fbpx

เมื่อวันป๊อกกี้เดย์ หรือวันคนโสดของใครหลาย ๆ คน วันที่ 11 เดือน 11 ปี 2567 คณะกรรมการ บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ได้อนุมัติการเข้าทำธุรกรรมเพื่อทำให้ JAS ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ในการถ่ายทอดภาพ และ เสียง ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และ เอฟเอคัพจาก The Football Association Premier League Limited บนอินเทอร์เน็ตทีวี, ดิจิทัลทีวี และชุดวิดีโอสั้น ตลอดเวลา 6 ฤดูกาล ใน 3 ประเทศคือไทย, ลาว และกัมพูชา รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8 พันล้านบาท และดีลนี้อาจมีมูลค่าสูงสุดกว่า 559 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท หาก FAPL ให้ลิขสิทธิ์แก่ JAS เป็นจำนวน 6 ฤดูกาล โดยจะนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติดีลที่ว่านี้ ในวันที่ 7 มกราคม 2568

หากเทียบกันด้วยหน่วยดอลลาร์สหรัฐแล้ว อาจดูเหมือนว่าดีลนี้ JAS ซื้อลิขสิทธิ์ “แพงกว่า” ตอนที่ บมจ. ซีทีเอช ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในจำนวน 3 ฤดูกาล และแย่งลูกจากมือทรูไปแล้วรอบหนึ่ง (และก็เจ๊งไปเพราะคอนเทนต์อื่น ๆ ไม่ดึงดูดเท่าเขา) ซึ่ง CTH ทุ่มเงินไปราว ๆ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ…

แต่ต้องไม่ลืมว่าที่ JAS ทุ่มไปแพงกว่า เพราะ “JAS ไม่ได้ซื้อแค่ Premier League แต่ซื้อ FA CUP พ่วง” อีกด้วย และยังอาจได้สิทธิ์ยาวกว่า CTH เท่าตัว คือ 6 ฤดูกาล 6 ปี ขึ้นอยู่กับว่า FAPL จะให้สิทธิ์กับ JAS เป็นเวลา 3 หรือ 6 ฤดูกาล หรือถ้าเทียบกันตรง ๆ หากได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดแค่ 3 ปีเท่ากัน มูลค่าที่ JAS จ่ายยังถูกกว่า และได้เยอะกว่า CTH ไม่น้อย ดังนั้น มูลค่ากว่า 559 ดอลลาร์สหรัฐ หากได้รับสิทธิ์ 6 ฤดูกาลจึงไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับการซื้อลิขสิทธิ์แบบ “ซื้อพ่วง” และ “ซื้อยาว” ไม่ได้ “ซื้อลีกเดียว” แบบ CTH 

และแน่นอนว่าพาร์ทเนอร์ที่จะมาถ่ายทอดสดฟุตบอลให้กับ JAS ก็ไม่ใช่คนไกลตัว แต่เป็น บมจ. โมโน เน็กซ์ ที่ให้พื้นที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างโมโนแม็กซ์ และช่องทีวีดิจิทัล โมโน 29 ที่มีเรตติ้งสูงเป็นอันดับ 4 (ซึ่งสูงสุดในบรรดาช่องฟรีทีวีดิจิทัลความคมชัดมาตรฐาน ในกลุ่มช่องวาไรตี้)

ต้องไม่ลืมว่า JAS และ MONO ต่างก็มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนเดียวกันคือ “พิชญ์ โพธารามิก” ที่ถือหุ้นกันเกินกว่าครึ่งของรายชื่อผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท (คุณพิชญ์ถือหุ้นใน JAS ร้อยละ 52.07 และถือหุ้นใน MONO ร้อยละ 57.73) และแท้จริงแล้ว MONOMAX ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้ชื่อ doonung . com และ monomaxxx ก่อนจะมาลดตัว X ลง 2 ตัวจนเป็นชื่อปัจจุบันในปี 2561

MONOMAX แม้อยู่อย่างเงียบ ๆ แต่ยังอยู่ได้ในวงการ Subscription video on demand หรือ SVOD มากว่า 13 ปี แต่ความร้อนแรงของตลาด VOD ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นในสนามที่ต้องเสียเงินดูเท่านั้น หรือสนาม Freemium (ดูฟรีบางส่วน แต่มีโฆษณา หากต้องการรับชมคอนเทนต์อื่น ๆ ต้องเสียเงินเพิ่ม) ก็ทำให้เจ้าของคอนเทนต์ หรือผู้เล่นรายใหม่ ๆ ตบเท้าเข้ามาเรื่อย ๆ 

คู่แข่ง 20+ รายนะ พี่ไหวไหม?

หากให้รวบรวมชื่อแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ยังคงให้บริการอยู่ทั้งวงการ ตลอดเวลากว่า 13 ปี ที่โมโนแม็กซ์ยังต้องแข่งขันกันอยู่ ต้องเริ่มจากในตลาดแมส จากช่องทีวีอย่าง Bugaboo.tv และ Bugaboo Inter ของช่อง 7 ที่ทำมาก่อนตั้งแต่ไหนแต่ไร (FYI : ก่อนหน้าที่จะมาทำ Bugaboo ช่อง 7 ในยุคของคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เคยร่วมมือกับกลุ่มทรูในการทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ช่องตัวเองบนเว็บ Trueworld ในรูปแบบ Pay-per-view ที่ต้องเสียเงินดูเป็นครั้ง ๆ), 3+ หรือชื่อเดิมคือ Mello ที่เกิดขึ้นในยุคออเจ้าฟีเวอร์, oneD ที่แม้จะถือว่ามาช้ากว่าใคร ๆ แต่ก็ปล่อยมาและสร้างกระแสได้ในวงกว้าง (แม้จะมีดราม่าจากละคร “แม่หยัว” เรื่องการวางยาแมวเพื่อถ่ายทำฉากในละครก็ตาม) และยังรวมไปถึง VIPA จากช่องสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสที่วางตัวเป็น FVOD ที่ให้บริการฟรีโดยไม่มีโฆษณาเพียงไม่กี่รายในไทย และ prdee ของกรมประชาสัมพันธ์

หรือจากค่ายมือถืออย่าง AIS PLAY, trueiD และ TrueVisions NOW ที่แยกออกมาจากแอปพี่ฯ / ตลาดจากผู้เล่นต่างประเทศได้แก่ Netflix, Prime Video, Disney+ Hotstar, HBO GO ที่กำลังจะแปลงร่างเป็น MAX ในอีกไม่กี่อึดใจ

ตลาดสตรีมมิ่งที่เจาะฐานผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้ชมอนิเมะที่มี Flixer จากดรีม เอ็กซ์เพรส (เด็กซ์), Crunchyroll ที่ยังไม่ทำตลาดอย่างจริงจังในไทย แต่ก็เริ่มบุกตลาดในไทยแล้ว, BiliBili ที่ยังคงเจอปัญหาเดิม ๆ อย่าง “คอนเทนต์เถื่อนในแท้” จนคนในวงการอย่าง “ธนพ ตันอนุชิตติกุล” หรือ(พี่)น้องนพจากการ์ตูนคลับฯ ออกอาการไม่ปลื้มไปรอบหนึ่ง หลังเข้ามาบริหารงานแทนพี่ชายอย่างธนัทที่เสียชีวิตลงไม่นานนัก

หรืออย่าง VIU ที่จับกลุ่มผู้ชมซีรีส์เกาหลี, WeTV, iQIYI, YouKu ที่จับกลุ่มผู้ชมคอนเทนต์จากจีนที่เป็นคนรุ่นใหม่, MVHub ที่เจาะกลุ่มผู้ชมหนังจีนรุ่นคุณพ่อ, gagaOOlala และ WOWPRESENTSPLUS ที่มุ่งจับกลุ่มผู้ชมคอนเทนต์ LGBTQIANP+ และคู่แข่งที่เน้นการผลิตละครแนวตั้งพอดีโทรศัพท์ ความยาวไม่นานนักอย่าง ReelShort หรือ FlexTV (ยังไม่นับที่กำลังศึกษาตลาด เช่นผู้เล่นจากญี่ปุ่นอย่าง ABEMA จาก TV Asahi ที่ซุ่มศึกษาพฤติกรรมผู้ชมในไทย หลังจากที่ก่อนหน้าทำตลาดด้วย ABEMA LIVE เฉพาะคอนเทนต์ PPV)

คู่แข่งในตลาดไม่ต่ำกว่า 20 แอป มีหรือที่โมโนแม็กซ์จะต้องอยู่เฉย

“Move ใหญ่” ของโมโนฯ

ต้นปี 2564 แดง – ธัญญา วชิรบรรจง 1 ในผู้จัดละคร ที่ป้อนเนื้อหาให้แก่ช่อง 3 มาอย่างยาวนาน ก้าวเข้ามารับตำแหน่งฝ่ายผลิตรายการให้กับ MONO และเกิดการฟอร์มทีม MONO Original อย่างเป็นทางการในปีถัดมา เป็น Move ใหญ่ของโมโนที่สั่นสะเทือนวงการได้เป็นอย่างดี เพราะใครจะคิดล่ะ ว่า “ช่องหนัง” จะใจกล้า ก๋ากั๋น มาผลิตละครแข่งกับละครหลังข่าวช่องอื่น…

แต่บทเรียนของคน “ซื้อเก่ง” แต่ “ทำไม่เก่ง” (ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์เองไม่เก่ง หรือทำธุรกิจไม่เก่งก็ตามแต่…) ก็มีให้เห็นกันมาแล้ว

โมโนรุกการผลิตคอนเทนต์เองแบบหนักขึ้นในปี 2566 ด้วยการประกาศไลน์อัพ แบ่งเป็น ซีรีส์ 9 เรื่อง และ ภาพยนตร์ 2 เรื่องในกลุ่ม MONO Original ก่อนจะเพิ่มความพีกยิ่งกว่าในปีถัดมา ที่ประกาศไลน์อัพรวมกว่า 24 คอนเทนต์แบ่งเป็น ซีรีส์ 18 เรื่อง และ ภาพยนตร์ 6 เรื่อง

และในปีนี้ MONOMAX ยังมีอีก 1 Move สำคัญ อย่างการนำคอนเทนต์จาก Paramount+ ที่ยังไม่เข้ามาทำตลาดเองในไทย มาลงบนแพลตฟอร์ม

ถูกที่ ถูกจังหวะ ผู้ถือลิขสิทธิ์เดิมโดนคนดูบ่น “จ่ายเยอะ ได้น้อย”

การทุ่มงบกว่า 1.9 หมื่นล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพของ JAS เพื่อป้อนให้กับ MONOMAX นี้ถือเป็น Move ที่น่าสนใจ เพราะมาในห้วงเวลาที่ทรูกำลังเพลี่ยงพล้ำ เจอกับเสียงบ่นของแฟนบอลที่ยอมควักเงินค่าบริการต่อปีในปีล่าสุดกว่า 5,000 เกือบจะ 6,000 บาท ต่อฤดูกาลเพื่อมาดูบอลลีกเดียว แต่ก็ทำให้แฟนบอลเกิดความรู้สึก “จ่ายเยอะกว่า และแพงกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่ได้ทุกอย่างคืนกลับมาน้อยกว่า ทั้งในด้านความคมชัด และอื่น ๆ” 

การเปลี่ยนมือในครั้งนี้ อาจทำให้ JAS เป็นเหมือน “เทวดามาโปรด” ของแฟนบอลหลาย ๆ คน ไปแล้วขั้นหนึ่ง แต่ก็มีเงื่อนไขเพิ่มอยู่อย่างหนึ่ง คือ ถ้า MONOMAX สามารถออกแพ็คเกจที่สามารถทำราคาได้ดีกว่าทรูฯ ได้ และ หาก MONOMAX ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ให้กับ JAS สามารถดูแลระบบเพื่อรับมือ Traffic ที่เข้าสู่แอปและเว็บไซต์ MONOMAX ที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก มากกว่าที่เป็น เวลานั้นแหละ JAS จะเป็นเทวดามาโปรดโดยแท้จริง

ซึ่งจากการให้คำสัมภาษณ์ล่าสุดของ ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความมั่นใจด้วยว่าราคาค่าเข้าชมจะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท/เดือน เท่านั้น และบางคู่ยังสามารถรับชมได้ทาง MONO29 อีกด้วย

แน่นอนว่าหลังจากนี้ทรูก็จะเคลมจุดแข็งเรื่องการเป็น Hub of Football โดยมีพรีเมียร์ลีกเป็นจุดขาย และจุดแข็ง ด้วยแพลตฟอร์มของตัวเองอย่าง TrueVisions NOW ไม่ได้ อีกอย่างน้อย ๆ ก็ 3 ปี หรือหนักสุดก็ 6 ปี ซึ่งไม่รู้ว่าถึงเวลานั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการอีก แต่ท่านอาจได้เห็นการทำแพ็คเกจร่วมกันกับ MONOMAX เพราะปัจจุบันทรูและดีแทคต่างก็มีการร่วมทำโปรโมชั่นแพ็ค MONOMAX ราคาพิเศษให้กับลูกค้าของตัวเองเช่นเดียวกับเอไอเอสที่จัดโปรโมชั่นนี้คล้ายกัน แม้ลูกค้าทรู และดีแทคจะต้องจ่ายแพงกว่าลูกค้าของเอไอเอส 30 บาทต่อเดือนก็ตาม 

แต่สิ่งที่แน่นอนแล้ว ก็คือการที่ JAS น่าจะทำโปรโมชั่นนี้กับ AIS เป็นคนแรก ในฐานะพันธมิตรทางการค้ามาอย่างยาวนาน หากมองกันตรง ๆ แล้ว นี่ถือเป็นการสร้างจุดเด่นของ MONO ในช่วงเวลาที่มีคู่แข่งกว่า 20 ราย และแต่ละรายก็มีจุดแข็งไม่แพ้ไปกว่ากัน และจุดแข็งที่กำลังจะสร้างนั้นช่างยิ่งใหญ่ และ ใหญ่ยิ่ง!


แหล่งที่มา

Content Creator

  • กันต์ หิรัญคุปต์

    นักเขียนเล่นผู้สนใจเรื่องของการตลาด การกิน คอสเพลย์ เกมโชว์ และสื่อ ชื่นชอบการออกไปทำงานนอกบ้าน และรักคุณนักเก็ตเป็นที่สุด