บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง
เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ผมได้เห็นตัวอย่างอนิเมชั่นที่ดัดแปลงจากนิยายของ Lawliet30101979 อย่าง “หลวงตาบอกแล้วอย่าออกแว้นตอนตีสาม…เปรตมันดุ!” ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นคนนอกวงการนิยาย ไม่เคยได้สัมผัสกับผลงานมาก่อน พอผมได้เห็นตัวอย่างนั้นก็รู้สึกตื่นตะลึง เพราะทั้งลายเส้น เสียงพากย์ และเสียงประกอบ พวกเขาทำได้ดีเกินคาด แม้ตัวอย่างนั้นจะมีความยาวเพียง 2 นาทีก็ตาม แถมกระแสตอบรับยังล้นหลาม และต่างอยากให้โปรเจคอนิเมชั่นนี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
แต่แหม … จะว่าไปมันก็น่าหนักใจอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อกลับไปย้อนดูเหล่าอนิเมชั่นไทยที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้วนั้น ไม่ว่าจะมาจากผู้ผลิตสเกลไหน มีทุนหนาขนาดไหน ส่วนมากมักจะขาดทุนอยู่ตลอด และมักจะมีคนพูดถึงแค่ในวงแคบ ยกเว้น “ก้านกล้วย” โปรเจคภาพยนตร์อนิเมชั่นไทยจากค่ายกันตนา ที่กำลังจะมีภาค 3
ผมไม่ได้มีเจตนาจะว่ากล่าวให้เสียหายแต่อย่างใด แต่คาดว่าปัจจัยของเหตุการณ์เหล่านี้ คืองบประมาณที่น้อย, เนื้อเรื่องที่ไม่ค่อยจับใจใครหลายคน และความไม่เชื่อใจในอนิเมชั่นไทย จนมักจะถูกเปรียบเทียบกับอนิเมชั่นจากชาติอื่นเป็นประจำ
ความเสี่ยงเหล่านี้ที่เกิดขึ้น ทำให้อนิเมชั่นไทยมีสัดส่วนในการฉายน้อยมาก นายทุนส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุนในอนิเมชั่นไทย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าอนิเมชั่นไทยทุกเรื่องจะมีจุดด้อยและข้อเสียทั้งหมด เพราะผมดันนึกถึงอีกหนึ่งอนิเมชั่นไทยเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ที่ยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ
อนิเมชั่นซีจีสามมิติ ที่รวบรวมเรื่องราวของตำนานผีไทยอย่างแม่นาคพระโขนง มาเล่าเรื่องในรูปแบบแฟนตาซีเหนือจินตนาการ จากหัวเรือที่พูดชื่อไปใครก็รู้จัก “บอย โกสิยพงษ์” นักเขียนเพลงมือทอง และอดีตเจ้าของค่ายเพลงเบเกอรี่ มิวสิค และ เลิฟอิส
ซึ่งมีชื่อเรื่องที่สั้น แต่ได้ใจความ … “นาค”
“นาค (Nak The Animation)” ออกฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 โดยความร่วมมือของ 2 ค่ายภาพยนตร์ “สหมงคลฟิล์มฯ – บาแรมยู” และ 1 ค่ายอนิเมชั่น “BeboydCG” ที่มีบอย โกสิยพงษ์เป็นเจ้าของ
เรื่องนี้ถูกกำกับโดย “ตู่ – ณัฐทพงศ์ รัตนโชคสิริกูล” ผู้ร่วมก่อตั้งค่าย BeboydCG, มี “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” นั่งแท่นโปรดิวเซอร์คู่กับบอย และมี “แอน – นันทนา บุญ-หลง” รับหน้าที่กำกับงานพากย์และร่วมพากย์ในเรื่อง โดยมีกระบวนการสร้างรวมกว่า 6 ปี ด้วยทุนสร้างจำนวน 40 ล้านบาท และทำรายได้ไปกว่า 10 ล้านบาท
จุดกำเนิดของโปรเจคนี้ เกิดจากการที่ผลงานอนิเมชั่นของตู่ ได้ไปสะดุดตานายห้างแห่งสหมงคลฟิล์มฯ อย่าง “เสี่ยเจียง – สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ” ทำให้ได้ไฟเขียว อนุมัติให้มีโปรเจคนี้ขึ้นมา
ในส่วนของนักพากย์ในเรื่องนี้ ได้นักแสดงและนางแบบสาวอย่าง “เอ๊ะ – ศศิกานต์ อภิชาตวรศิลป์” มาให้เสียงตัวละครเอกอย่าง “นาค” ผีผู้หญิงผมชมพู พร้อมด้วย “เก็ท – อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล” และ “เกรซ – นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ” ให้เสียงตัวละครเด็กต่างจังหวัด “ธี – แก้ม”
ที่ผมชื่นชอบมาก ๆ เลย คือสามตัวป่วนของเรื่อง ที่มีแรงบันดาลใจจากกลุ่มตลกชื่อดังอย่าง “แก๊งสามช่า” โดยตอนแรกทีมงานของอนิเมชั่น ตั้งใจจะให้สมาชิกแก๊งสามช่าทั้ง 3 คนมาให้เสียง แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ที่ทำให้มีเพียง 1 ในสมาชิกอย่าง “หม่ำ – เพ็ชรทาย วงศ์คำเหลา” หรือ “หม่ำ จ๊กม๊ก” มาให้เสียง “เขียว” ผีหัวขาด พร้อมด้วย “นุ้ย – ชูเกียรติ เอี่ยมสุข” หรือ “นุ้ย เชิญยิ้ม” ให้เสียง “อืด” ผีเปรตพุงพลุ้ยจอมตะกละ และ “ติ่ง – สุภาพ ไชยวิสุทธิกุล” ให้เสียง “ทอง” ผีสุนัขปากปีจอ
สมทบด้วยฝั่งตัวร้าย ที่นำโดย “เล็ก – สมชาย ศักดิ์กุล” ให้เสียงผีลูกไฟ และมีแอน นันทนา ที่ได้ให้เสียง “แดง” ลูกของนาค
เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงโลกที่มีมนุษย์และวิญญาณอาศัยอยู่ร่วมกัน จนเกิดอาเพศขึ้นมา เมื่อกลุ่มผีเมือง หรือผียุคใหม่ ที่มีมายเซ็ตที่จะยึดครองโลกมาเป็นของตน ได้อาละวาดปั่นป่วน และได้ลักพาตัว “ธี” เด็กชายจากต่างจังหวัดโดยอ้างว่าเขาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้แผนการยึดครองโลกสำเร็จ แก้ม นาคและเหล่าผีจึงได้เดินทางไปยังเมืองกรุงอันวุ่นวาย เพื่อหยุดยั้งแผนการยึดครองโลกของเหล่าผีเมืองให้จงได้
ผมว่านี่อาจจะเป็นเนื้อเรื่องที่เดาทางได้ง่าย เพราะดูจากการชนกันของฝั่งธรรมะและอธรรม ยังไงก็ต้องจบแบบ Happy Ending อย่างแน่นอน แต่สำคัญที่เนื้อเรื่องระหว่างทางที่เป็นเหตุเป็นผล และทำให้อ๋อได้ทันที
อย่างสาเหตุที่ “แดง” ลูกของนาคได้ไปอยู่ในฝั่งผีเมือง เพราะก่อนหน้านั้น นาคได้ถูกหมอผีที่ชั่วร้าย ขโมยแดงออกมาจากอ้อมอก และหมอผีคนนั้นก็แปรเปลี่ยนเป็นผีลูกไฟ คอยบงการเหล่าผีเมืองให้เดินตามแผนการยึดครองโลก
และอีกหนึ่งซีนที่ชื่นชอบและยังอยู่ในหัวตลอด คือฉากการประชุมสภาเผ่าผีหลังจากที่ธีถูกลักพาตัว กับการกล่าวคำทำนายโดย “ยายสาย” ผีกระสือผู้เป็นหัวหน้าเผ่าผี
“เที่ยงตรงเสาร์ที่ห้า ท้องนภาถูกบดบัง
แสงอาทิตย์อ่อนกำลัง ทุกเวียงวังถูกลิดรอน …”
ใจความสำคัญของคำทำนาย คือจะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาในวันเสาร์ที่ 5 เวลาเที่ยงตรง ซึ่งเป็นเวลาที่ผีเมืองจะได้ทำการยึดครองโลกนั่นเอง ซึ่งในขณะที่เหล่าผีสิ้นหวังและเตรียมอพยพ ก็ยังมีนาคที่ยืนกรานไม่ยอมแพ้ และตั้งมั่นว่าจะช่วยธีออกมาให้ได้
อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ไม่พูดถึงจะรู้สึกผิดไปชั่วชีวิต นั่นคืองานเพลงของเรื่องนี้ ที่อยู่ในการดูแลของปรมาจารย์อย่างบอย โกสิยพงษ์ จึงมีหลายเพลงที่ประทับใจผู้ที่ได้รับชมเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานเพลงเดิมที่นำมาร้องใหม่ หรือผลงานเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อประกอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ
- เพลง “เรา” ที่มีเวอร์ชั่นต้นฉบับขับร้องโดย “นภ พรชำนิ” ถูกนำมาดัดแปลง และขับร้องโดย “แก๊ป – เจษฎา ธีระภินันท์” นักร้องนำจากวงเร็กเก – สการะดับตำนานของไทย “T-Bone”
- เพลง “ครองโลก” เพลงประกอบเรื่องที่ขับร้องโดย “เล็ก – สมชาย ศักดิ์กุล” และคอรัสโดย “ตู่ – ภพธร สุนทรญาณกิจ”
- เพลง “ลูกรัก” เพลงประกอบเรื่องที่ขับร้องโดย “ต๊งเหน่ง – รัดเกล้า อามระดิษ” ผ่านฝีมือการประพันธ์เพลงของ “บอย โกสิยพงษ์”, “เม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์” และ “แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข”
- เพลง “ลูกแม่” ที่มีเวอร์ชั่นต้นฉบับขับร้องโดย “กมลา สุโกศล” ถูกนำมาขับร้องใหม่โดย “ต๊งเหน่ง – รัดเกล้า อามระดิษ”
อนิเมชั่นเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการนำเอาตำนานแม่นาคมาตีความใหม่เพียงอย่างเดียว แต่หากเป็นการนำเอาเรื่องราวตำนานผี มาผสมกับความเป็นแอคชั่นแฟนตาซี ที่เชื่อว่าต่อให้จะดูสักกี่ครั้งก็ยังคงตราตรึง ผมยังตะลึงในความเท่และความทะเยอทะยานในตัวของ “บอย โกสิยพงษ์” และทีมงานกว่าร้อยชีวิตเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่ร่วมรังสรรค์โปรเจคนี้ขึ้นมา ตอนที่ผมได้เห็นครั้งแรกนั้นถือว่าสะใจยิ่ง
และผมก็คิดว่า นี่เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของอนิเมชั่นไทยที่ดี ทั้งงานภาพและงานเสียงที่อลังการ ตัวละครที่น่าประทับใจ และเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ซึ่งปัจจุบัน อนิเมชั่น “นาค” นั้น ยังไม่สามารถหาชมแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ หากวันดีคืนดี ทีมงานฯ นำมาลงในช่องทางสตรีมมิ่งอีกครั้ง อยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองเปิดใจรับชมกันจริง ๆ
ผมขอยืนยันว่าอนิเมชั่นเรื่อง “นาค” ดูแล้ว … ดีแน่นอนครับ!