หากจะกล่าวถึงบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่ใครหลายคนฝันถึงทุกครั้งเมื่อได้ทำงาน ทุกคนก็มักจะนึกถึง GTH เป็นบริษัทแรกๆ ซึ่งเป็นตัวย่อที่ในอดีตใครหลายคนมักจะรู้จักกันอยู่แล้ว เพราะตลอดระยะเวลา 11 ปี 246 วัน ค่ายหนังอารมณ์ดีแห่งนี้ได้สร้างสิ่งที่น่าจดจำ และบางครั้งค่ายหนังแห่งนี้ก็ได้สอนอะไรสังคมพอสมควรเหมือนกัน
GTH มาจากตัวอักษรย่อ 3 ตัวซึ่งเป็นชื่อบริษัทต่างๆ ที่มารวมกัน ได้แก่ GMM GRAMMY ในนาม GMM Picture, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหับโห้หิ้น บางกอก ซึ่งกว่าจะมาเป็น GTH ในวันนั้น และจุดสำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องแยกตัวออกมาจะเป็นเช่นไร วันนี้เราขอพามาร่วมเจาะลึกถึงเรื่องราวสำคัญๆ ในวาระที่ GTH ครบรอบการก่อตั้งบริษัทในวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมากัน
จุดตกต่ำของวงการภาพยนตร์ไทย
ย้อนกลับไปในปี 2540 วงการภาพยนตร์ไทยกำลังจะถึงจุดตกต่ำถึงขีดสุด เนื่องจากภาพยนตร์ไทยเองมีจำนวนการผลิตที่ลดน้อยถอยลงไป ส่งผลทำให้งานคุณภาพของภาพยนตร์ไทยน้อยลงไปด้วย ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นสิ่งที่ถูกคนไทยไม่ได้ให้คุณค่ากันเอง กลับกันคนไทยมักจะไปให้คุณค่ากับหนังต่างประเทศที่นำเข้ามาฉายเสียมากกว่าที่เป็น ในขณะเดียวกันคนก็ดูถูกอาชีพคนทำหนังว่าไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้ เนื่องจากระยะเวลาการถ่ายทำและดำเนินการนาน แต่เงินที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการผลิตเอาเสียเลย
จิระ มะลิกุล ในช่วงเวลานั้น จากเดิมที่เขาสนใจในการผลิตภาพยนตร์ จึงเบนเข็มไปก่อตั้งบริษัทผลิตงานโฆษณาในชื่อของ “หับโห้หิ้น บางกอก” ร่วมกับ ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์, ยงยุทธ ทองกองทุน และจินา โอสถศิลป์ และเริ่มต้นด้วยการผลิตงานโฆษณาออกมาให้เป็นที่รู้จักจำนวนมาก และยังกวาดรางวัลต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในช่วงขณะเดียวกันนั้น เป็นเอก รัตนเรือง ได้ใช้แนวคิดในการผลิตภาพยนตร์คือการสลับผลิตภาพยนตร์โฆษณา 1 ปี และทุ่มเทอีก 1 ปีให้กับการผลิตภาพยนตร์ จิระเปรียบเช่นนี้ว่าเป็น “1 ปีที่ร่ำรวย และ 1 ปีที่ลำบาก” จิระ จึงมีความเชื่อว่าอยากทำภาพยนตร์ให้เป็นอาชีพนักทำภาพยนตร์ได้ เพื่อตั้งตัวและให้คนไทยหันกลับมาเห็นคุณค่ามากกว่าที่เป็น
ยงยุทธ ทองกองทุน ในสมัยนั้นได้ถูกชักชวนจากวิสูตร พูลวรลักษณ์ ในการมาร่วมผลิตภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก ซึ่งหลังจากเข้าฉายจึงกวาดรายได้ร่วม 100 ล้านบาท และนี่จึงเป็นการร่วมงานครั้งแรกของไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และหับโห้หิ้น บางกอก ซึ่งไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ในอดีตเป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับในเมืองไทยพอสมควร โดยมีภาพยนตร์ที่หลายคนรู้จัก เช่น 2499 อันธพาลครองเมือง และนางนาก ทำให้คนไทยกลับมาชมภาพยนตร์อีกครั้ง และย่อมส่งผลทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
หลังจากนั้นหับโห้หิ้น บางกอกจึงจับมือกับจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ ผลิตภาพยนตร์เรื่องต่อมา ซึ่งจิระได้มีโอกาสกำกับและควบคุมงานสร้างด้วยตนเอง อย่าง “15 ค่ำ เดือน 11” และได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งในระหว่างการดำเนินการถ่ายทำ ทางหับโห้หิ้น บางกอกก็ได้รับบทภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันจากทีมผู้กำกับ 365 ฟิล์ม อันได้แก่ คมกฤษ ตรีวิมล, ทรงยศ สุขมากอนันต์, นิธิวัฒน์ ธราธร, วิชชพัชร์ โกจิ๋ว, วิทยา ทองอยู่ยง และอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม
แฟนฉัน ปรากฎการณ์เหนือความคาดหมาย
แฟนฉันเป็นภาพยนตร์ที่สามารถดึงดูดการเล่าเรื่องที่ฉลาดและน่าสนใจ รวมถึงการใช้เด็กที่ไม่เคยมีพื้นที่ทางการแสดงมาทำให้ภาพยนตร์มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งในขณะที่แฟนฉันฉายก็มีภาพยนตร์ต่างประเทศอย่าง Finding Nemo ซึ่งเป็นผลงานจาก Disney เข้าฉายในวันเดียวกันอีกด้วย (3 ตุลาคม 2546) แต่แฟนฉันกลับสามารถครองอันดับ 1 ของ Box Office ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้รับคำวิจารณ์และรางวัลอีกมากมายนับไม่ถ้วน
และนั่นจึงเป็นการรวมตัวกันของ G T H จนก่อตั้งเป็นบริษัท บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จำกัด เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 โดยในช่วงแรก GTH ต้องรับจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่ตกค้างจากปีก่อนๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เป็นต้น และยังต้องผลิตภาพยนตร์ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสายล่อฟ้า และแจ๋ว ที่ทุกเรื่องล้วนประสบความสำเร็จอย่างมากมาย
มหา’ลัย เหมืองแร่ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง
มหา’ลัย เหมืองแร่ เป็นการนำเรื่องราวจาก อ.อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เขียนลงในหนังสือชุดนี้มาพัฒนา โดยจิระเป็นผู้กำกับและควบคุมการสร้าง ความยากของเรื่องนี้คือต้องจำลองเหมืองแร่ทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ซึ่งใช้ต้นทุนในการสร้างค่อนข้างสูง จึงทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูงถึง 70 ล้านบาท แต่สามารถทำรายได้เพียง 27 ล้านบาท นั่นทำให้แนวคิดของ “หนังดีไม่มีเจ๊ง” ของ GTH สั่งคลอนมากเข้าไปอีก วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า “GTH เราทำบนความไม่รู้เลยในช่วงเวลานั้น แต่เราทำไปด้วยใจและอยากเต็มที่มากที่สุด” ซึ่งการทำมหา’ลัย เหมืองแร่ ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยได้ถูกพูดถึงเรื่องคุณภาพในการสร้างภาพยนตร์ และการสร้างสรรค์งานของ GTH เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถวัดได้ด้วยเงินจริงๆ
และแล้วก็มาถึงอีกเรื่องก็คือ หมากเตะ โลกตะลึง ซึ่งแต่เดิมจะถูกวางไว้ฉายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เพื่อรับกับฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายน 2549 ด้วยเช่นกัน GTH ได้โหมโรงประชาสัมพันธ์เป็นอย่างหนัก แต่อย่างไรก็ดีในตอนนั้นได้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เนื่องจากหนังได้มีการไปพูดถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อดิสรณ์ ตรีสิริเกษมต้องไปพูดคุยที่สถานทูต และตัดสินใจร่วมกับบริษัทในการยกเลิกการฉายไปชั่วคราว รวมถึงมีการทำลายภาพยนตร์ที่จะส่งฉายตามโรงภาพยนตร์ต่อไป อย่างไรก็ดีเมื่อมีการแก้ไขภาพยนตร์ต้นฉบับให้สามารถนำไปฉายต่อได้ จึงได้กลับมาฉายอีกครั้งในวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ในชื่อ “หมากเตะ รีเทิร์นส์” และเก็บรายได้ไปเพียง 10 ล้านบาทตลอดโปรแกรมฉายเท่านั้น
หลังจากเกิดปัญหาทั้งการบริหารและการขาดทุนของภาพยนตร์หลายเรื่อง ทำให้ GTH ต้องกลับมาคุยกันใหม่ถึงแนวทางการบริหาร ถึงขนาดตัดสินใจที่จะปิดบริษัทด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย GTH ก็กลับมาตั้งหลักด้วยการขยายฐานเนื้อหา เพื่อให้ถึงกลุ่มคนดูฐานหลักมากที่สุด รวมไปถึงการพัฒนาการบริหาร โดยใช้ระบบการบริหารมาวิเคราะห์และลงคะแนนเสียงในการขายแนวคิดภาพยนตร์ให้ดีขึ้น และการลดจำนวนการผลิตภาพยนตร์ลงจาก 8 เรื่อง/ปี เป็น 3 เรื่อง/ปี โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ฉายโดยใช้ระบบนี้คือ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” และสามารถทำเงินได้หลักร้อยล้านเลยทีเดียว
หนังระดับพันล้านก็เดินทางมาถึง GTH และจุดแยกของพวกเขา
2556 พี่มากพระโขนงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ด้วยเนื้อหาเรื่องที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและความตลกที่ผ่านการกลั่นกรองมากว่า 18 เดือนเลยทีเดียวในการพัฒนา จนทำให้เนื้อเรื่องและโครงการเล่าดูเปลี่ยนไป ซึ่งหลังจากการถ่ายทำและฉายไปจึงประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงที่มีส่วนร่วมในเรื่อง หรือตัวภาพยนตร์ได้รับการซื้อไปฉายทั่วโลกเลยทีเดียว พี่มากพระโขนงปิดโปรแกรมฉายด้วยรายได้ทั่วประเทศที่ 1,000 ล้านบาท จากความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ GTH ต่อยอดไปยังการทำซิทคอม ซีรีส์ และจัดกิจกรรม รวมไปถึงละครเวทีด้วย จนทำให้ GTH เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
และแล้วทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา 13 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13:00 น. ผู้บริหารของ GTH ได้แถลงข่าวขอปิดบริษัท จีเอ็มเอ็ม ไทหับ จำกัด เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการนำ GTH เข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยทางฝั่งไท เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ อยากให้บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในงานต่อๆ ไป แต่ทางหับโห้หิ้น บางกอก ไม่ต้องการ เพราะคิดว่าบริษัทไม่พร้อม จึงทำให้ตัดสินใจปิดบริษัทไป และการปิดบริษัทแห่งนี้ก็เสร็จสิ้นในวันที่ 31 ธันวาคม ปีเดียวกัน
5 มกราคม 2559 ฝั่ง G และ H รวมตัวกันและก่อตั้ง บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด ขึ้น ซึ่งคำว่า GDH ย่อมาจาก Gross Domestic Hapiness หมายถึง หน่วยวัดความสุขของผู้ชมและคนทำงาน ส่วนทาง T ก็ไปร่วมมือกับเมเจอร์ ก่อตั้ง TAI MAJOR ขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ T ไปร่วมมือกับ MONO เป็น T MOMENT แต่เปิดบริษัทได้เพียง 2 ปีก็ประกาศปิดตัวไป
รายได้ล่าสุดของบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด
ปี 2566
รายได้รวม 375,933,343.00 บาท
รายจ่ายรวม 353,189,195.00 บาท
กำไรสุทธิ 12,971,786.00 บาท
จากวันนั้นจนถึงวันนี้หนึ่งในสิ่งที่ GTH ได้พิสูจน์ให้กับคนดูหนังไทยมานักต่อนักแล้วก็คือ เราสามารถทำหนังดีให้คนดูได้โดยที่เราไม่ต้องจ๊ง เพียงแค่หาทิศทางของคำว่าหนังดีและตอบโจทย์ของผู้ชมเป็นหลักก็เพียงพอแล้ว
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์ และรายการพิเศษ “11 ปี GTH นับหนึ่งถึงอนาคต”