผู้เคยเซ็นผ่านฝึกงานให้เราเมื่อครั้งนั่งอยู่ในออฟฟิศก้อนเมฆ มานั่งเก้าอี้บรรณาธิการบริหารของสื่อธุรกิจน้องใหม่หัวนี้

และสื่อหัวดังกล่าวชื่อว่า Capital

เราในกอง Modernist กันเองก็เดาทางไม่ออกเลยว่า Capital จะมีทิศทางเป็นอย่างไร แต่พอคอนเทนต์แรกที่คิกออฟตัวตนของพวกเขาอย่าง 100 Capital 100 Entrepreneurs ถูกปล่อยออกมา ก็ถือว่า Capital ไปสุดและบ้าพลังมาก! เพราะมันคือการรวบรวม 100 ต้นทุนจาก 100 ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจแทบจะทุกประเภทมาอยู่ในโพสต์เดียว

เป็นการเปิดตัวที่เห็นภาพได้ชัดเจนมากๆ ว่า Capital ต้องการจะสื่อว่าธุรกิจจะเริ่มได้ต้องมีทุน ซึ่งอาจไม่ใช่เงินก็ได้ แต่อาจเป็นความสามารถ ศักยภาพ หรือปัจจัยตามตำราวิชาเศรษฐศาสตร์

และแก่นสารสำคัญที่ Captial อยากเล่าคือ การเป็นสื่อธุรกิจที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน

ผ่านมาแล้ว 8 เดือน ยอดผู้อ่านสูงอย่างเสถียร และยอดกดติดตามในแฟนเพจพุ่งขึ้นเกินครึ่งแสนในเวลาอันสั้น หลายคอนเทนต์ถูกแชร์อย่างรวดเร็ว เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้เรายกหูหาพี่เบลล์ในฐานะบรรณาธิการบริหาร Capital เพื่อนัดคุยกันเป็นกรณีพิเศษถึงการเติบโตของสื่อธุรกิจน้องใหม่นี้

ที่ทุกคนมีทุนเรื่องธุรกิจ และใจอยากเล่าเรื่องธุรกิจจริงๆ

ต้นทุน #1
แต้มต่อจากการเป็นบรรณาธิการบริหาร

ไม่นานนี้พี่เบลล์รับบทแม่ทัพของ a day ด้วยการเป็นบรรณาธิการบริหารอยู่เกือบ 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น a day มีลีลาในการเล่าเรื่องที่หลากหลายผ่านเครื่องมือที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนิตยสาร เว็บไซต์ วิดีโอ หรือกิจกรรม

เราเลยขอให้พี่เบลล์อธิบายให้เราฟังคร่าวๆ หน่อยว่าจริงๆ แล้ว “บรรณาธิการบริหาร” นั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง

“บรรณาธิการบริหารมีสองคำ คือคำว่า “บรรณาธิการ” และ “บริหาร” บรรณาธิการคือคนที่คอยดูแลต้นฉบับ คุณค่าของเนื้อหา ทิศทางของสื่อ บริหารทำหน้าที่บริหาร แต่เราเคยแบ่งมิติของคนทำบรรณาธิการบริหารอยู่ว่าคนๆ นี้จะต้องดูแลอะไรบ้าง ก็จะมี 3 มิติหลักๆ คือ เรื่องคุณภาพเนื้อหาหรือคอนเทนต์ อีกอันคือเรื่องธุรกิจ อีกอันคือเรื่องมนุษย์ ซึ่ง 3 ด้านนี้เรียกร้องทักษะที่โคตรต่าง แล้วมันยากทุกทาง ลำพังแค่ทำคอนเทนต์ตัวเองให้ดีก็ยากมากแล้ว จะทำอย่างไรให้คอนเทนต์ของสื่อเรามีคุณภาพ ในแหล่งข่าวเดียวกันทำอย่างไรให้มีคุณภาพมากกว่ามาตรฐาน ทำอย่างไรให้หาประเด็นใหม่ๆ ได้ ทำอย่างไรให้สื่อเรามีเอกลักษณ์ในเชิงคอนเทนต์ แล้วคอนเทนต์ในยุคนี้มันไม่ใช่แค่เขียนแล้วไง มันรวมไปถึงวิดิโอ พอดแคสต์ เอาแค่เรื่องคอนเทนต์ก็ยากมหาศาลกว่ายุคก่อนหน้านั้น เราโฟกัสแค่เครื่องมือเดียว 

“เราจะถอดรหัสอย่างไรให้สื่อในยุคนี้ที่ก็ถูก Disrupt แล้วยังมีคู่แข่งอื่นๆ และมีปัจจัยที่เราควบคุมได้ หรือควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นมากมาย เรื่องธุรกิจก็ไม่ง่าย เป็นเรื่องของบรรณาธิการบริหารอีกเช่นกัน เรื่องสุดท้ายปราบเซียนที่สุด ถ้าใครเคยทำงานผู้บริหารก็น่าจะรู้ว่าเรื่องการบริหารคนในทีมเป็นเรื่องยากมาก”

พี่เบลล์บอกว่า ใน 3 มิติของการเป็นบรรณาธิการบริหาร มิติสุดท้ายคือ การบริหารคน กลับเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะก็ไม่ได้ต่างจากคำเปรียบเปรยที่หลายๆ คนเคยพูดเอาไว้ว่าทำงานกับใคร ก็ไม่ยากเท่าทำงานกับคนหรอก และพี่เบลล์เองก็บอกเราอีกว่า การเป็นบรรณาธิการบริหารในครั้งนั้น พี่เบลล์ก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะมนุษย์ต้องเติมเต็มในทุกมิติอยู่ตลอดเวลา

และจากบรรณาธิการคนหนึ่งที่เติบโตในจนเป็นบรรณาธิการบริหาร ย่อมมีความท้าทายและเรื่องที่เรียนรู้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นทุนสำคัญในวิชาชีพของพี่เบลล์อีกด้วย

“ถ้าตอบคำถามว่าบรรณาธิการมันทำหน้าที่อะไร ก็บริหาร 3 สิ่งนี้ ซึ่งสำหรับเรามันเรียกร้องทักษะที่แตกต่างกัน บรรณาธิการแต่ละคนก็โดดเด่นแตกต่างกัน บางคนอาจจะเก่งด้านคอนเทนต์แต่ธุรกิจไม่ถนัด บางคนอาจจะด้านธุรกิจและคอนเทนต์ดีมากแต่ด้านมนุษย์มีปัญหา ก็มี เราเองก็พยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เราไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราต้องเติมในทุกมิติตลอดเวลา”

ต้นทุน #2
เมื่อธุรกิจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

หลังจากออกจากอาคารเตรียมชาญชัย พี่เบลล์ได้เทียบเชิญจากผู้ใหญ่ที่เคารพให้เข้าไปคุยถึงหน้าที่การงานใหม่ที่ตึกบรรลือสาสน์

พี่เบลล์ย้ำอีกว่า โจทย์ที่ผู้ใหญ่มอบให้ มันเป็นโจทย์ที่เรียบง่าย แต่ท้าทายมากๆ

“เขาชวนเราว่า เขาอยากทำสื่อธุรกิจที่แตกต่างจากที่มีอยู่ อย่างสื่อต่างประเทศมันมีสื่อธุรกิจหลายๆ สื่อที่คนปกติที่ไม่ได้สนใจธุรกิจอ่านได้สนุกสนาน สื่อธุรกิจที่ไม่ได้นำเสนอแต่ความสำเร็จ ไม่ได้นำเสนอแต่ข่าวเกี่ยวกับธุรกิจที่คนไม่สนใจรู้สึกว่าไกลตัว อยากทำสื่อธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจดีๆ สื่อที่แม้พวกเราไม่ได้สนใจธุรกิจก็อ่านได้” พี่เบลล์เล่าถึงการคุยครั้งแรก

ซึ่งพี่เบลล์ยังไม่ได้ตัดสินใจตอบตกลงทันที เพราะก่อนหน้านี้พี่เบลล์ทำสื่อที่พูดถึงไลฟ์สไตล์และแรงบันดาลใจจากงานสร้างสรรค์ ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในความสนใจของพี่เบลล์ตั้งแต่แรก แต่พอพี่เบลล์ลองศึกษาถึงความเป็น “ธุรกิจ” อย่างลงลึกแล้ว กลับพบว่าจริงๆ ธุรกิจมันอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดไว้มากๆ

“ธุรกิจมันใกล้ตัวกว่าที่คิดเลย สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือเราทำธุรกิจหรือเปล่า พวกเรากำลังทำธุรกิจกันอยู่ ไม่ได้ทำเล่นๆ สมมติเราบอกว่าเราชอบแฟชันมาก แฟชันคือธุรกิจหรือเปล่า โอโห แฟชันมันขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมมากๆ กีฬาล่ะ โคตรธุรกิจเลย พอไปนั่งทบทวนจริงๆ แล้วธุรกิจมันแฝงอยู่ในทุกอย่างรอบตัวเราเพียงแต่ว่าเราติดภาพสื่อธุรกิจที่เราเคยพบเจอมาว่าจะต้องเป็นข่าวการลงทุน ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดีนะครับ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้มันอาจจะไม่ใช่ความสนใจของเรา แต่พอมาทบทวนอีกทีธุรกิจมันมีมุมที่น่าสนใจอยู่ แม้แต่องค์กรที่เป็นธุรกิจเพียวๆ นอกเหนือความสนใจของเราก็มีมุมของมันที่น่าสนใจอยู่ดี”

พี่เบลล์ขยายความเพิ่มว่า การทำสื่อธุรกิจก็เหมือนการเอาแว่นตาชื่อธุรกิจไปสวมเมื่อมองสิ่งต่างๆ รอบสังคม ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร การทำเพลง เจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ หรือแม้แต่กีฬาและศิลปะ ซึ่งเราสามารถเจาะลึกลงไปด้วยแง่มุมที่แตกต่างและยังน่าสนใจ

หรือที่พี่เบลล์เรียกว่ามองให้มัน “เซ็กซี่” ขึ้น

ต้นทุน #3
ทีมเดิม เพิ่มเติมคือสื่อใหม่

“แล้วโจทย์แรกจริงๆ ของการทำสื่อนี้คือะไร” เราถาม

“มันมาแบบค่อนข้างกว้าง คีย์เวิร์ดหลักคือ สื่อธุรกิจที่ซัพพอร์ตธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่มันกว้างมาก มีอะไรให้เราใส่อีกเยอะมาก แล้วเป็นอีกหนึ่งเหตุผลหนึ่งด้วยที่เราตัดสินใจมาทำ เพราะเรารู้สึกว่าเราได้เริ่มกับมันตั้งแต่ 0.1 เลย อาจจะไม่ใช่ 0 เพราะมันมีโจทย์มา แต่เราได้เริ่มกระบวนการแรกมากๆ ไม่ได้มาตอนมัน 80 แล้วเหลือพื้นที่ใส่ความเป็นตัวเราแค่ 20 ถ้าตอบคำถามว่าเขาให้โจทย์อะไร คือกว้างมากครับ สำหรับเราเป็นเรื่องดี เราได้ใส่อะไรที่เป็นตัวเราลงไปในนั้นอยู่เหมือนกัน”  พี่เบลล์ตอบเรา

ส่วนทีมหลังบ้านของสื่อใหม่นี้ ในฐานะแม่ทัพ พี่เบลล์ได้เพื่อนพ้องจากทีมเดิมมาร่วมเกือบครึ่ง ส่วนเพื่อนร่วมงานที่เหลือก็เป็นการต่อเติมจากสื่อออนไลน์หัวต่างๆ ที่เบลล์คุ้นเคยอีกหลายแห่ง 

ซึ่งจากการสุมหัวประชุมอยู่หลายต่อหลายครั้ง ทำให้พี่เบลล์ได้รู้ว่าจริงๆ จุดร่วมของสื่อออนไลน์ที่ว่าด้วยธุรกิจหัวนี้คือ “ต้นทุน”

“แต่ละคนข้อดีคือเรารู้ฝีไม้ลายมือ รู้รสนิยม รู้ศักยภาพว่าใครทำอะไรได้ ใครทำอะไรไม่ได้ ในฐานะคนบริหารทีม มันเป็นข้อดีที่เรารู้ว่าจุดเด่นของทีมเราคืออะไร เอาข้อดี เอาวัตถุดิบมารวมกัน เหมือนชื่อเลย พวกเรามี Capital อะไรกัน เรามีทุนอะไรกัน น้องคนนี้เด่นตรงนี้ เราก็ดึงจุดเด่น เอาต้นทุนทุกคนออกมาใช้ แล้วก็ต่อยอดมาจนเป็นสิ่งที่เห็นนั่นแหละ

“อย่างตอนที่เราเริ่มต้นมันทำให้เราตระหนักได้อย่างนึง ว่าตอนที่เราจะเริ่มสิ่งใหม่ สิ่งสำคัญเลยคือต้นทุนของแต่ละคนนะ Capital มันจะเริ่มมาอย่างที่เห็นแบบนี้ไม่ได้ ถ้าพวกเราแต่ละคนไม่สะสมต้นทุนอะไรบางอย่าง ต้นทุนในแง่นั้นมันหลากหลาย และละเอียดอ่อนมาก” พี่เบลล์ขยายความ

พี่เบลล์บอกเพิ่มอีกว่า จริงๆ การมีคนคุ้นเคยและคนที่รู้จริงในเรื่องธุรกิจมารวมตัวกันก็มีทั้งข้อดีคือ ใช้เวลาไม่มากในการปรับตัวเข้าหากัน เพราะส่วนมาก็คือเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เคยทำงานในสายงานสื่อใกล้ๆ กัน ทำงานด้วยกันบ้าง และได้รับคำแนะนำจากพี่นก-โชติกา อุตสาหจิต หัวเรือใหญ่ของบรรลือสาสน์ที่คอยชี้แนะ และให้คำแนะนำในการนำทิศทางสื่อธุรกิจนี้ให้มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ส่วนชื่อ Capital พี่เบลล์ยกเครดิตให้กับพี่ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ บรรณาธิการของเว็บไซต์ ที่เป็นต้นคิดชื่อนี้ขึ้นมา ซึ่งต้นทางความคิดก็มาจากสิ่งที่เรียบง่ายของการทำธุรกิจนั่นคือทุน เพราะถ้าไม่มีทุน ไม่ว่าจะเรื่องเงินตรา องค์ความรู้ ทรัพยากรมนุษย์ ก็ไม่สามารถเริ่มธุรกิจได้

รวมถึงเมื่อนำชื่อ Capital มาย่อให้เหลือ Cap. ก็สามารถต่อยอดในการตั้งชื่อและขึ้นคอนเทนต์ได้อีกหลากหลายรูปแบบเช่นกัน

ต้นทุน #4
การพัฒนาคอนเทนต์ธุรกิจเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แท็กไลน์ของ Capital คือ better business for good life.

หรือแปลว่า ธุรกิจที่ดี เพื่อชีวิตที่ดี

“มันเกิดจากความเชื่อเราระหว่างที่เราระดมความคิดเกี่ยวกับตัวตนของเรา เราเชื่อว่าธุรกิจที่ดีทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นได้นะ คำว่าชีวิตมนุษย์ในที่นี้ไม่ได้หมายเฉพาะถึงคนทำธุรกิจ มันหมายถึงคนทำงานด้วย ถ้าธุรกิจที่ดีมันไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเองมันคิดถึงคนอื่นๆ ด้วย เราในฐานะคนทำงานก็มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หรือถ้าธุรกิจมันดีผู้บริโภคก็มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

“เราไม่ได้เล่าในมุมคนทำธุรกิจอย่างเดียว เราเล่าถึงธุรกิจที่ดีมันทำให้ชีวิตมนุษย์ในหลายๆ ตัวละครมันดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริหาร คนทำงาน ผู้บริโภค แล้วความเชื่ออีกอันของเราก็คือ เราอยากซัพพอร์ตธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน 

“พูดถึงความยั่งยืนมันมักจะมี Sense ของสิ่งแวดล้อมใช่ไหมครับ แต่จริงๆ เวลาเราบอกว่าเราอยากให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยประโยคมันคืออยากให้อยู่ได้นานๆ นี่แหละ แข็งแรงหยั่งรากลึก แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ธุรกิจหนึ่งอยู่ได้อย่างยั่งยืน มันเรียกร้องอะไรบ้าง อันนี้คืออีกความเชื่อของเรา มันก็นำมาสู่สิ่งที่เราจะทำนี่แหละ” พี่เบลล์อธิบาย

และใช่ เมื่อย้อนกลับไปว่า Capital จะเล่าเรื่องนี้ยังไง จึงกลายเป็นการออกแบบ Section ในเว็บไซต์ออกมาเป็น 4 ส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือ Insight ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ใหญ่ที่สุดของ Capital ในการเล่าเรื่องวิธีคิดในการทำธุรกิจ ซึ่งตอบโจทย์ความยั่งยืนในการทำธุรกิจแบบตรงๆ โดยเล่าผ่านสายตาของบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ เช่น Brand Belief ที่สัมภาษณ์เหล่าผู้ประกอบการถึงความเชื่อของแบรนด์, หนึ่งร้อยปีแห่งความเด็ดเดี่ยว ที่พูดถึงธุรกิจซึ่งยืนระยะได้หลักศตวรรษ, Play Risk การบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจ, บอร์ดบริหาร การถอดบทเรียนวิธีคิดการทำธุรกิจผ่านบอร์ดเกม, Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว ที่พูดถึงธุรกิจในวงการอาหาร เป็นต้น

Working Culture คือส่วนที่สองที่ Capital อยากชูเรื่องการใช้ชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นมิติสำคัญทั้งในการบริหารธุรกิจและคนให้ไปข้างหน้าผ่านคอลัมน์ที่เน้นคุยกับ “คน” เป็นหลัก เช่น ณ บัตรนั้น กับการเล่าเรื่อง Carrier Path ของนักธุรกิจผ่านนามบัตรของพวกเขา, Business Partner ซึ่งจะชวนเพื่อนหรือคู่รักที่ทำธุรกิจด้วยกันมานั่งคุยกันถึงการทำธุรกิจและบริหารความสัมพันธ์ให้ราบรื่น หรือ Good Client ที่ว่าด้วยการคุยกับคนทำงานสร้างสรรค์ที่ได้โอกาสในการทำงานกับลูกค้าที่ดี เพื่อการสมานฉันท์ของคนทั้งสองฝั่งให้ทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น

ส่วนที่สามคือ Legacy คือหมวดที่เล่าถึงแบรนด์ที่มีอายุอย่างยาวนาน และเล่าด้วยเครื่องมือที่หลากหลายเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงธุรกิจที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ ซึ่งพี่เบลล์บอกเราว่า Section นี้จะเปิดเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่อึดใจ

ส่วนสุดท้ายคือ Issue หรือการเล่าเรื่องแบบซีรีส์ที่จะพาเราไปรู้จักกับธุรกิจในหลายมิติ อย่างล่าสุดก็มีธุรกิจส่วนทัวร์ ที่พาไปรู้จักธุรกิจทัวร์ที่ต่างออกไปจากการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ

แต่ Issue ที่เราสนใจที่สุดกลับเป็นชุดคอนเทนต์แรกในวาระเปิดตัว Capital อย่าง 100 Capital 100 Entrepreneurs ที่สัมภาษณ์คนธุรกิจ 100 ชีวิต โดยสาระสำคัญคือการถามถึง​ “ต้นทุน” ในทรรศนะของผู้ประกอบการเหล่านั้น

ซึ่งเราเองยังคิดเลยว่าเป็นไปได้ยังไง

“โคตรบ้า แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว” พี่เบลล์ตอบเราก่อนเราจะระเบิดหัวเราะพร้อมๆ กัน

“เราต้องคิดอะไรสักอย่างในวันแรกที่มาแนะนำตัวกับผู้อ่านอยู่แล้วนะ สมมติทำสื่อใหม่ คงไม่ใช่เปิดตัวแล้วคอนเทนต์แรกเป็นบทสัมภาษณ์ คนก็ไม่รู้จักเราเลยว่าชื่ออะไร ทำอะไร มันต้องมีอะไรสักอย่างที่บอกว่าฉันคืออะไร ชื่ออะไร แล้วก็รู้สึกว่าในวันที่มีสื่อมากมาย จะทำอย่างไรให้คนรู้ความเชื่อของเราในปริมาณที่เยอะ บวกกับอีกอันหนึ่งที่เป็น Pain Point ของชื่อเหมือนกัน มันมีข้อดีแต่ก็มีข้อควรระวังของชื่อ Capital อยู่ดี คำว่า ‘Capital’ ถ้าใครอยู่ในแวดวงนักลงทุนจะมองว่ามันมีเซนส์ของทุนนิยมหรือนายทุนหรือเปล่า หรือไปดูสื่อต่างประเทศก็จะมีชื่อ Capital ที่พูดถึงการลงทุนแบบจ๋าๆ เลย แต่อย่างที่บอกว่าเราคิดว่าคำนี้มันมีความหมายหลากหลาย เพราะฉะนั้นโปรเจกต์มาควบคู่กับโจทย์ว่า ‘ทำอย่างไรให้คนรู้ว่า Capital คือสื่อ’ มันมีหลายนิยาม ระหว่างนั่งนึกก็นึกขึ้นได้ว่า ในเมื่อเราบอกว่า Capital มันหลากหลาย ก็อยากรู้ความหมายของ Capital จากคนที่ทำธุรกิจ ว่าจริงๆ Capital ของคุณคืออะไร มันปัจเจกมาก เรารู้สึกว่าน่าสนใจ” พี่เบลล์เล่าต่อ

เมื่อคิดไอเดียหลักที่เป็น “ต้นทุน” ของโปรเจคต์นี้ได้แล้ว พี่เบลล์ที่นำไปเสนอทีมกลับไม่ถูกค้านและปฏิเสธเลย ความท้าทายของานถูกเพิ่มด้วยการทำงานในสเกลที่ใหญ่มาก ทั้งการสัมภาษณ์ ผลิตกราฟิก ขอภาพ เรียบเรียงคำตอบ ซึ่งนั่นทำให้พี่เบลล์และกองบรรณาธิการได้เห็นถึงคำตอบที่หลากหลายและ “ดี” ในทุกคำตอบที่มาจากทรรศนะอันต่างกัน

“เวลาเราพูดถึงสื่อธุรกิจมันมีคนบางประเภทที่ไม่เคยได้พื้นที่ในสื่อธุรกิจเลย อาจจะด้วยภาพลักษณ์เขาไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เรามองว่าเขากำลังทำธุรกิจอยู่ เช่น เหล่าดีไซน์เนอร์ เหล่าร้านเล็กๆ คนทำงานสร้างสรรค์ โอกาสที่จะได้ลงสื่อธุรกิจยากมาก แต่เขาก็ทำธุรกิจของเขาด้วยแพสชันเต็มเปี่ยม  มันเป็นตัวเซ็ทถึงความหลากหลายของสื่อเราว่าเราให้พื้นที่กับคนที่หลากหลาย แต่นักธุรกิจใหญ่ก็มีนะ ไม่ใช่ว่าเราแอนตี้เขา แล้วก็หลากหลายประเภทด้วย เพราะตอนที่เลือก 100 คนเรามานั่งดูเลยว่ามีหมวดอะไรบ้าง จะเอาใคร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราคือเวลาที่เราบอกว่าเราอยากนำเสนอเนื้อหาธุรกิจที่หลากหลายและแตกต่าง มันสะท้อนความเชื่อเรา”

ต้นทุน #5
สิ่งที่ค้นพบจากการทำสื่อธุรกิจ

ในการทำสื่อธุรกิจ มันแน่อยู่แล้วที่ต้องเจอคนทำธุรกิจ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการทั้งใหญ่และเล็ก ซึ่งทั้งหมดต่างมีจุดร่วมกันคือกำลังประกอบกิจการเพื่อให้ได้ซึ่งผลกำไร และนำเสนอสินค้าหรือบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แล้วเรื่องล่าสุดที่บรรณาธิการบริหารสื่อธุรกิจเรียนรู้จากผู้ประกอบการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

“เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เรียบง่าย คือวิธีการไปสู่ความสำเร็จไม่ได้มีแค่วิธีการเดียว เราพยายามหาสูตรสำเร็จกัน แต่จากที่อ่านมาเยอะๆ วิธีที่จะไปสู่ความสำเร็จมันไม่ได้มีทางเดียว และวิธีเดียวกันก็ไม่ใช่จะสำเร็จกับทุกคน ต้นทุนมนุษย์เราไม่เท่ากัน แล้วหลายๆ คนที่สำเร็จมาเขียนตอนสำเร็จแล้วด้วยซ้ำ ระหว่างที่เขาทำเขา ไม่รู้เคล็ดลับที่เขาสรุปให้เราฟังด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสำหรับเรา คีย์เวิร์ดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน การไม่ต้องไปทำตามคนที่สำเร็จ หรือมุ่งไปทางนั้นทางเดียว มันยังมีหนทางอีกหลากหลาย อยู่ที่เราว่าจะมองเห็นหรือเปล่า 

“แล้วคำถามที่คนมาถามเราแล้วเราตอบไม่ได้ ในฐานะ บก.สื่อธุรกิจรู้สึกผิดมากคือ ‘ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ?’ สำหรับเรา การทำสื่อธุรกิจเราไม่มีคำตอบหรอก สิ่งที่มีคือคำถาม คนทำสื่อหลายครั้งไม่มีคำตอบแม้จะเป็นผู้เชี่ยวชาญกับสิ่งนั้น แต่เรามีคำถาม เราเป็นตัวแทนคนอ่านไปถามให้มันหลากหลายพอที่จะไปนำเสนอ แล้วพอเห็นชุดคำตอบที่มากพอ ในฐานะคนที่อ่านมันจะทำลายกำแพงบางอย่าง ทำให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เราว่าสิ่งที่สำคัญมาก การเชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีกที่ไม่ใช่เส้นทางปกติที่คนเชื่อๆ กัน” พี่เบลล์ตอบคำถามของเรา

และท่ามกลางสมรภูมิสื่อออนไลน์ที่ดุเดือด อีกสิ่งหนึ่งที่ยากในการทำธุรกิจในทรรศนะของพี่เบลล์คือ ทำอย่างไรให้สื่อนี้มีความหมายกับผู้ที่ติดตาม 

“ไม่ว่าทำสื่อประเภทไหนก็เจอโจทย์เดียวกันว่า ทำอย่างไรให้สื่อของเราแตกต่างเพียงพอที่คนจะมาสนใจ ขั้นต้นที่นึกออกคือทำอย่างไรให้สื่อของเราแตกต่างจากสื่ออื่น การที่มันมีสื่อในหมวดนี้อยู่แล้ว ทำไมมันต้องมีเราวะ คำถามนี้ตอบยาก แต่ถ้าตอบได้จะทำให้เรานึกออก

“อีกเรื่องหนึ่งคือทำอย่างไรให้สื่อเรามีความหมายกับคนที่ติดตาม กับแวดวงคนทำธุรกิจ หรือคนทำงาน ระดับการรับรู้มันมีหลายระดับ อ่านแบบรู้ สนุกดี มันจะมีสื่อแบบนี้เยอะ แต่ที่ยากคือทำอย่างไรให้สื่อที่เราทำมความหมาย มันจะมีบางคอนเทนต์เรารู้สึกว่าดี ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองอะไรบางอย่าง เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ยาก ทำอย่างไรที่จะรวมสรรพกำลัง เครื่องมือที่เรามี วิดิโอ บทความประเภทเขียน กิจกรรมในอนาคต ทำให้มันมีความหมายกับคน เขาอ่านแล้วไม่ใช่แค่รู้ แต่มันไปกระตุ้นให้เขารู้สึก หรือไปสนับสนุนชีวิตเขา เป็นเหมือนทุนทางด้านความรู้ความคิด เพื่อให้คนทำงานมีชีวิตที่ดีและธุรกิจดีๆ อยู่ได้อย่างยั่งยืน” พี่เบลล์ส่งท้าย

Content Creator

  • Person. Passion. Progress.

  • ช่างภาพอิสระ ผู้อิสระทางการถ่าย แต่ไม่อิสระทางการเงิน รักแมวแต่เลี้ยงเต่า ชอบกินกะเพราแต่ไม่ชอบกินผัก ไม่ชอบเจอผู้คนแต่รักในการเจออะไรใหม่ๆ แม้จะชอบใช้ชีวิตเดิมๆ