fbpx

พูดถึงเรื่องของฟอนต์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือแง่มุมของ “จุดประสงค์” ของมัน ทั้งในแง่จุดประสงค์ของการสร้างสรรค์ แนวคิดที่ทำให้ออกแบบฟอนต์ออกมา เป้าหมายของการมุ่งหวังว่าใครจะเป็นผู้นำไปใช้ หรือสัดส่วน และองค์ประกอบทุกอย่างที่เรามองเห็นได้ผ่านรายละเอียดของฟอนต์ที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดี

อย่างใน Gilbert ฟอนต์ที่มีลักษณะดูทั่วไป แต่มีจุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของผู้ที่มีคุณูปการคนหนึ่งของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่าง Gilbert Baker ซึ่งเราเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จักว่าเขาคือใคร แต่ถ้ากล่าวถึง ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี และสิ่งนี้เองถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้โดยคุณกิลเบิร์ตนั่นเอง

มาร่วมรู้จักเธอ สิ่งที่เธอได้สร้างขึ้น และสิ่งที่ผู้คนสร้างขึ้นเพื่อมอบชีวิตใหม่หลังความสูญเสียให้เธอกัน

ภาพคุณ Gilbert Baker – รูปจาก gilbertbaker.com

Gilbert Baker
ผู้ยืนหยัด ศรัทธาตัวตนของตัวเอง ผ่านการออกแบบ

กิลเบิร์ต เบเกอร์ เกิดที่แคนซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1951 เธอเติบโตในบ้านเมืองที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง เป็นเด็กผู้ชายที่ชื่นชอบด้านศิลปะและการออกแบบแฟชั่นตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ชีวิตของเขาค่อนข้างห่างเหินกับเพื่อนคนอื่นๆ

ในช่วงหนึ่งที่ใช้ชีวิตโดยการเลือกเป็นทหารสหรัฐ เธอพบกับกลุ่มคนประเภท homophobia ในระหว่างการฝึก เธอจำเป็นต้องเลือกกลุ่มอาชีพใหม่ภายในค่าย เธอเลือกเป็นแพทย์ทหาร และอาชีพนี้ในค่ายทหารก็ทำให้เธอถูกย้ายตัวไปยังซานฟรานซิสโก ที่นั่นเธอพบกับโลกใหม่ที่ทำให้เธอสามารถเปิดเผยตัวตนความเป็นเกย์ได้อย่างสบายใจมากขึ้น

ภายหลังการเป็นทหาร เธอเลือกใช้ความสามารถด้านการออกแบบของเธอ ออกแบบธง และป้ายผ้าสำหรับใช้ในการเรียกร้องสิทธิให้กับเกย์และเลสเบี้ยนในซานฟรานซิสโกมากมายหลายครั้ง ตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงคำแนะนำจาก ฮาร์วีย์ มิลก์ นักการเมืองชาวอเมริกันคนแรกที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้างาน และเพื่อนของเธอด้วย

ความสามารถในด้านการออกแบบธง และป้ายผ้าของเธอเพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว ทำให้เธอได้ทำงานที่ Paramount Flag Company บริษัทผู้ผลิตและสร้างสรรค์ธงแห่งซานฟรานซิสโก้ เธอสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่น่าสนใจที่นั่นหลายต่อหลายงาน และทำให้เธอมีชื่อเสียง ได้รับโอกาสในการออกแบบธงสำหรับงานสำคัญๆ มากมาย ทั้งการมาเยือนของประมุขแห่งรัฐและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ รวมถึงงานชิ้นใหญ่ของเธอในการออกแบบแบนเนอร์ให้กับงาน Democratic National Convention ในปี 1984 ที่ Moscone Center สหรัฐอเมริกา

ภาพงานแบนเนอร์ 1984 Democratic Convention – รูปจาก gilbertbaker.com

ซึ่งหลังจาก Paramount Flag Company ปิดตัวลง เธอยังคงมีงานหลากหลายงานจากลูกค้าที่สนใจงานที่เธอทำ เช่น The San Francisco Symphony Black and White Ball คอนเสิร์ตร็อคใน Golden Gate Park รวมถึงออกแบบงานแสดงริมถนนในงาน Gay pride หลายต่อหลายปี

นอกจากงานที่เกี่ยวกับธงของเธอ เธอยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประเภทอื่นเพื่อเชิดชู และเฉลิมฉลองของกลุ่มเพศหลากหลายอีกมากมายที่ทำให้ผู้คนมองเห็น และให้ความสนใจกับความหลากหลายทางเพศบนโลกใบนี้มากขึ้น

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เธอได้รับเชิญในฐานะผู้สร้างคุณูปการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านกิจกรรมแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQ+ ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ฟิลาเดลเฟีย นิวยอร์กซิตี้ โตรอนโต ซานฟรานซิสโก ลอนดอน สตอกโฮล์ม แวนคูเวอร์ และวินนิเพก

และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2016 กิลเบิร์ตเดินทางมาถึงจุดสูงสุดจุดหนึ่งในชีวิตการเคลื่อนไหวด้านกลุ่มเพศหลากหลายของเธอ เธอได้รับเชิญไปที่ทำเนียบขาวเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงฉลองเดือนแห่ง LGBT Pride ที่นั่น เธอได้มอบธงสีรุ้งที่ย้อมด้วยมือให้กับประธานาธิบดี บารัค โอบามา

เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2017 ขณะกำลังนอนหลับที่บ้าน และอยู่ในการวางแผนเดินทางกลับบ้านในวัยเด็กที่เมืองพาร์สันส์ รัฐแคนซัส ทางด้านพิธีรำลึกของกิลเบิร์ต จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ที่ซานฟรานซิสโกและนิวยอร์กซิตี้ มีผู้คนมากมายมาร่วมไว้อาลัย และรำลึกถึงสิ่งที่เธอฝากไว้หลายสิ่งบนโลกนี้

ภาพธงสีรุ้ง Rainbow Flag รุ่นแรก – รูปจาก gilbertbaker.com

Rainbow Flag
ไม่ใช่แค่ธง แต่คือผู้คน

“ธงที่แท้จริงไม่ใช่สิ่งที่คุณสามารถออกแบบได้จริงๆ
ธงที่แท้จริงถูกฉีกออกจากจิตวิญญาณของผู้คน ธงเป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นเจ้าของ
และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงส่งผลกระทบบางอย่างกับผู้คนได้
ธงสีรุ้งก็เหมือนกับธงอื่นๆ ในแง่นั้น มันเป็นของประชาชน”

กิลเบิร์ตกล่าวถึงความหมายของธงได้น่าสนใจ การมีอยู่ของธง คือเจตจำนงบางอย่างของผู้คนบางกลุ่ม เป็นหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้ตัวตนของสิ่งนั้นชัดเจนมากขึ้น จากทั้งในแง่ของการให้ความหมาย และการเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ ในการประกอบสร้างให้เป็น “ธง”ขึ้นมา

ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) ของกิลเบิร์ตก็เช่นเดียวกัน

ในวันที่ 25 มิถุนายน 1978 กิลเบิร์ตได้ย้อมสี และตัดเย็บ “ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag)” เป็นครั้งแรก โดยได้รับแรงบันดาลใจในการทำศิลปะผ่านธงผืนนี้ขึ้นมาจากเพลง Over the Rainbow ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Wizard of Oz ขับร้องโดย Judy Garland นักร้องและนักแสดง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนคนแรก และแรงบันดาลใจอีกส่วนจาก ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ (Five Races Under One Union) ที่ใช้ในช่วงการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้การปกครองของจีนเปลี่ยนไปสู่รูปแบบประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน ธงผืนนี้ถูกออกแบบให้เป็นธง 5 สีเรียงกันตามแนวนอน ประกอบไปด้วยสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาว และสีดำ

ชื่อเต็ม ๆ ของธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต คือ ธงสีรุ้งแห่งความภาคภูมิชุมชนหลากหลายเพศ (Rainbow LGBT Pride Flag) มีขนาดอยู่ที่ 30 – 60 ฟุตโดยประมาณ กิลเบิร์ตเลือกใช้ 8 สี ในการออกแบบธงผ่านการเรียงต่อกันในแนวนอน ไล่ลงมาจากด้านบนสู่ด้านล่างในขนาดที่เท่ากัน ประกอบไปด้วยสี และการให้ความหมายของแต่ละสีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ดังต่อไปนี้

1. สีชมพูสดเฉดฮอตพิงก์ (Hot Pink) – เพศวิถี (Sex)
2. สีแดง (Red) – ชีวิต (Life)
3. สีส้ม (Orange) – การเยียวยา (Healing)
4. สีเหลือง (Yellow) – แสงตะวัน, แสงอาทิตย์ (Sunlight)
5. สีเขียว (Green) – ธรรมชาติ (Nature)
6. สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) – ศิลปะความสามารถ (Art)
7. สีคราม (Indigo) – ความกลมเกลียว, ความปรองดอง, ราบรื่น, แจ่มใส (Harmony)
8. สีม่วง (Violet) – จิตวิญญาณของมนุษย์ (Spirit)

โดยธงผืนนี้ถูกใช้ครั้งแรกในขบวน Gay Freedom Day Parade ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นพาเหรดเพื่อการเรียกร้องจากเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เหตุการณ์ในปี 1969 ที่ชุมชนชาวเกย์อเมริกัน (กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) รวมตัวกันเพื่อประท้วงตำรวจอเมริกัน ที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จากสภาพแวดล้อมทางสังคมในช่วงนั้นที่มีการต่อต้านการรักร่วมเพศเป็นอย่างสูง

ซึ่งเหตุการณ์การจลาจลครั้งนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่นำไปสู่ขบวนการปลดแอกเกย์ และเป็นการต่อสู้ในยุคใหม่เพื่อสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในช่วง 1 ปีหลังเหตุการณ์จลาจล ได้มีการจัด Pride parade ครั้งแรกขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1970 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ ในนิวยอร์กซิตี, ลอสแอนเจลิส และซานฟรานซิสโก

ต่อมาธงสีรุ้งของกิลเบิร์ตถูกแก้ไขอีกครั้ง โดยการนำสีชมพูสด และสีเทอร์ควอยซ์ออก เพราะเป็นสีพิเศษที่ยากต่อการผลิต และเพื่อให้การผลิตดำเนินไปอย่างง่ายขึ้นจึงจำเป็นต้องลดสีในธงสีรุ้งลงเหลือแค่ 6 สี คือ สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีม่วง โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ของการให้ความหมายแต่อย่างใด ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายของความแตกต่างหลากหลายทางเพศไว้ครบทุกประการ

นับตั้งแต่ Rainbow flag ของกิลเบิร์ตกลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงออกของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก ธงผืนนี้ก็ได้มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของกลุ่มเพศหลากหลายในเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย อย่างในเดือนมิถุนายน 1994 กิลเบิร์ตได้สร้างสถิติโลกด้วยการตัดเย็บธงสีรุ้งที่มีความยาว 1 ไมล์ (30 x 5,280 ฟุต) เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีของการจลาจลสโตนวอลล์ที่กล่าวไว้เมื่อครู่ โดยผืนธงผืนนี้ใช้คนกว่า 5,000 คน ในการถือตลอดแนวความยาวธง และในปี 2003 มีกิจกรรม 25th Anniversary Sea to Sea Flag เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ให้กับธงสีรุ้งของเขาเอง ได้ทำลายสถิติโลกของตัวเองด้วยการสร้างธงสีรุ้งที่มีความยาว 1.25 ไมล์ ซึ่งเป็นความยาวที่สามารถทอดยาวตั้งแต่อ่าวเม็กซิโกไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติกได้ และได้ทำลายสถิติก่อนหน้าของตัวเองเมื่อ 9 ปีที่แล้วอีกด้วย ธงผืนนี้นี้ถูกตัดออกเป็นส่วนๆ เพื่อแจกจ่ายไปยังเมืองต่างๆ มากกว่า 100 เมืองทั่วโลก

อย่างในเมืองไทยเราเอง ธงสีรุ้งก็มีบทบาทมากขึ้นจากการเปิดกว้าง และยอมรับในกลุ่มเพศหลากหลายที่มากกว่าในสมัยก่อน ธงสีรุ้งปรากฏตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเพศหลากหลายมากมาย รวมถึงแคมเปญต่าง ๆ ที่มีคนจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

Gilbert Font

ไม่ใช่แค่ฟอนต์ แต่คือสิ่งเตือนใจความพยายามของกิลเบิร์ต
ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้คนให้กว้างขึ้นอย่างในทุกวันนี้

เข้าเรื่องกันเสียที ที่ปูเรื่องราวมานานเพื่อจะให้ได้ทำความรู้จักกับคุณกิลเบิร์ต ว่า “คุณูปการ” ต่อสังคมโลกของเธอเป็นมาอย่างไร และนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมต้องเกิดฟอนต์สีสันสดใสที่ชื่อ Gilbert ขึ้นมา

ฟอนต์ Gilbert เกิดขึ้นมาหลังจากการเสียชีวิตอย่างสงบของกิลเบิร์ตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2017 จัดทำขึ้นโดยการร่วมมือของกลุ่มสื่อและภาพยนตร์ของ LGBTQ+ ในนิวยอร์กอย่าง NewFest, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในนิวยอร์กอย่าง NYC Pride และค่ายฟอนต์ Fontself รวมตัวกันในนามของ Type With Pride ออกแบบฟอนต์นี้ขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2017 เพื่อเป็นเกียรติให้แก่กิลเบิร์ต โดยออกแบบผ่านตัวตน และอาศัยภาพลักษณ์ของธงสีรุ้งมาใช้ในการออกแบบฟอนต์นี้ รวมถึงตั้งชื่อฟอนต์ว่า Gilbert ตามชื่อของเธออีกด้วย

ฟอนต์ Gilbert เป็นฟอนต์ภาษาอังกฤษรูปแบบ Sans serif เน้นการใช้รูปทรงเราขาคณิตในการออกแบบ อีกทั้งจุดเด่นของฟอนต์นี้คือการมีฟอนต์ในรูปแบบ animate font และ color font กล่าวคือ ปกติเวลาเราใช้ฟอนต์ หน้าที่ของเราคือการเลือกฟอนต์ แล้วค่อยเลือกสีเคลือบมันอีกต่อหนึ่ง หรือค่อยทำโมชั่นกราฟิกให้มันสามารถถขยับได้อีกต่อหนึ่ง แต่ animate font และ color font ไม่ใช่ เพราะฟอนต์ทั้งสองประเภทนี้ทั้งมีทั้งขยับได้ และใส่สีมาให้เลย

animate font เป็นฟอนต์ที่ออกแบบรูปแบบการเคลื่อนไวของรายละเอียดต่างๆ ในฟอนต์มาให้อย่างเสร็จสรรพ ปกติเวลาเราใช้ฟอนต์ในการทำ motion graphic เราจะเลือกฟอนต์มาหนึ่งฟอนต์ แล้วออกแบบการขยับของมันด้วยวิธีการของเราเอง ในแง่นี้ฟอนต์ Gilbert Animated ได้ความร่วมมือกันของ Type with Pride และ Animography เพื่อสร้างสรรค์ชุดตัวอักษรในรูปแบบ animate font ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดฟอนต์ที่สามารถขยับได้ไปใช้ได้เลยทันที โดยไม่ต้องออกแบบการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมหากไม่จำเป็น

ส่วนทาง color font ถือเป็นฟอนต์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ผู้ออกแบบสามารถสร้างสรรค์การออกแบบฟอนต์ได้ตั้งแต่การสร้างสรรค์รูปแบบ และประเภทของฟอนต์ รวมถึงลูกเล่นต่าง ๆ ของตัวอักษร ออกมาเป็นรปลักษณ์ของตัวอักษรในรูปแบบฟอนต์ จากนั้นจะผสมผสานกับรูปแบบการออกแบบไฟล์ SVG ที่ผู้สร้างสรรค์สามารถออกแบบชุดสีที่ผู้สร้างสรรค์สนใจ เพื่อใช้เป็นค่ากลางของงานนั้น ๆ ได้ ผู้ใช้งานก็สามารถนำเอาสิ่งนั้นไปสร้างสรรค์ต่อได้เช่นกัน ซึ่งหลังจากการออกแบบเสร็จสิ้น ไฟล์ฟอนต์ประเภทนี้จะอยู่ในนามสกุลไฟล์ SVG (Scalable Vector Graphics) ในรูปแบบ OpenType-SVG fonts เมื่อเอามารวมกันแล้ว color Font ก็เหมือนกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปตัวหนึ่ง ที่มีการกำหนดแฟชั่น และการดีไซน์ของเสื้อผ้า รวมถึงออกแบบสีสันบนผ้ามาแล้ว เราสามารถใช้งานสีดังกล่าวจากผู้สร้างสรรค์ได้เลย

ในด้านของฟอนต์ Gilbert ก็เช่นเดียวกัน ฟอนต์ Gilbert ถูกออกแบบชุดสีมาจากสีที่ใช้บนธงสีรุ้งทุกประการ ผสมผสานกับการเน้น “เส้น” ที่ผสานรวมกัน คล้ายคลึงกับริ้วของธงแต่ละสีที่แตกต่างกัน แต่ทุกเส้นมีความหนาที่ “เท่ากัน” และเดินเส้นต่างๆ ให้เหลื่อมสีกันเพื่อให้ได้สีใหม่เพิ่มเติม ซึ่งแสดงออกถึงความหลากหลายที่มากกว่าเดิมของชุดสีเพียง 6 สี

ฟอนต์ Gilbert ประกอบไปด้วย ฟอนต์ 3 รูปแบบ นั่นคือ รูปแบบปกติ เป็นฟอนต์ทั่ว ๆ ไป, รูปแบบ color font และรูปแบบ animated font มาใน 2 อักขระภาษา คือ อักขระภาษาอังกฤษ และอักขระคาตาคานะของญี่ปุ่น ทั้งสามรูปแบบนี้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีตามเว็บไซต์ https://www.typewithpride.com/ และ https://animography.net/products/gilbert

ในมุมมองของผู้เขียน มองว่าเอาจริงๆ ฟอนต์นี้ก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับความเป็นธงสีรุ้งของกิลเบิร์ตเองเลย ทั้งสองสิ่งนี้มีจุดร่วมเดียวกันคือ “ตัวตน” และ “จุดยืน” ของการแสดงออกผ่านเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน และแน่นอน สัญลักษณ์เหล่านี้ก็สร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในหลายๆ ปีที่ผ่านมาอย่างมากมาย

เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็น iconic สำคัญที่ช่วยให้กิลเบิร์ตเป็นกิลเบิร์ต

และช่วยให้ฟอนต์ Gilbert เป็นกิลเบิร์ตอีกชีวิตที่ยังเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการเรียกร้องสิทธิ และความเท่าเทียมกับของ LGBTQ+ ทั่วทุกมุมโลก ตามเจตนารมณ์ของกิลเบิร์ตเอง อย่างที่เธอเคยทำมาก่อนมาตั้งแต่เธอยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

หากเรามองเห็นฟอนต์ Gilbert นี้ที่ไหน เราคงจะนึกถึงกิลเบิร์ตได้เมื่อนั้น

Content Creator

  • พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป