fbpx

รายงานจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าญี่ปุ่นถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางการศึกษาสูง ส่งผลให้อัตรานักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายมีสูงถึงร้อยละ 97.6 นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OEDC

Andreas Schleicher ผู้ดูแลงานด้านการศึกษาและทักษะของ OECD กล่าวว่า “ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ระบบที่เหมะสำหรับนักเรียนเกือบทุกคน” และเสริมว่า “ข้อเสียเปรียบเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน”

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะญี่ปุ่นกระจายอำนาจในการบริหารจัดการศึกษาให้ท้องถิ่น ด้วยการก่อตั้ง ‘คณะกรรมการการศึกษาของรัฐบาล’ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนรัฐบาลโดยตรง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อให้เกิดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน 2 หลักการ

หลักการแรกคือเป็นอิสระจากการบริหารงานส่วนกลาง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะกรรมการบริหารการศึกษาระดับเมืองจะขึ้นตรงกับผู้ว่าการเมือง แต่เมื่อเกิดกระแสการสร้างประชาธิปไตยทางการศึกษาในช่วงหลังสงคราม จึงเกิดการเลือกตั้งคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นและการบริหารงบประมาณการศึกษาในท้องถิ่น

หลักการที่สองคือการสร้างความเป็นกลางและความมั่นคง ด้วยการกำหนดข้อบังคับบอร์ดของคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นว่า สมาชิกคณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคเดียวกันได้ ไม่สามารถเปลี่ยนคณะกรรมการในคราวเดียวได้ และไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในองค์กรทางการเมืองอื่น ๆ ได้

ส่วนผู้ว่าการเมืองจะมีอำนาจในการบริหารโรงเรียนเอกชนและมหาวิทยาลัยโดยตรง มีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนายการทางการศึกษาได้ สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถกำหนดแผนงานและมาตรวัดทางการศึกษาของรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงออกแบบการใช้งบประมาณด้วย

เราอาจเห็นบทบาทของคณะกรรมการการศึกษาชัดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อคณะกรรมการการศึกษากรุงโตเกียวประกาศยกเลิกกฎการไว้ทรงผมนักเรียนและการบังคับสีชุดชั้นในของนักเรียน หลายโรงเรียนยังยกเลิกการลงโทษนักเรียนด้วยการกักบริเวณด้วย

Kaori Yamaguchi สมาชิกคณะกรรมการการศึกษากรุงโตเกียวระบุในแถลงการณ์ว่าเธอหวังว่าการปรับกฎการแต่งกายของนักเรียนครั้งนี้จะทำให้ประชาชนกล้าตั้งคำถามกับประเพณีล้าสมัยอื่น ๆ มากขึ้น

ปีที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เพิ่งเรียนจบจากชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดแคมเปญล่ารายชื่อ เรียกร้องให้นักเรียนสามารถเลือกเครื่องแต่งการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศได้ราว 11,579 คน และยื่นคำร้องนี้ต่อคณะกรรมการการศึกษากรุงโตเกียว

นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มายื่นคำร้องบอกในระหว่างการแถลงข่าวว่านักเรียนข้ามเพศจะต้อบสวมชุดนักเรียนชายตามเพศสภาพที่ลงทะเบียนไว้ในระบบ ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธ เธอต้องการส่งเสริมการเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนใช้ชีวิตในโรงเรียนได้อย่างสบายใจ

จริง ๆ แล้ว นักเรียนญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาครูลงโทษเด็กที่ละเมิดกฎโรงเรียนแบบเกินเหตุ เช่น ในโอซากามีเคสครูสั่งในนักเรียนผมสีน้ำตาลธรรมชาติย้อมผมสีดำ รัฐบาลจึงสั่งให้คณะกรรมการการศึกษาลงพื้นที่ตรวจสอบกฎของโรงเรียน ศาลอุทธรณ์โอซากาให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจเองว่าการย้อมผมสีดำของนักเรียนเป็นไปเพื่อการศึกษาหรือไม่

ชุดนักเรียนกลายเป็นภาพสะท้อนบทบาทการดูแลนักเรียนในแต่ละท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจนมากทีเดียว

ในประเทศไทยเองก็มีการแบ่งงานบริหารการศึกษาในท้องถิ่น กรุงเทพมหานครเองก็มีโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน อนาคตของเด็ก ๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานในสมัยหน้า

เคสของญี่ปุ่นจุดประกายเล็ก ๆ ให้เห็นว่านโยบายแรกที่ผู้ว่าคนใหม่น่าจะลองแก้เป็นอย่างแรก อาจจะเป็นโมเดลการแก้กฎหมายล้าสมัยอย่างเรื่องทรงผมและกฎหยุมหยิบแบบญี่ปุ่นก็สนใจไม่น้อยทีเดียว

Content Creator

  • กัญญาณัฐ์ เตโชติอัศนีย์

    ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจและฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้เดินทางรอบโลกไปสัมผัสวัฒนธรรมรอบโลกด้วยตัวเอง