ถ้าพูดถึงตลก คำหนึ่งคำที่จะพ่วงท้ายคำว่าตลกนั่นก็คือ “คาเฟ่” หรือที่เราเรียกกันเป็นประจำว่า ”ตลกคาเฟ่” หากย้อนกลับไปในอดีตสื่อและความบันเทิงก็คงจะไม่ได้แพร่หลายมากนัก คาเฟ่ จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สามารถเสิร์ฟความบันเทิงให้กับเหล่าบรรดานักท่องราตรีได้แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น โชว์มายากล นักร้อง แดนเซอร์ หรือ ตลก ทุกอย่างถูกมัดรวมกันไว้ที่คาเฟ่
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อราวๆ 20-30 ปีก่อน ก็คงยากที่จะปฏิเสธว่าช่วงเวลาดังกล่าวคือยุครุ่งเรืองของสถานบันเทิงที่เรียกว่าคาเฟ่ เพราะในปี พ.ศ.2530 นั้นมีการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยว และมีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสถานบันเทิงอย่างเสรี และยังขยายเวลาเปิดสถานบริการทั่วประเทศไปจนถึงเวลา 3.00 น. จึงทำให้มีคาเฟ่ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลานั้น และยังเป็นยุคทองตลกอีกหลายคณะ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างพากันหลั่งไหลเข้าสู่คาเฟ่เพื่อเสพความบันเทิงจากเหล่าดาวตลกในยามราตรี แต่ทว่าเสียงหัวเราะที่เคยดังกึกก้องทั่วคาเฟ่ก็กลับต้องเงียบสงัดลง…
และแล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อในภายหลังได้มีการออกมาตรการจำกัดเวลาเปิดปิดของสถานบริการและร้านเหล้า ช่วงเวลานี้นับได้ว่าเป็นยุคท้ายๆของวงการคาเฟ่และตลกคาเฟ่ เพราะการออกกฎหมายควบคุมสถานบันเทิงในขณะนั้น ส่งผลให้คาเฟ่หลายๆแห่งมีผลประกอบการลดน้อยลง และเหล่าศิลปินตลกเองก็ถูกลดงานจ้าง บางรายก็ถึงกับหันหลังให้วงการตลก ไปประกอบอาชีพอื่น บางรายก็หันไปเล่นร้านหมูกระทะ บางรายถ้าหากว่าพอมีชื่อเสียงหน่อยก็คงจะก้าวเข้าสู่วงการบินเทิงอย่างเต็มตัว
เราจะเห็นได้ว่าในยุคนั้นเริ่มมีรายการที่รวบรวมเหล่าบรรดานักแสดงตลกคาเฟ่ มาทำรายการโทรทัศน์ในรูปแบบของเกมโชว์หรือละคร อย่างรายการ “ชวนชื่นคาเฟ่” เพราะด้วยเอกลักษณ์การแสดงตลกในรูปแบบละครชุดที่ไม่เหมือนใครของคณะชวนชื่น พวกเค้าจึงได้รับโอกาสในการทำรายการโทรทัศน์ ภายใต้การผลิตของ บริษัท บอร์น แอนด์แอดโซซิเอด จำกัด โดยออกอาการครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2547 ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
นอกจากนี้ยังมีรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” ที่มีตำนานตลกเมืองไทยอย่าง หนู คลองเตย และสมาชิกแก๊งสามช่าอยา่ง หม่ำ เท่ง โหน่ง ร่วมแสดง ซึ่งรายการชิงร้อยชิงล้านนั้นนับว่าเป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเกมส์โชว์ที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2533
นับได้ว่าการแสดงของตลกบนจอแก้วนั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และนักแสดงตลกจากคาเฟ่ก็เริ่มทยอยเข้ามาสู่จอแก้วมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะพวกเค้าจะมีบทบาทในการแสดงซิทคอม สังเกตได้จากซิทคอมหลายๆเรื่องทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในช่วงปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคของซิทคอมหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น “เฮง เฮง เฮง” ที่นำแสดงโดยตลกคาเฟ่อย่าง กล้วย เชิญยิ้ม และ ถัวแระ เชิญยิ้ม
และในปีถัดมาได้มีซิทคอมอย่างเรื่อง “บางรักซอย 9” ที่ได้ตลกคาเฟ่อย่าง ตี๋ ดอกสะเดา ไปร่วมแสดงในบทบาท ”แมน” เพื่อนซี้ของนายชัดเจน (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) และในปี พ.ศ.2547 ได้ถือกำเนิดซิทคอมสุดฮิตของเหล่าวัยรุ่นอย่าง “เป็นต่อ” ซึ่งเรื่องนี้นำทัพโดย เจี๊ยบ เชิญยิ้ม ดาวตลกคาเฟ่รูปหล่อซึ่งเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ สีหนุ่ม เชิญยิ้ม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะเชิญยิ้ม
จากอดีตจนถึงปัจจุบันเกิดรายการตลกขึ้นมาอย่างมากมายอย่างนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็น ตลกหกฉาก หรือรายการสุดฮิตอย่าง บริษัทฮาไม่จำกัด เพราะด้วยเนื้อหาของมุขหรือเรื่องราวในแต่ละตอนนั้น ได้มีการหยิบยกเรื่องราวและประเด็นทางสังคมมาเป็นมุขตลกอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ แต่ในภายหลังจากการสูญเสีย โรเบิร์ต ดอกมะดัน หรือที่เรารู้จักกันในนาม โรเบิร์ต สายควัน บริษัทฮาไม่จำกัด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฮาไม่จำกัดทั่วไทย และได้มีการปรับทัพนักแสดงใหม่ยกชุดเหลือเพียงแต่ นุ้ย เชิญยิ้ม ที่ยังคงอยู่เป็นนักแสดง
ซึ่งบอล เชิญยิ้ม และคณะได้ออกมาทำรายการใหม่อย่างรายการ ก็มาดิครับ ซึ่งถือว่ายังได้รับความนิยมอยู่พอสมควรจากฐานคนดูบริษัทฮาไม่จำกัด แต่เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก เพราะหลังจากที่รายการ ก็มาดิครับ ออกอากาศไปได้เพียงไม่กี่ตอน วงการบันเทิงก็ต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ นายอาคม ปรีดากุล หรือ น้าค่อม ชวนชื่น หนึ่งในนักแสดง ได้จากไปอย่างสงบในช่วงเช้าวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2564 ด้วยโควิด-19
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนความนิยมเริ่มถดถอย มุขตลกที่มีเนื้อหาเชิง hate speech หรือ sexual harrassment เริ่มไม่ได้รับความนิยม ตลกบางรายงานเริ่มน้อยลงเรื่อยๆจนทำให้ต้องจำใจหันหลังให้กับวงการ บางรายที่พอจะมีงานอยู่บ้างก็ยังคงยืนหยัดอยู่ในวงการบันเทิงต่อไป ปัจจุบันดาราตลกที่มีรากฐานมาจากการเล่นคาเฟ่ก็เริ่มลดน้อยลงทุกทีๆ และในอนาคตคงจะเหลือแต่เพียงคำว่า “ตลกคาเฟ่” ไว้ให้เราพูดถึงและนึกถึง แต่คงจะไม่มีตลกคาเฟ่หลงเหลืออยู่ในอนาคต แต่ในท้ายที่สุดตลกคาเฟ่ก็จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์และความทรงจำของการสร้างเสียงหัวเราะไปตลอดกาล
เรียบเรียงโดย วิชญาน โพธิ์แก้ว