fbpx

อักษรภาษาอังกฤษมี 2 ชุดคือตัวใหญ่ ABCD และตัวเล็ก abcd ซึ่งอักษรทั้งสองแบบต่างมีลักษณะหน้าตาที่ต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง

ในวิชาภาษาอังกฤษ เราถูกย้ำนักย้ำหนาว่า “อักษรตัวใหญ่จะใช้เมื่อขึ้นต้นประโยค, ขึ้นต้นชื่อเฉพาะ และการใช้เป็นตัวย่อ” ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนมักจะมีปัญหาในการเลือกชุดอักษรในการเขียน

คำถามคือ ทำไมภาษาอังกฤษต้องมีอักษรใช้ถึง 2 แบบด้วย ใช้อักษรชุดเดียวเขียนไปเลยไม่ได้หรือไง

เดิมทีมันก็มีอักษรใช้ “เพียงชุดเดียว” แหละ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวอักษรก็วิวัฒนาการจนมี 2 ชุดสำหรับแบ่งหน้าที่ในการเขียน

ABCD เดิมมีเฉพาะอักษรตัวใหญ่

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าอักษร ABC ที่เรามักเรียกกันติดปากว่าเป็นอักษรอังกฤษ แต่ในทางภาษาศาสตร์จะเรียกกันว่า “อักษรละติน” (Latin script) หรือ “อักษรโรมัน” (Roman script) เพราะว่าอักษรนี้ถูกใช้แพร่หลายในภาษาส่วนใหญ่ของยุโรป ทั้งภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, เยอรมัน, ดัตช์ ไปจนถึงภาษาในแถบเอเชียที่รับมาใช้ทั้งภาษาเวียดนาม, มาเลย์

อักษรละติน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเดิมคืออักษรที่ใช้สำหรับเขียนภาษาละติน ซึ่งเป็นภาษาราชการที่ใช้ในจักรวรรดิโรมัน สำหรับคนเรียนประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่าโรมันเป็นชาติที่เป็นมหาอำนาจด้านการปกครอง และองค์ความรู้ต่างๆ ในยุโรปยุคโบราณ (45 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ.476)

เดิมทีภาษาละตินในยุคโรมัน (Classical Latin) มีอักษรตัวใหญ่ใช้เพียงแบบเดียว ตัวอย่างข้อความภาษาละตินในยุคนั้น จะเป็นดังนี้

GAIVS IVLIVS CAESAR
IMPERATOR CAESAR DIVI FILIVS AVGVSTVS
IMPERIVM ROMANVM
SENATVS POPVLVSQVE ROMANVS

ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมตัวอักษรมันเขียนแปลกๆ ก็เป็นเพราะว่าสมัยนั้นยังไม่มีตัว J, U และ W

หากคุณไปอ่านจารึกยุคโรมันตามโบราณสถานต่างๆ ก็จะพบตัวเขียนสไตล์นี้ทั้งสิ้น และไม่พบอักษรตัวเล็กใช้เลย

ข้อความจาก Trajan Column ใช้อักษรตัวใหญ่ทั้งหมด

ถ้าในยุคโรมันมีใช้แค่อักษรตัวใหญ่แบบเดียว แล้วอักษรตัวเล็ก abc ที่เราเขียนกันทุกวันนี้มันโผล่มาตอนไหน

คำตอบคือ หลังจากโรมันล่มไปหลายร้อยปีเลยแหละ

abcd อักษรเหลี่ยมๆ มันเขียนช้า เขียนให้โค้งมนเร็วกว่าเยอะ

แม้ว่าจักรวรรดิโรมันล่มสลายไปตั้งแต่ปี 476 และเข้าสู่ยุคกลาง แต่หนึ่งในมรดกของโรมันคืออักษรละติน ได้ถูกใช้ในภาษาต่างๆ ทั่วทั้งยุโรปดังที่เราเห็นกันในภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, เยอรมัน, ฯลฯ

ซึ่งในช่วงยุคกลางนี้เองที่อักษรตัวเล็กได้ถือกำเนิดขึ้น รวมถึงเพิ่มอักษร J, U, W ให้ครบ 26 ตัวดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้ รวมถึงบางภาษาก็เพิ่ม accent หรือขีดเล็กๆ บนตัวอักษรเพิ่มเติมด้วยเช่น é, à, ç, ü

เพราะว่าการเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ จริงๆ แล้วถือว่าช้าและยุ่งยากพอสมควร เพราะหลายตัวไม่ได้เขียนจบในขีดเดียว ต้องยกปากกาหลายครั้ง แถมบางตัวก็มีเหลี่ยมมุมหักไปหักมาอีก เช่น A, B, D, E, H, M, N, P, R, T ดังนั้นเพื่อเขียนให้เร็วขึ้น คนก็เริ่มเปลี่ยนรูปร่างอักษรให้โค้งมน และเขียนได้ภายในเส้นเดียว กลายเป็น a, b, d, e, h, m, n, p, r, t

แต่กว่าที่อักษรตัวเล็ก abc จะมีหน้าตาแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ มันได้ผ่านการแปลงเป็นรูปร่างต่างๆ หลายเวอร์ชันมาก เมื่อเทียบกับอักษรตัวใหญ่ ABC ที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่สมัยโรมัน

ต้นกำเนิดของอักษรตัวเล็กที่ใช้ในปัจจุบัน เริ่มมาจากอักษรที่เรียกว่า Uncial script ในช่วงศตวรรษที่ 4-8 จากการเอาอักษรตัวใหญ่ ABC เขียนให้โค้งมน และมีหางที่หลุดจากเส้นบรรทัดออกมา จนมีหน้าตาคล้าย abc ออกมาบ้างแล้ว

ถ้าจะบอกว่าอักษรแบบ Uncial script เป็นอักษรตัวเล็กเลยมั้ย ก็ต้องบอกว่ายังไม่ใช่ เพราะอักษรนี้ “ใช้แทน” อักษรตัวใหญ่ ABC เลยต่างหาก หรือจะบอกว่าในยุคนั้นก็ยังมีอักษรเขียนแบบเดียวอยู่ดี

ข้อความที่เขียนแบบ Uncial Script

การใช้อักษรตัวใหญ่คู่กับอักษรตัวเล็ก เริ่มขึ้นในยุคของจักรพรรดิ Charlemange (768-814) ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาราชของยุคกลาง เพราะเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรของชาวแฟรงก์ให้ยิ่งใหญ่

ชาร์ลเลอมาญนอกจากเด่นเรื่องการรบจนขยายอาณาจักรของชาวแฟรงก์จนยิ่งใหญ่ได้แล้ว ยังเป็นผู้อุปถัมภ์ด้านวิชาการอีกด้วย พระองค์ได้พัฒนาตัวอักษร Uncial Script ให้เขียนง่ายขึ้น เพื่อประชาชนสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้น จนกลายเป็น Carolingian Minuscule ที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับอักษรตัวเล็กที่เราคุ้นเคย

ขณะที่อักษรตัวใหญ่ที่เคยใช้ในสมัยโรมัน ก็นำกลับมาใช้อีกรอบเพื่อใช้ในการเขียนหัวข้อ หรือต้นประโยค จนอักษรทั้ง 2 รูปแบบถูกใช้ควบคู่กันในการเขียนภาษาต่างๆ ที่ใช้อักษรละติน ดังที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

Carolingian Minuscule จะเห็นว่ามีการนำอักษรตัวใหญ่ใช้เขียนที่ต้นประโยคด้วย

สำหรับคำเรียกอักษรตัวใหญ่-เล็ก ในภาษาอังกฤษมีการเรียกได้ 3 แบบ

Capital letter – small letter เป็นการเรียกที่มีความหมายชัดเจนตรงตัวที่สุดคือ ตัวใหญ่เรียก capital (หัว) เพราะใช้ที่หัวคำ หรือต้นคำ และตัวเล็กเรียก small (เล็ก) จากขนาดอักษร

Uppercase – lowercase มาจากการเรียงตัวอักษรเพื่อใช้ในแท่นพิมพ์สมัยก่อน โดยอักษรตัวใหญ่จะวางไว้ชั้นบน (upper) และตัวเล็กวางไว้ที่ชั้นล่าง (lower)

Majuscule – minuscule คำคู่นี้พบได้น้อยและเป็นทางการที่สุด เพราะเป็นคำเรียกจากภาษาละติน จากรากศัพท์ major (ใหญ่) และ minor (เล็ก)


อ้างอิง

Content Creator

  • ภาคภูมิ โภคทวี

    แอดมินเพจว่าด้วยเรื่องของภาษา ที่นอกจากเรื่องภาษา ยังสนใจเรื่องประวัติศาสตร์, ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ด้วย เวลาว่างชอบเล่นเกม, ดูอนิเมะ, ดูบอล และตามไอดอล เพราะเชื่อว่าสาระความรู้และสิ่งบันเทิงมันไปด้วยกันได้