ย้อนกลับไปราว 16 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 โรงพยาบาลสมุทรปราการได้รับผู้ป่วยจำนวน 2 – 3 ราย ที่มีอาการป่วยลักษณะเดียวกัน และเป็นลักษณะอาการที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน คือ มีอาการผิวคล้ำ ผมร่วง ปากเปื่อย มือบวมพอง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และตรวจพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอีกด้วย ทีมแพทย์ตรวจสอบและสงสัยว่าอาจไม่ใช่อาการปกติทั่วไป จึงระดมทีมเพื่อหาสาเหตุและยืนยันอาการของผู้ป่วย ซึ่งจากผลการตรวจเลือด อีกทั้งการสอบสวนประวัติของผู้ป่วยทั้งสาม ได้บ่งบอกว่าผู้ป่วยได้รับสารเคมี หรือสารกัมมันตภาพรังสีบางอย่าง

โรงพยาบาลสมุทรปราการจึงประสานงานไปยังสำนักงานปรามาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตภาพรังสีเข้ามาตรวจสอบผู้ป่วย และนั่นทำให้ได้ข้อสันนิษฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลว่า ผู้ป่วยได้รับ ‘สารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์ 60’

จากการสอบสวนผู้ป่วยนั้นได้ความว่า ที่มาของเหตุการณ์เริ่มจาก ‘จิตร์เสน จันทร์สาขา’ กลุ่มซาเล้งรับซื้อของเก่า ได้ซื้อกองเศษโลหะเก่าจำนวนหนึ่งจากผู้ขายนิรนาม ที่ริมถนนย่านประเวศ และได้ชักชวน ‘สนธยา สระประทุม’ หนึ่งในกลุ่มซาเล้งรับซื้อของเก่าเหมือนกันมาร่วมด้วย เมื่อซื้อขายเสร็จ ทั้งสองได้นำเศษโลหะเก่ากลับมาตัดแยกชิ้นส่วนที่ชุมชนมหาดไทย 2 แต่ไม่สำเร็จ จึงนำไปตัดแยกต่อที่ร้านรับซื้อของเก่าในซอยวัดมหาวงศ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ จากนั้นเจ้าของร้านและลูกจ้างได้ทำการตัดแยกชิ้นส่วนโลหะออกมาตามปกติ แต่ในค่ำคืนเดียวกัน เจ้าของร้าน บุคคลที่ทำงานภายในร้าน รวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้เคียง ได้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น คือ มีอาการบวมที่นิ้วมือ อาเจียน ผมร่วง ฯลฯ เช่นเดียวกันกับ จิตร์เสนและสนธยา ที่มีอาการคันตามนิ้วมือที่สัมผัสกับเหล็ก ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียนตลอดทั้งคืน จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และมาทราบในภายหลังว่ากองเศษโลหะเก่านั้นปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี

เมื่อได้ความเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บกู้สารโคบอลต์ – 60 และจากการตรวจสอบ ก็พบว่าที่มาของโคบอลต์ – 60 แต่เดิมนั้น มาจากเครื่องฉายรังสีของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่นำเข้ามาโดยบริษัท กมลสุโกศล อิเลคทริก จำกัด และเมื่อเครื่องฉายเสื่อมสภาพ โรงพยาบาลจึงได้ขายคืนและซื้อเครื่องใหม่จากบริษัทเดียวกัน และทางบริษัทกมลสุโกศลฯ ก็นำมาเก็บไว้ที่ลานจอดรถร้างของบริษัทโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล และไม่แจ้งให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ทราบ ก่อนที่จะมีมือดีนำออกไปขายต่อให้ จิตร์เสน และ สนธยา จนเกิดเรื่องขึ้นในที่สุด

แม้การเก็บกู้สารกัมมันตภาพรังสีโคบอลต์-60 ที่บริเวณลานจอดรถร้างของบริษัทกมลสุโกศลฯ ย่านประเวศจะราบรื่น แต่ส่วนที่เป็นปัญหาใหญ่คือ การแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสี ที่บริเวณซอยวัดมหาวงศ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพราะค่อนข้างยากที่จะหาสารตกค้างในบริเวณชุมชน ทางทีมเก็บกู้เลยใช้สารที่เมื่อทำปฏิกิริยากับสารกัมมันตภาพรังสีแล้วจะเรืองแสง มาใช้ในการค้นหาและเก็บกู้ และขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขสมุทรปราการก็ได้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ เพื่อติดตามอาการของผู้คนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณนั้นด้วย

แต่การแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีก็ไปไกลเกินกว่าจะควบคุมในระยะเวลาอันสั้น ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 10 ราย บางรายต้องพิการ และมีหนึ่งรายเป็นหญิงมีครรภ์ทำให้ต้องทำแท้ง กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดจากอุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกในประเทศไทย

Content Creator

  • ช่างภาพอิสระ ผู้อิสระทางการถ่าย แต่ไม่อิสระทางการเงิน รักแมวแต่เลี้ยงเต่า ชอบกินกะเพราแต่ไม่ชอบกินผัก ไม่ชอบเจอผู้คนแต่รักในการเจออะไรใหม่ๆ แม้จะชอบใช้ชีวิตเดิมๆ