หากพูดถึงการบริหารจัดการศิลปิน ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ในยุคที่ 2 ค่ายใหญ่อย่างอาร์เอส และ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย และในช่วงปี 2548 อาร์เอสก็ได้จุดไฟให้เกิด 1 ในจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของอาร์เอส กับการปลุกปั้นแผนก “Image & Asset Management” โดยใช้คนนอกที่ไม่เคยร่วมงานกับอาร์เอสมาก่อน (โดยความคิดของ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ที่ตอนคิดนั้น เฮียฮ้อของเรา ๆ เพิ่งจะนำพาอาร์เอสแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นมาได้ราว 2 ปี)
วิสัยทัศน์ของเฮียฮ้อฯ ในตอนนั้นคือ เริ่มจากการยุบแผนกและกลุ่มธุรกิจ IMC (Integrated Marketing) ทิ้ง (ทั้ง ๆ ที่เพิ่งตั้งเมื่อปลายปี 2547 และได้คุณ “ธาตรี ใต้ฟ้าพูล” มาคุมทีม) และหันไปสร้างมูลค่าเพิ่มจาก 2 ธุรกิจคือกลุ่มธุรกิจ IAM และกลุ่มธุรกิจ New Media
หวยจึงไปออกที่ทีมคนเก่าคนแก่ที่อยู่กับโรงหนัง “อีจีวี” มาเนิ่นนาน ที่ต้องออกมาจากองค์กรเดิม หลังจากการควบรวมกับเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ฯ เพราะในตอนนั้นทางกลุ่มที่ลาออกมานั้นกังวลเรื่องการบริหารงานที่อาจเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แบบที่เขาเคยทำ
และหวยก็ออกเป็นชื่อของ “ประสงค์ รุ่งสมัยทอง” ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลายที่ รวมถึงคู่แข่งที่รู้กันดีอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยที่คุณประสงค์เข้าดูแลงานในสายงาน IAM และนอกจากนี้ ก็ดูเหมือนว่าหวยอีกใบไปออกที่คุณ ”ยรรยง อัครจินดานนท์” ที่ตอนนั้นเพิ่งจะออกมาจากตำแหน่งซีอีโอของทราฟฟิคคอร์เนอร์ฯ มาร่วมงานกับอาร์เอสได้ร่วมปี มาคุมฝ่ายการตลาดให้กับอาร์เอส
ช่วงที่ประสงค์เข้ามาคุมทีม คือช่วงเดียวกับที่ “ฟิล์ม (รัฐภูมิ โตคงทรัพย์)” กำลังเฉิดฉายในวงการบันเทิงและก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ “แดน – บีม (วรเวช ดานุวงศ์ – กวี ตันจรารักษ์)” กำลังออกอัลบั้มคู่ต่อยอดกระแสจากวง D2B ที่ชะงักไป รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ทั้ง 4 สาว “Girly Berry” กำลังไปได้ดีกับภาพลักษณ์ความ Sexy สายเดี่ยวขัดใจรุ่นใหญ่ และเป็น Gap ระหว่างอัลบั้ม Very Girly กับ อัลบั้ม Gossip ที่มีเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มตอกย้ำไปอีก
จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะกอบโกยงานพรีเซ็นเตอร์ และจับมือกับพันธมิตร เพราะสำหรับอาร์เอส แม้เพลงจะไม่ฮิต แต่ถ้าศิลปินขายได้และมีมูลค่า ก็เพียงพอที่จะสร้างรายได้ให้กับอาร์เอสแล้ว ซึ่งเฮียฮ้อของเรา ๆ เคยกล่าวไว้เมื่อตอนที่ 4 สาว Girly Berry ออก Extended Play หรือ EP. Album (อัลบั้มที่มีความยาวแค่ราว ๆ 4 หรือ 5 เพลง) ที่ชื่อว่า “Reality” โดยจับมือกับ “เอเซอร์” แถมอัลบั้มนี้ไปให้ผู้ซื้อโน๊ตบุ๊คของทางแบรนด์ก่อน
และเฮียฮ้อได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในนิตยสารผู้จัดการ เดือนธันวาคม 2549 ว่า “Girly Berry ผมไม่ต้องรอให้เพลงฮิตถึงจะมีมูลค่า วันแรกที่เปิดตัวก็มีมูลค่าแล้ว เพราะมูลค่าของเขาอยู่ที่คำว่า Girly Berry และตัวเขา ถ้าเพลงฮิตด้วยก็ยิ่งดี ถ้าไม่ฮิตก็ไม่เป็นไร ฟิล์มก็เหมือนกัน ผมมีรายได้จากฟิล์มตั้งแต่วันแรกที่ออกอัลบั้ม”
เรื่องน่าสนุกคือ แดน – บีม และ ฟิล์ม ต่างเป็นศิลปิน 2 เบอร์แรกที่อาร์เอสฯ ขายลิขสิทธิ์แครักเตอร์ของศิลปินฯ ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ นำไปผลิตเป็นสินค้า Official Merchandise เพราะก่อนหน้านั้นก็เห็นจะมีแค่อาร์เอสฯ นี่แหละทำขายกับลูกค้าของตัวเองที่สมัครนิตยสาร STAR CLUB ของเขา หรือการที่แบรนด์ต่าง ๆ จ้างศิลปินของอาร์เอสไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์
ซึ่งตอนนั้นอาร์เอสฯ เปรยว่าการขายสิทธิ์ให้ไปทำ Merchandise ดูจะยั่งยืนกว่าแค่ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์เฉย ๆ เพราะอาร์เอสคิดค่าลิขสิทธิ์จากจำนวนการผลิต ยิ่งผลิตมาก ยิ่งได้เงินมาก แล้วก็ขายได้กับสินค้าประเภทเครื่องนอน แก้วน้ำ เครื่องเขียน ตุ๊กตา เครื่องใช้ต่าง ๆ อีกมากมาย ด้วยแนวคิดว่าถ้าพวกเขายอมเสียเงินให้เครื่องใช้ลาย Mickey Mouse ตัวละครคู่ขวัญอาณาจักรดิสนีย์ได้ ก็น่าจะจ่ายเงินให้เครื่องใช้ลายฟิล์ม รัฐภูมิได้
ประสงค์กล่าวถึงเรื่องนี้กับเว็บไซต์ของนิตยสาร POSITIONING เมื่อเดือนกันยายน 2548 ว่า “สินค้าที่เราขายมันหลากหลายมาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวัยรุ่น อย่างเครื่องใช้ภายในบ้าน เราต้องใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แทนที่จะใช้ลายอื่นๆ ก็มาใช้ลายฟิล์มแทน เหมือนอย่างที่เราใช้สินค้าลายมิกกี้เมาส์ของเมืองนอกได้ ผมเชื่อว่าเมืองไทยน่าจะมีฟิล์มได้เช่นกัน”
แม้จะเป๋ ๆ ไปจากเคส “เสี่ยอู๊ด-สิทธิกร บุญฉิม” ที่ออกมาแฉทวงบุญคุณจากฟิล์ม จนทำให้อาร์เอสเป๋กันจนถึงขั้นหุ้น RS ตอนนั้นตก – ภาพลักษณ์ที่หวังเทียบชั้นเป็นเสาหลักค่ายก็สั่นคลอน มูลค่าก็หายไปหลายล้าน
ว่ากันว่าหากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มี “ธงไชย แมคอินไตย์” หรือ “พี่เบิร์ด” ที่อยู่มาทุกยุค – โซนี่มิวสิค (และบีอีซี-เทโรฯ) ณ ตอนนั้นมี “ทาทา ยัง” ที่ขายความโกอินเตอร์ อาร์เอสก็มี “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ที่ขายภาพลักษณ์แบบ Modern-J เป็นซูเปอร์สตาร์ของค่าย ณ ตอนนั้น
แต่ถึงแม้จะเป๋ไปกับฟิล์ม แต่อาร์เอสก็ยังมีศิลปินรายอื่น ๆ ให้ทีม IAM ร่วมปั้นมามากมาย รวมถึง “โปงลางสะออน” ที่มัดใจกลุ่มคนต่างจังหวัดได้อย่างลงตัว เพราะหลังวงนี้ออกรายการ “ตีสิบ” เมื่อปี 2547 ปีถัดมา (2548) อาร์เอสก็รีบคว้าตัวมาเซ็นสัญญายาว ๆ ถึง 8 ปี
น่าเสียดายที่คุณประสงค์อยู่ร่วมงานกับอาร์เอสได้แค่ 2 ปีก็เลือกที่จะไปลงเรือลำใหม่ไฟแรงอย่าง “อาดามัส” ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และแน่นอนว่าในช่วงที่ RS สร้างทีม IAM เรื่องอะไรที่คู่แข่งอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะต้องยอม?
ตอนต่อไปจะเล่าถึงการปั้นทีม “อราทิสต์” ของแกรมมี่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่ ๆ กัน
อ้างอิง