เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ข้อความโฆษณาวัตถุอันตรายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่น หรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ประกาศ ซึ่งหากพบการกระทำที่ฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สาระสำคัญที่ถูกเพิ่มมาจากที่มีอยู่เดิมคือข้อ 3.3 ที่ระบุให้ “(๓) ข้อความที่ระบุหรือประกาศว่าผู้โฆษณาวัตถุอันตรายจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือการประกวดชิงรางวัล กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขเพื่อประโยชน์แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลงและสัตว์อื่น และสัตว์แทะ” เป็นข้อความโฆษณาวัตถุอันตรายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
โดยร่างประกาศฉบับนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการใช้สารกำจัดแมลง หรือใช้สารกำจัดสัตว์แทะเกินความจำเป็น หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเหมาะสมที่จะใช้เป็นประจำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว
เอาง่าย ๆ คือประกาศฉบับนี้ทำออกมาเพื่อดักทางไม่ให้เกิดการชิงโชค หรือประกวดชิงรางวัล จนอาจทำให้ผู้ใช้งานใช้ผลิตภัณฑ์เกินความจำเป็น หรือหากพูดกันง่าย ๆ คือตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราคงจะไม่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงจัดแคมเปญชิงโชค
แท้จริงแล้วในอดีตผู้เล่นหลายรายต่างก็จัดแคมเปญชิงโชคกับผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่างไบกอน หรือผู้เล่นรายอื่น ๆ อย่างอาท หรือเชนไดร้ท์ ต่างก็เคยจัดแคมเปญในลักษณะนี้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบทาอย่างซอฟเฟล
หากสังเกต ปัจจุบันการชิงโชคในตลาดยาฆ่าแมลงนั้นค่อนข้างจะลดลง และหันไปสื่อสารในประเด็นกึ่ง CSR อย่างไบกอนที่หันไปสื่อสารในเชิงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ด้วยการจัดงาน “ชีวิตปลอดภัย ร่วมใจ ต้านภัยไข้เลือดออก” เมื่อกลางปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก โดยร่วมมือกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในการรณรงค์ครั้งนี้ หรือชิลด์ท้อกซ์ที่เมื่อ 2 ปีก่อนเลือกที่จะหันไปทำตลาดในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ โดยการใช้ “แพนเค้ก – เขมนิจ จามิกรณ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์
ส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ Movement ที่น่าสนใจคือในช่วงปีนี้มีสินค้าตัวหนึ่งอย่าง “อาท มอส ชู้ตเตอร์” อันเป็นสินค้าที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างเอิร์ธ (ประเทศไทย) และคาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) ที่โฆษณาว่า “สเปรย์ฉีดยุงปลอดสารพิษ” ซึ่งสอดคล้องกับฉลากด้านหลังที่ไม่ได้มีการระบุเลขที่รับแจ้งวัตถุอันตราย เนื่องจากมีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมันตะไคร้ Lemongrass Oil ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับน้ำมันตะไคร้หอมหรือ Citronella Oil ซึ่งยังถือเป็นวัตถุอันตราย
*ถึงแม้ Citronella Oil จะมีผลการรับฟังความเห็นในปี 2566 ซึ่งรับฟังจากตัวแทนผู้ประกอบการ 7 ราย และตัวแทนหน่วยงานราชการอีก 7 ราย ที่เห็นด้วยกับการนำน้ำมันตะไคร้หอมออกจากบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่ายังคงมีบางแบรนด์ที่ยังคงทำการตลาดในลักษณะชิงโชค หรือประกวดชิงรางวัลอยู่ เช่นแบรนด์ผลิตภัณฑ์กันยุงยี่ห้อหนึ่ง เป็นต้น นี่ถือเป็น Movement ที่น่าสนใจในเชิงกฎหมายที่สั่นสะเทือนวงการยาฆ่าแมลงไม่มากก็น้อย
แหล่งที่มา
- https://www.posttoday.com/general-news/716078
- https://hazard.fda.moph.go.th
- https://hazard.fda.moph.go.th
- https://thestandard.co/baygon-dengue-virus/
- https://workpointtoday.com/shieldtox-pr-22042022/
- https://files.law.go.th/dgaBackoffice
- https://st.bigc-cs.com/
- https://www.facebook.com/SoffellThailand/posts/967720322052463