ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาวงการจักรยานเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก อาจจะเพราะด้วยผู้สนับสนุนที่เล็งเห็นความสำคัญของกีฬาแบบจักรยาน และฟังก์ชั่นที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นฟังก์ชั่นสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่นับ Soft Power จากการ์ตูนญี่ปุ่นนับเป็นสิบๆ ปีที่แทรกซึมเข้าสู่คนยุค Gen Y-Z ไม่น้อย จนเป็นแรงบันดาลใจให้กีฬาจักรยานกลายเป็นหนึ่งความฝันที่ใครหลายๆ คนอยากเข้าหาและเข้าถึง
วันนี้เราขอพาทุกคนไปรู้จักผู้ชายคนหนึ่ง อายุไล่เลี่ยจากผมไปแค่ 2 ปี แต่เป็นดีกรีถึงแชมป์ประเทศไทยในด้านจักรยานเลยทีเดียว ชื่อของเขาก็คือ เฟรม-ธนาคาร ไชยยาสมบัติ ผู้ที่เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในประเภท Road Race (โรดเรซ) และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปีที่ไทยส่งนักกีฬาบุคคลชายของประเภทนี้ไปแข่งอีกด้วย
เฟรมเป็นใคร? ทำไมจู่ๆ ถึงดัง?
เฟรม หรือชื่อจริง “ธนาคาร ไชยยาสมบัติ” เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต โดยเรียนในคณะการจัดการธุรกิจและการเงิน สาขาวิชาการจัดการองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ เฟรมเกิดและเติบโตในครอบครัวที่จังหวัดเชียงราย และปัจจุบันมีอายุ 25 ปี โดยก่อนหน้านี้เฟรมได้รางวัลนักปั่นเอเชียยอดเยี่ยม ประจำทัวร์ออฟไต้หวัน 2023 และรางวัลนักปั่นยอดเยี่ยมอาเซียน 6 วัน 6 สเตจ ทัวร์ออฟไทยแลนด์ 2024
นอกจากนี้เฟรมยังผ่านประสบการณ์การแข่งที่หลากหลาย ตั้งแต่เวทีเล็กๆ จนไปถึงเวทีระดับนานาชาติ และทำผลงานได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เวลารวม 6 วัน 6 สเตจ ทัวร์ออฟไทยแลนด์ 2024, การคว้า 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน การแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 30 ประเทศฟิลิปปินส์ และยังคว้ารางวัลแชมป์ประเทศไทยรุ่นประชาชนชาย ประเภทถนนโรดเรซ ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 รวมไปถึงรางวัลแชมป์ประเทศไทยรุ่นประชาชนชาย ถ้วยพระราชทาน “คิงส์ภูมิพล“ ประเภทถนนไทม์ไทรอัล ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2567 อีกด้วย
จุดเริ่มต้นในการ “ขี่จักรยาน” ของนายเฟรม
เฟรมเริ่มต้นด้วยการขี่จักรยานคันแรก ซึ่งเป็นจักรยานพลาสติกพร้อมแปะเบอร์แข่งของคุณพ่อ ซึ่งในขณะนั้นก็เป็นนักแข่งจักรยานเช่นกัน เพราะว่าเฟรมและพี่สาวเห็นคุณพ่อออกไปปั่นจักรยานทุกวัน บางวันก็มีแผล บางวันก็มีโคลนเข้ามา เฟรมจึงสงสัยและอยากที่จะมีจักรานแบบคุณพ่อบ้าง หลังจากนั้นจึงเริ่มพัฒนาการขี่จักรยาน โดยเริ่มจากการขี่จักรยานเสือภูเขาตอนอายุ 5 ปี คุณพ่อพยายามหาวัตถุดิบในการประกอบให้เป็นจักรยาน เพราะเนื่องจากเฟรมเองเป็นคนตัวเล็ก ทำให้ไม่สามารถใช้จักรยานแบบคนอื่นๆ ได้ จนกระทั่งไปเจอที่ร้านนอร์ทเทิร์นไบค์ เชียงราย และจึงเริ่มปั่นด้วยความอยากปั่น มีการซ้อมกับคุณพ่อเป็นระยะๆ ในตัวเมืองจังหวัดเชียงราย
ดอยผาหมีเป็นหนึ่งในเส้นทางที่คนอื่นไม่ชอบ แต่เฟรมกลับชอบ และเฟรมก็จะขอคุณพ่อปั่นขึ้นเขาบ่อยๆ โดยเป็นการปั่นรวดเดียวตั้งแต่ขึ้นเขาจนถึงลงเขาเลยทีเดียว โดยหลังจากซึมซับบรรยากาศการแข่งขันจึงค่อยๆ เริ่มชื่นชอบกีฬาจักรยาน แต่ในช่วงอายุ 8-10 ปีก็มีการไปแวะค้นหาตัวเองผ่านการเล่นกีฬาต่างๆ เช่น ฟุตบอล, บาสเก็ตบอล และไตรกีฬา รวมถึงเล่นดนตรี จนสุดท้ายตนเองรู้สึกว่าชื่นชอบกีฬาจักรยาน จึงกลับมาโฟกัสการแข่งจักรยานอย่างจริงจัง โดยคุณพ่อสนับสนุนให้ไปแข่งขันผ่านการส่งไปแข่ง โดยเริ่มจากการแข่งจักรยานเสือภูเขาก่อน เนื่องจากในยุคนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก
คุณพ่อ ผู้จุดประกายให้ตั้งเป้าหมายระยะไกลมากขึ้น
คุณพ่อของเฟรมมองว่าการแข่งขันของเฟรมไม่ได้เพื่อจะให้เฟรมได้ที่หนึ่ง แต่จะเน้นการทำลายสถิติของตนเองให้มากขึ้น เพราะคุณพ่อมองว่าการแข่งขันในตอนนั้นคือการทำลายสถิติตัวเองตลอดเวลา ทำให้เวลาซ้อมเฟรมจะต้องผ่านการซ้อมการขี่จักรยานแบบจับเวลา ซึ่งต่อมากลายมาเป็นอาวุธชั้นดีของเฟรม เพราะตัวเฟรมเองเพิ่งมาทราบทีหลังว่านี่คือการแข่งขันแบบ Time Trial (ไทม์ไทรอัล) ซึ่งก็คือการปั่นจักรยานแบบจับเวลา โดยจะปล่อยตัวทีละคน และคนที่ใช้เวลาปั่นน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และเฟรมจะเริ่มต้นจากการจับเวลาปั่นจากตีนเขาถึงยอดเขา หลังจากการปั่นเสร็จถึงมาคุยและปรับปรุง พัฒนาตนเองต่อไปนั่นเอง
คุณพ่อมักจะเป็นผู้ผลักดันเฟรมให้ลงไปแข่ง อาจจะเพราะด้วยการสานฝันของคุณพ่อต่อ และการเห็นแววที่ชัดเจนมากๆ ของเฟรมในการแข่งขันกีฬาประเภทจักรยาน ซึ่งเฟรมได้แข่งตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงระดับประเทศ ลงทุกสนามและทุกภาคเลยก็ว่าได้ ซึ่งไม่ว่าจะแพ้หรือชนะคุณพ่อก็ยังคงสนับสนุนอยู่เสมอๆ และในช่วงอายุ 13 ปี เฟรมได้เริ่มลองปั่นจักรยานเสือหมอบผ่านการให้จักรยานของคุณพ่อ ซึ่งก็ได้ลงแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย เนื่องจากใกล้บ้านมากๆ จนไปแตะตาโค้ชเปี๊ยก (ไพโรจน์ อินต๊ะปัญญา) จึงไปคุยกับคุณพ่อและนำไปฝากกับโค้ชเปี๊ยกพัฒนาความสามารถต่อ
เริ่มต้นแข่งขับโรดเรซอย่างเดียว เพราะเห็นแววมากขึ้น
เฟรมเล่าให้ฟังต่อว่ามีสนามหนึ่งที่เฟรมต้องแข่งถึง 3 วันในรุ่นยุวชน คือแข่งหมด จนเข้าสู่วันที่ 3 เฟรมก็เริ่มท้อ โค้ชเปี๊ยกจึงแนะนำว่าให้เเลือกโรดเรซดีกว่า และหลังจากนั้นจึงปรับวิธีการซ้อมไปจนถึงการลงสนามแข่งขัน การส่งเฟรมไปแข่งในประเภทโรดเรซแทน และนั่นทำให้เฟรมเองมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว โดยส่งไปแข่งในฐานะทีม Singha Infinite Cycling Team แน่นอนว่าเฟรมคว้าชัยได้ทุกสนามในประเภท Time Trial รวมถึงได้แชมป์โรดเรซในบางสนาม และได้คะแนนรวมดีในแชมป์ประเทศไทย ภายใต้แววที่มองเห็นของโค้ชตั้ม (วิสุทธิ์ กสิยะพัท) ที่ดึงเฟรมเข้าสู่ทีมแบบม้ามืดมากๆ และคว้าชัยแบบม้ามืดขั้นสุด
โดนกล่าวหาว่า “โด๊ปยา”
ในขณะที่แข่งสนามแรกของระดับประเทศแล้วเฟรมก้าวเข้าสู่ที่สามในสนามนั้น จู่ๆ ก็มีรุ่นพี่ที่ได้อันดับต่ำกว่าเฟรม เดินเข้ามาพูดกับเฟรมด้วยประโยคที่ว่า “โด๊ปยาเหรอ” ทำให้ตอนนั้นเฟรมอึ้งไปสักพักใหญ่ จนตอบไม่ถูกไปสักพัก เนื่องจากเฟรมเองนึกว่าเขาคนนั้นจะมาดีใจกับตัวเขาเอง และตอบไปว่าไม่ได้โด๊ป เพราะไม่ได้โด๊ปจริงๆ นอกจากเฟรมแล้วรุ่นพี่ที่แข่งในสนามนั้นก็ได้ยินทั้งหมด จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เฟรมลุกขึ้นแล้วพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นผ่านความสามารถตัวเอง มากกว่าที่จะโดนกล่าวหาว่าใช้ยา
เฟรมและครั้งแรก (ที่หลายๆ ครั้ง) ของเขา
เฟรมก้าวเข้าสู่เวทีต่างๆ และชนะในทุกเวทีแบบไม่มีข้อครหา หลังจากที่ได้แชมป์ประเทศไทย สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยจึงส่งหนังสือเชิญชวนให้เฟรมก้าวเข้าสู่ทีมชาติไทย นับเป็นความภาคภูมิใจของเฟรมและครอบครัวที่จะได้แข่งในฐานะทีมชาติไทย เฟรมจึงตั้งใจซ้อมเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านร่างกาย อาหาร และจิตใจ โดยการเรียกตัวเชิญชวนไปครั้งนี้เพื่อส่งเฟรมไปเก็บตัวที่ชุมชนจักรยานเกาหลีเป็นระยะเวลา 90 วันพร้อมกับพี่ทีมชาติอีกคน และโค้ชแป้ง เฟรมได้เรียนรู้การใช้ภาษาอังกฤษครั้งแรกก็จากที่นั่นเช่นกัน จึงกลับมาเรียนรู้ภาษาอังกฤษเช่นกัน
หลังจากนั้นเฟรมเริ่มได้รับประสบการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งการได้เป็นเด็กศูนย์ฝึกของสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการแข่งขันที่ญี่ปุ่นแล้วได้รางวัลเป็นครั้งแรกของคนไทย และแชมป์ไต่เขาที่สวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน หลังจากนั้นในอายุ 19 ปี สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยก็เรียกให้ติดทีมชาติต่อเลยทันที เพราะผลงานของเฟรมเอง รวมถึงความโดดเด่นที่เฟรมทำมันได้ดีมากๆ จนทำให้เฟรมชนะ Asia Tour ได้
ร่างกายไปต่อไม่ไหว จนเกลียดการปั่นจักรยาน?
เฟรมเดินทางเข้าสู่ช่วงอายุ 20 ปี และนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์สภาวะด้านร่างกายที่ไม่พร้อมต่อการขี่จักรยาน เนื่องด้วยการแข่งประเภทถนน Road Race จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการแข่งขันมากกว่า 4-5 ชั่วโมง และเป็นการแข่งขันที่ยาวนานมากๆ ถ้าให้นึกภาพ คงเหมือนการแข่ง Tour De France แน่นอน ซึ่งเฟรมอยู่ในสภาวะดิ่งดาวน์ อาจจะเพราะด้วยการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม และความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว โดยเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันจนทำให้เฟรมไม่สามารถประคองทีมได้ จนกระทั่งเฟรมได้มีโอกาสกลับบ้านไปคุยและเจอกับคนคุ้นเคย ทำให้เฟรมได้กลับมาค่อยๆ ฟื้นฟูจิตใจให้ “ใจฟู” ขึ้น
จนกระทั่งเฟรมต้องกลับไปเก็บตัวเพื่อแข่งเอเชี่ยนเกมส์อีกครั้ง เฟรมจึงกลับมาตอบได้ว่าตัวเองชื่นชอบจักรยานจริงๆ ทำให้เฟรมฟื้นฟูจนทำให้มีรายชื่อแข่งขันอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกที่แข่งเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 และเฟรมคว้าอันดับที่ 7 ในการแข่งขันครั้งแรกมาครอง! และกลายเป็นกำลังใจชั้นดีเยี่ยมของเขาเลยทีเดียว รวมถึงได้แข่งขันในซีเกมส์ครั้งที่ 30 และยังเป็นครั้งแรกของเขาเช่นกัน ซึ่งเขาจบการแข่งขันด้วยการได้ 1 เหรีญทอง และ 1 เหรียญเงินที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย!
เฟรม Influencer ที่ปั่นจักรยานได้ “นิดหน่อย”
เฟรมเริ่มหันเหเข้าสู่นักกีฬาที่ทำคอนเทนต์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งปีนี้ก็ก้าวสู่ปีที่ 3 แน่นอนว่าเฟรมโดนกระแสตีกลับในช่วงแรกๆ ของการทำที่เขาถ่ายคลิปว่า “ทำไมไม่ซ้อมบ้าง” หรือบางครั้งก็ดูถูกบ้าง แต่เฟรมก็ไม่ได้สนใจ ส่วนหนึ่งเพราะตนเองมีวินัยในการซ้อมมาโดยตลอด และแรงสนับสนุนของครอบครัว โดย “พี่สาว” ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้จัดการส่วนตัวและเป็นแรงหนุน เพราะเฟรมมักจะชอบดูคลิปของนักกีฬาต่างชาติอยู่บ่อยๆ
คลิปที่เฟรมกลายเป็นที่โด่งดังมากๆ คือคลิปบน TikTok ที่รีวิวพินต่างชาติและรีวิวห้องพักนักกีฬาในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้ จนหลายสำนักข่าวต่างพูดถึงจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเฟรมเชื่อว่าการทำคอนเทนต์ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับภาพลักษณ์ของตัวเอง การเป็นนักกีฬาก็สามารถทำคอนเทนต์ได้เช่นกัน และนั่นทำให้เฟรมกลายเป็นที่โดดเด่นในฐานะ Sport Influencer ที่มีหลายแบรนด์ทาบทามเข้ามาจีบและได้ลงบนพื้นที่สื่ออยู่บ่อยครั้งนั่นเอง
เป้าหมายไปโอลิมปิก ไม่ง่ายและท้าทายที่สุด
เฟรมได้รับโอกาสอีกครั้งภายใต้การผลักดันของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในการร่วมเข้าไปเก็บคะแนนให้ประเทศไทย เพื่อสร้างอันดับและเพื่อให้ได้ตั๋วโอลิมปิกที่ปารีส โดยเฉพาะทีมชายที่มีความท้าทายสูงมากๆ ในการแข่งขัน และโอกาสได้ตั๋วก็ยากมากจริงๆ สุดท้ายทำให้อันดับประเทศไทยก้าวเข้าสู่การได้ตั๋วโอลิมปิก 1 ใบในฐานะประเทศไทย และเฟรมก็ได้ตั๋วใบนั้นในประเภทของโรดเรซ เพราะผลงานของเฟรมเป็นที่ประจักษ์มากๆ
3 สิงหาคม 2567 “เฟรม-ธนาคาร ไชยยาสมบัติ” นักกีฬาประเภทจักรยาน เข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิก ที่รอบนี้ได้โควต้าลงแข่งประเภท Road Race หรือจักรยานประเภทถนนนั่นเอง แน่นอนว่าเขาไม่ได้ชนะ แต่เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับโอลิมปิกและคนไทยไปแล้วตั้งแต่วันที่เขาได้ลงแข่ง
Road Race แข่งอย่างไรในโอลิมปิกครั้งนี้?
Road Race หรือการแข่งขันจักรยานประเภทถนนในโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสนั้น ใช้วิธีการแข่งขันแบบปล่อยทุกคนออกจากจุดเริ่มต้นพร้อมกัน หรือที่เรียกว่า Mass Start โดยรอบนี้มีระยะการปั่นจำนวน 272.1 กิโลเมตร โดยเป็นการ “ปั่นวันเดียวจบ” ความโหดของเส้นทางนี้คือการเริ่มต้นปล่อยนักปั่นจักรยาน 90 คนจากกรุงปารีส ในช่วงเวลา 11.00 น. ตามเวลาในฝรั่งเศส และต้องปั่นขึ้นเขาทั้งหมดกว่า 13 ลูก! ตลอดระยะเวลาจนถึงเส้นชัยที่สวนทร็อคคาเดโร่ในเวลาประมาณ 18.00 น.
ซึ่งในการแข่งขันรอบนี้ เหรียญทองเป็นของ Remco Evenepoel จากทีมชาติเบลเยี่ยม ซึ่งปีนี้ทีมชาติเบลเยี่ยมส่งนักกีฬาไปแข่งขันในชนิดกีฬานี้ทั้งหมด 4 คนด้วยกัน ส่วนเหรียญเงินและทองแดงตกเป็นของ Valentin Madouas และ Christophe Laporte ทั้งสองมาจากทีมชาติฝรั่งเศสนั่นเอง ในขณะที่ไทยส่ง “เฟรม-ธนาคาร ไชยยาสมบัติ” ตามโควต้าของ UCI หรือ สหภาพจักรยานระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไปเก็บอันดับเพื่อให้ได้ดควต้านี้มา โดยการนำของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย และก็ได้อันดับมาครอบทำให้สามารถคว้าที่นั่งในโอลิมปิกมาได้ และตั๋วใบนี้ก็เป็นของเฟรมในที่สุด
แล้วไทยอยู่ในจุดไหนของการแข่งขัน?
ต้องบอกว่าเฟรมเองพยายามทำผลงานได้ดีในช่วงแรก ด้วยการอยู่ใน “กลุ่มหนี” หรือ breakaway กลุ่มแรก โดยในกลุ่มนี้มีนักกีฬาทั้งหมด 5 คน และแน่นอนว่าเฟรมอยู่ในกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่เวลา 11.05 น. จนก้าวไปเป็นนักปั่นผู้นำ 8 คนในช่วงเวลา 14.52 น. และหลุดจากกลุ่มหลัก กลายเป็น DNF หรือ Did Not Finish คือการหลุดจากกลุ่มผู้นำ ทำให้ถูกตัดออกจากการแข่งขัน ไม่ใช่เป็นการั่นไม่จบเส้นชัยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากใครติดตามจากการถ่ายทอดสดนั่น เฟรมยืนระยะการอยู่ในกลุ่มหนีและได้ airtime ในฐานะตัวแทนประเทศไทยไปมากพอสมควร ยืนระยะเกือบ 4 ชั่วโมง ทั้งการโชว์ศักยภาพและภาพไวรัสอย่าง “การโชว์พินโอลิมปิกไทย” อีกด้วย และนี่กลายเป็นการโปรโมทตัวเฟรมและสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยไปในตัวว่า “ฉันก็มีดีมากพอที่จะมายืนอยู่ในโอลิมปิก ถึงแม้ประเทศของฉันจะะเล็กในสายตาทุกคนก็ตาม” เฟรมปั่นนำกลุมไปได้เกินร้อยกิโลเมตร จนสุดท้ายโดยนักปั่นฝั่งยุโรปแซงได้ เฟรมถึงได้เป็น 1 ใน 13 นักปั่นที่ DNF ในที่สุด
ไม่ชนะ แต่ไม่ได้แพ้?
เฟรมให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า หลังจากจบการแข่งขัน ตนเองรู้สึกว่าขสไม่เหลือแรงอะไรแล้ว ยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ เพราะระยะทางค่อนข้างโหด แต่ตัวเองก็ประสบความสำเร็จที่ได้ปั่นจนถึงที่สุดแล้วที่ร่างกายไปไม่ไหว ซึ่งตรงกับความคาดหวังในครั้งนี้ ซึ่งการเกาะกลุ่มเป็นผู้นำในครึ่งแรกนั้น ใช้วิธีการมาจากโอลิมปิกที่โตเกียว เมื่อปี 2020 ที่เน้นการนำก่อน เพื่อจะได้มีเวลาไปถึงจุดสำคัญก่อน และตามเก็บจนเข้าเส้นชัยได้เร็ว และในการปั่นครั้งนี้ตนเองก็พกพินธงชาติไทย และเครื่องรางด้วยเช่นกัน คือเหรียญหลวงปู่ และท้าวเวสสุวรรณ นอกจากนี้อีกสิ่งที่ทำให้การปั่นสนุก คือการมีกองเชียร์เต็มพื้นที่รอบการแข่งขัน ทำให้บางครั้งตนเองก็หายเหนื่อยไปเลย ตนเองขอบคุณทุกคนที่เชียร์มากๆ และการแข่งครั้งนี้คือโอกาสที่หาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว ที่ประเทศไทยอยู่ในหมุดหมายและสายตาของชาวโลกในขณะที่แข่งกับมืออาชีพจากทั่วโลกเช่นกัน
อ้างอิง
– https://www.siamsport.co.th/other-sports/sports-world/57160/
– https://thestandard.co/paris2024-31072024-5/
– https://stadiumth.com/asian-games/highlight/detail?id=96
– https://www.facebook.com/watch/?v=998276118690746
– https://www.facebook.com/watch/?v=368810299346577
– https://www.facebook.com/FrameThanakhan/videos/1020247263014219/