“รีโมทคอนโทรล” คืออุปกรณ์สามัญที่ให้มากับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดในปัจจุบัน และที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่างหนึ่งมาเป็นเวลานาน นั่นก็คือรีโมทของ “โทรทัศน์” หรือทีวี โดยปัจจุบันเราจะคุ้นตาจากรีโมทที่มีการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อจ่ายไฟให้มันทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นถ่านไฟฉายขนาด AA, AAA หรือเป็นการชาร์ตแบตเตอรี่แล้วแต่การออกแบบของแต่ละรุ่น
แต่ในบทความนี้จะพาไปรู้จักรีโมทีวียุคแรก ซึ่งทางผู้เขียนไปพบข้อมูลมาว่า มีความแตกต่างจากรีโมทโทรทัศน์ยุคต่อมาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบันอย่างมากและหลายคนอาจทึ่งและคาดไม่ถึง ที่สำคัญคือ “ไม่ได้ใช้พลังงานไฟฟ้า”
เดิมทีรีโมททีวีแบบใช้สายต่อไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ เคยผลิตออกมาจำหน่ายอยู่แล้ว แต่ก็มีความพยายามในการพัฒนารีโมทคอนโทรลไร้สายในเวลาต่อมา
Zenith Space Command Remote Control
Zenith ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนารีโมททีวีไร้สายโดยใช้ชื่อว่า “Zenith Space Command Remote Control” โดยถือว่าเป็นรีโมทคอนโทรลไร้สายยุคแรกๆ มีชื่อเล่นของรีโมทแบบนี้คือ “คลิกเกอร์” ในปี 1956 โดยเป็นการออกแบบของ “Robert Adler” ที่ทำงานให้กับ Zenith
แต่ก่อนหน้านี้ทางทีมงานของ Zenith ได้ทดลองใช้รีโมทไร้สายที่ออกแบบโดย Eugene Polley ซึ่งรีโมทแบบนี้ยังคงมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ใช้ชื่อว่า “Zenith Flash-matic” และเปิดตัวในปี 1955 ก่อนที่จะคิดค้น Zenith Space Command 1 ปี และได้นำมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยจำหน่ายแยกจากตัวเครื่องรับโทรทัศน์
โดยมีรูปร่างหน้าตาคล้ายไฟฉาย หลักการทำงานคือ เครื่องรับโทรทัศน์จะติดตั้งอุปกรณ์รับแสงตามมุมของเครื่อง เมื่อผู้ใช้กดปุ่มที่รีโมท จะเสมือนเป็นการฉายแสงไปยังโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนช่องไปมาเรื่อยๆ จนถึงการเปิดปิดเครื่อง เนื่องจากมีแค่ปุ่มเดียวบนรีโมท โดยรีโมทจะใช้ลำแสงส่องไปยังตัวตรวจจับแสง 4 จุดที่มุมของจอ ซึ่งจะส่งสัญญาณให้ควบคุมการเปิด-ปิดภาพและเสียง รวมถึงหมุนปุ่มเปลี่ยนช่องไปในทิศตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา
โดยมีระดับการยิงคือ ถ้ายิงไปทางเซ็นเซอร์ด้านบน จะใช้ในการเปลี่ยนช่อง หากยิงไปยังเซ็นเซอร์ด้านล่างจะเป็นการเปิดหรือปิดเครื่อง ราคาของรีโมทอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ามีราคาแพงในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม รีโมทแบบนี้ผลิตขายเพียงสั้นๆ จำนวนประมาณ 30,000 ชิ้น เฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพบปัญหาว่าเซ็นเซอร์รับแสงที่ติดตั้งไว้ที่เครื่องรับโทรทัศน์มีความไวต่อแสงธรรมชาติ ทำให้แสงในห้องอาจทำให้เซ็นเซอร์ทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลทำให้ทีวีถูกสั่งการเหมือนมีการกดรีโมท (นึกว่าผีหลอกเลย)
ทำให้ทาง Zenith ต้องหารีโมทไร้สายแบบอื่นมาทำตลาด จึงกลายเป็นยุคของ “Zenith Space Command Remote Control” โดยรีโมทไร้สายแบบนี้มีจุดเด่นคือไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ใดๆ เลย ถือเป็นสิ่งที่ Zenith ตั้งใจมาก เนื่องจากบริษัทฯ ไม่อยากให้ลูกค้าคิดว่าทีวีเสียเมื่อแบตเตอรี่หมด
ซึ่งโดยการกดปุ่มบนรีโมทจะทำให้ค้อนสปริงที่อยู่ภายในกระทบแท่งอะลูมิเนียมแข็ง จากนั้นค้อนจะดังขึ้นด้วยความถี่อัลตราโซนิก ปุ่มแต่ละปุ่มจะมีแท่งอะลูมิเนียมที่มีความยาวต่างกัน จึงมีโทนเสียงความถี่สูงต่างกัน ซึ่งจะกระตุ้นวงจรที่เชื่อมต่อกับไมโครโฟนในทีวีเพื่อดำเนินการคำสั่งให้เสร็จสิ้น โดยทีวีนั้นจะตั้งโปรแกรมตามความต่างของสิ่งนี้ เช่น เพิ่มลดเสียง ปิดเสียง เปลี่ยนช่อง เปิดปิดเครื่อง เป็นการสร้างคลื่นเสียงส่งไปยังไมโครโฟนที่ติดตั้งในเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อทำงานตามโปรแกรมที่โรงงานตั้งไว้นั่นเอง!
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความต้นทาง ได้กล่าวว่า “ปุ่มตั้งสูงและแข็งแรง ทำให้การกดปุ่มนั้นแข็งและช้า และรู้สึกเกะกะ แต่ก็ช่วยประหยัดเวลาและแรงได้มากกว่าการลุกไปกดที่ทีวี แม้จะต้องการแค่เพิ่มระดับเสียงเท่านั้น”
รีโมทระบบ Space Command ของ Zenith ได้รับความนิยมมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ซึ่งรีโมทนี้มีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ผู้คนพบว่าเสียงกระดิ่งหรือเหรียญที่ดังอาจถูกไมโครโฟนของโทรทัศน์จับได้และเปลี่ยนช่องโดยไม่ได้ตั้งใจ และสัตว์เลี้ยงสามารถรับรู้ความถี่เสียงสูงจากรีโมทได้
ความต้องการของคนก็มีมากขึ้น เลยต้องกลับมาใช้ไฟฟ้า
คนเราก็มีความต้องการที่ไม่พอจริง ๆ เมื่อทีวีมีฟีเจอร์มากขึ้น มากกว่าการแค่ เปิด-ปิด เพิ่ม-ลดเสียง เปลี่ยนช่อง รวมถึงความต้องการใช้รีโมทบนเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นด้วย ทำให้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าเริ่มหาวิธีอื่น โดยพัฒนารีโมทที่ส่งสัญญาณอินฟราเรด ซึ่งมีข้อดีคือ ปุ่มกดนิ่มขึ้น มีฟังก์ชันให้กดมากขึ้น แต่ว่าก็ต้องกลับมาใช้ไฟฟ้า ทำให้ต้องกลับมาใช้แบตเตอรี่อีกครั้ง และพบว่าปุ่มรีโมทนับวันจะมีฟีเจอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้แม้นั่งอยู่ใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่สามารถกดหน้าเครื่องได้ ยังกดเอาที่รีโมท และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ปุ่มที่รีโมทมีมากกว่าปุ่มบนตัวเครื่องเสียอีก
ปุ่มเยอะมากจนสร้างความสับสน
พอมีปุ่มมากชึ้น ฟีเจอร์มากขึ้น ก็ทำให้มีโอกาสที่จะไปกดพลาดได้ หรือผู้สูงอายุอาจสับสนต่อการใช้งาน หรือรู้สึกว่ามันรกตา ต้องการกดแต่สิ่งที่ใช้บ่อยเท่านั้น จนมีภาพให้เห็นตาม Social Network ที่มักมีการนำเทปกาวมาปิดส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อเน้นเฉพาะสิ่งที่ใช้งานบ่อยเท่านั้น
จนรีโมทในยุคสมาร์ตทีวีและ Internet Set top box เปลี่ยนจากการใช้รีโมทอินฟราเรดมาเป็นบลูทูธ ทำให้มีข้อดีคือไม่ต้องจ่อไปที่อุปกรณ์เสมอไป และสั่งงานด้วยเสียงได้ และได้พยายามลดปุ่มลง ทำปุ่มให้ใหญ่ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาว่ายุคนนี้คนจะเน้นกดแต่สิ่งที่ใช้บ่อยๆ และรายละเอียดเยอะๆ ทั้งหลายไปใส่ไว้ในเมนูแทน
แหล่งที่มา : https://www.theverge.com/23810061/zenith-space-command-remote-control-button-of-the-month