“อยากให้ลองบอกเหตุผลหน่อย ว่าทำไมเราต้องดูละครเรื่องนี้?”
“เพราะมันเป็นละครที่มีโอ อนุชิต อยู่ในเรื่อง”
และใช่, คนที่ตอบคำถามนี้ของเรา ก็คือโอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์
ถ้าให้เราต้องเกริ่นต่อถึงนักแสดงหนุ่มมากฝีมือคนนี้ เราก็ไม่รู้จะต้องเขียนอะไรต่อดีนอกจากว่า ไม่ว่าจะบทอะไรเขาก็สามารถแสดงออกมาได้อย่างสมบทบาทในระดับที่เราสามารถเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเขาคือตัวละครนั้นจริงๆ
ยิ่งถ้านับรางวัลที่เขาได้รับจากเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะนาฎราช, คมชัดลึกอวอร์ดส์, โทรทัศน์ทองคำ, ชมรมวิจารณ์บันเทิง, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หรือเวทีไหนๆ เขาก็กวาดมาแล้ว
ช่อง 8 จัดสรรนัดหมายให้เราได้พบกับโอหลังงานบวงสวรงละครเรื่องใหม่ของเขาอย่างบ่วงใบบุญ ซึ่งคราวนี้โอทุ่มสุดตัวในระดับที่เขาอยู่ในตัวละครตลอดเวลา เพื่อไม่อยากต้องเข้าไปอยู่ในตัวละครใหม่ หรือการทำงานร่วมกับนักแสดงที่เขารักมากๆ อย่างจอย-ศิริลักษณ์ ผ่องโชค
เช่นเคย, เราชวนโอคุยถึงเรื่อง “หลังบ้าน” ทั้งตลอดการเป็นนักแสดงที่ยืนระยะได้ด้วยฝีมือ และการทำงานกับช่อง 8 อีกครั้ง ซึ่งท้าทายความสามารถและการเติมเต็มหัวใจของเขา
ในฐานะนักแสดงที่มีความเชื่อว่า เขาเกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงเท่านั้น
Brave Heart
“ผมเป็นคนชอบดูหนัง หนังเรื่องแรกคือ Brave Heart (1995 – พ.ศ.2538) ที่ดูจบปุ๊บแล้วก็แบบ นี่คือความรู้สึกอะไรวะที่มันเกิดขึ้นหลังจากดูหนัง เพราะเมื่อก่อนก็ดู Jurassic Park (1993 – พ.ศ.2536) ดูหวานมันส์ฉันคือเธอ (2530) ดูหนังทั่วๆ ไปแต่ไม่เคยมีหนังที่ทำให้ทิ้งความรู้สึกหลังจากดูจบแล้วเดินออกจากโรงหนังกลับมาบ้าน แล้วก็อึนไปเลยหลายวัน แล้วก็พบว่า นี่มันอะไรวะ ไม่เคยเจอ ก็เลยชอบ
“ตอนแรกเอาจริงๆ ก็ไม่คิดจะไปดูก็ไปดูกับเพื่อนอัสสัมฯ (อัสสัมชัญสมุทรปราการ) มันไม่มีอะไร ก็แค่ไปดูเอาสนุก แต่อาจจะเพราะว่าประสบการณ์ดูหนังที่ยังน้อยอยู่ แล้วก็เด็กที่ดูหนังเพราะความบันเทิงเท่านั้น ตอนประโยคสุดท้ายที่มันให้พูด แล้วตัวละครเลือกที่จะพูดคำนี้ มันคงเป็นเรื่องของ Expression หลายๆ อย่าง ความอกหัก ความพยายามของเขา ทุกๆ สิ่งที่มันทำ มันเฮิร์ทมากเลย แต่ที่สำคัญคือจริง ๆแล้ว ในความเจ็บปวดของเขา เขาก็ได้ไปอยู่กับแฟนเขา เพราะท้ายที่สุดมันเหมือนกับผู้หญิงคนนั้นที่เป็นรักแรกเป็นแรงบันดาลใจในการกระทำทุกอย่าง อาจจะเพราะเรื่องพวกนี้ ด้วยหลายๆ อย่าง รวมๆ กันมันก็เลยกลายเป็นจำได้ว่า นี่คือหนังเรื่องแรกที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น”
แรงบันดาลใจจากหนังสู่การเป็นแดนเซอร์
“หลังจากนั้นก็จะชอบดูหนังมาก หาหนังดูแล้วก็จะพบว่าตัวเองชอบดูหนังเฉพาะหนังที่เป็นแนวดราม่า เป็นแดนเซอร์ จนเคยคิดว่าได้อยู่หลังศิลปิน อยู่หลังพี่มอส (ปฏิภาณ ปฐวีกานต์) อยู่หลังนาวินต้าร์ (ดร.นาวิน เยาวพลกุล) อยู่หลังไชน่าดอลล์ ซาซ่า เราเห็นว่าศิลปินหรือคนในวงการบันเทิงมีลักษณะเป็นยังไง แล้วตอน ม.2 ที่โรงเรียนมีงานวันวิชาการ ชมรมภาษาอังกฤษก็คือเปิดวีดีโอคอนเสิร์ตของไมเคิล แจ๊คสัน ที่เขาใส่ชุดเหมือนชุดฟันดาบ ทุกคนขำการจับเป้าของไมเคิลว่าเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับเราคือแบบ โห นี่มันอะไรวะเนี่ย ทำไมไมเคิลเดินไปข้างหน้า แต่เขาเคลื่อนที่ไปข้างหลัง แล้วมันก็อยากเคลื่อนที่ได้แบบนั้น ก็เริ่มซื้อวีดีโอ
“หลังจากวันนั้นทุกวัน ผมกล้าพูดว่าทุกวันก็คือพี่กลับบ้านมาแล้วเปิดเพลง ขยับตาม หยุด ทำอยู่อย่างนี้ แกะท่าแล้วเราก็คือเต้นได้อย่างนั้น นั่นก็คือเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มอยากเต้น อยากเป็นแดนเซอร์ให้ไมเคิลแจ็คสัน อยากมาก แต่โตขึ้นมาก็เพราะว่ามันไกลไป แล้วตอนนั้นทาทา (ยัง)อัลบั้มกระเป๋ามหัศจรรย์คือที่สุด แดนเซอร์ผู้ชายวัยรุ่นหลังๆประมาณ 8-9 คนยืนอยู่ เท่ไม่ต่างกับทาทา ตอนนั้นก็อยากเป็นแดนเซอร์ทาทา นั่นคือความฝันแรก
“แต่ท้ายที่สุดมันมีศิลปินเมืองนอกชื่อว่า T-Move ซึ่งเขาเต้นเก่งมาก จะมาเปิดคอนเสิร์ตในเมืองไทยแล้วจะมาเป็นกรรมการ อยากดูคอนเสิร์ตมากแต่ไม่มีตังค์ ทำยังไง เขาไปเป็นกรรมการ งั้นเราก็ไปประกวดเต้น ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ประกวดเต้น แล้วการประกวดข้างนั้นก็ดันมีพี่อู๋ (เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี) อยู่ด้วย พอครูอู๋เห็นเขาก็เลยชวนให้เราไปออดิชั่น ก็เลยได้เป็นเด็กแกรมมี่”
Born to be Star
“การเป็นแดนเซอร์ที่เต้นท่าตามเพลงมันไม่ได้สนุกนะ เราทำอะไรได้ตั้งเยอะที่เราจะเต้นได้ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่อย่างที่ฉันชอบ แต่ท้ายที่สุดถึงแม้มันจะไม่ใช่อย่างที่ฉันชอบแต่ฉันก็สนุก แล้วฉันก็มีความสุขทุกวันที่ได้ทำ มันเริ่มเห็นมุมนั้นว่า ถ้าอยู่บ้านแล้วยังเต้น แต่อันนี้เต้นแล้วได้ตังค์ด้วย ทำไมจะไม่เต้นวะ ส่วนที่สนุกก็สนุก ก็เลยทำไป แต่เราก็เก็บตรงส่วนที่เราอยากจะนำเสนอไปเพราะตอนนั้นก็เริ่มมีการประกวดเต้นอย่างอื่นโผล่ขึ้นมา ถ้าเราไปประกวดเต้น ก็คือเราได้เต้นท่าที่เราคิดเอง ก็ยังดื้อ ก็ยังประกวดเต้นอยู่ ในที่สุดก็มาประกวด Born To Be Star ของ RVS (Radio Vote Satellite 93.5 ปัจจุบันคือ EFM94)”
เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ
“ตอนที่เขาติดต่อมาให้เล่น 15 ค่ำ เดือน 11 (2545) เราก็ไม่เล่น ปฏิเสธไป 3-4 ครั้ง จนท้ายที่สุดเจอพี่ผู้ใหญ่ในแกรมมี่ เขาบอกว่า ‘ไหน มั่นใจแค่ไหน’ คือเขาตามไปแคสเองนะ ผู้ใหญ่เรียกก็ไปเถอะ แล้วก็โดนถามคำถามแรกว่า ‘รู้จักบั้งไฟพญานาคไหม’ ‘รู้ครับ’ ‘รู้ไหมมันเกิดจากอะไร’ ก็พูดตามตรงไปเลยว่าไม่อยากรู้ ไม่เป็นไร ลองพูดบทต่างๆ เราก็ใช้ตัวเราเล่น ไหนลองเขิน เราก็เขิน ก็เป็นตัวเองไปจนกลับบ้านไปให้บทไปดู เป็นคนชอบอ่าน บทหนังที่ได้ไป ตอนนั้นที่อ่านคือร้องไห้แล้วก็คิดว่า เฮ้ย นี่มันมันมีหนังไทยอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ เราอยากเป็นส่วนร่วมกับงานดีๆ อีกชิ้นนึงแค่นั้นเลย
“ตอนนั้นไม่รู้ต้องเล่นเป็นอะไรด้วยซ้ำ ก็เลยบอกเขาว่าอยากเล่น อยากเล่นแล้วใช่ไหม อยากเล่นก็ไปฝึกพูดภาษาอีสาน ทำทุกอย่างเพื่อที่จะรู้สึกว่าขอให้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้โดยที่ยังไม่รู้ว่าได้เล่นเป็นพระเอก หลังจากนั้นก็ไปเทสต์อีกทีนึง เขาก็บอกว่า ‘อ่านบทหรือยัง’ ‘อ่านแล้ว ก็ชอบ’ ‘งั้นทำงานด้วยกันเถอะ ไม่ต้องแคสหรอครับ ผมแค่อยากมาบอกคุณด้วยตัวเอง’ แล้วก็เดินออกมา คนที่บอกคนเมื่อกี้แหละคือผู้กำกับ ก็คือพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ไม่รู้เลยว่าเขาคือเทพ คือคนที่ทุกคนต่างรอคอยหนังเรื่องแรกของพี่เก้ง
“ฉากแรกคือฉากที่คานเดินลงมาถือกล่องเดินมาส่งพี่อลิศ แล้วกำลังจะข้ามแม่น้ำไปฝั่งลาว แล้วก็พูด นั่นคือฉากแรก ยังไม่มีบทพูด ตื่นเต้นไปหมด แล้วก็นั่งเครื่องบินไปลงอุดรธานี ตอนเป็นแดนเซอร์ก็นั่งเครื่องบินบ่อยแหละ แต่อันนี้มันบ่อยมาก เพราะช่วงนั้นยังเรียนอยู่ก็ต้องถ่าย สอบเสร็จนั่งเครื่องบินไปสอบ แล้วก็นั่งเครื่องบินกลับ รู้สึกชีวิตมันช่างดูไฮโซจังเลย นั่งเครื่องบินวันละ 2 รอบแล้วก็ตื่นเต้นกับเพื่อนนักแสดงด้วยกันมากกว่า”
หน้ากากแก้วคือครูสอนการแสดง
“เราไม่เคยเรียนการแสดง ครูสอนการแสดงของเราคือคิตาจิมะ มายะ จากการ์ตูนเรื่องหน้ากากแก้ว เรามีเพื่อนที่เป็นพวกทีมละครแบบทีมเล็กๆ ที่เขาทำงานประจำกัน ก็มาซ้อมละครกันเล็กๆ นั่นคือเพื่อนกลุ่มแรก ไปนั่งดูเขาซ้อมแล้วเขาก็ทำเวิร์กช็อป ตอนนี้เราเป็นกระดาษ ขยายใหญ่ ขยำๆ เราก็ดูเขาตัวเล็กๆๆ ทำหน้าหงุดงูยเหมือนโดนขยำจริงๆ แต่เราก็ไม่เก็ทหรอกว่ามันคืออะไร ก็ไปดูทุกวัน จนถามเขาว่ามีหลักสูตรสั้นๆ ที่ทำให้ผมเข้าใจการแสดงง่ายขึ้นไหม ‘ชอบอ่านการ์ตูนใช่ไหม อะ เอาไป 40 เล่ม’ ซึ่งมันก็ได้ผล
“หน้ากากแก้วคือเรื่องราวของนักแสดงสองคน คนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ กับคนหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับการฝึกฝน แข่งกันว่าใครจะเด่นจะดัง แต่เขาก็บอกทุกอย่างก่อนที่จะเล่น สิ่งที่เราต้องรู้ของตัวละครคืออะไรบ้าง แต่ตอนที่เราไปกองก็มีป้าแจ๋ว (ยุทธนา ลอพันธ์ไพบูลย์) มาโค้ชในแง่ที่ว่าเราทำงานเราต้องเจออะไร เช่น เราต้องบล็อกกิ้ง เราต้องดูมาร์ค เราต้องซ้อมก่อนแสดง เราต้องดูกล้องโดยเฉพาะหนังที่ถ่ายกล้องเดียว เราต้องเล่นแบบนั้นกี่ครั้ง เราต้องจำอะไรบ้าง ป้าแจ๋วจะมาเวิร์กช็อปสิ่งเหล่านี้ให้ประมาณ 3 ครั้ง แล้วก็ถามป้าแจ๋ว ‘ป้าแจ๋วครับ มันมีจริงไหมครับอย่างที่มายะแสดง แล้วคนที่ดูอยู่ข้างหลังจะต้องขยี้ตา’ ป้าแจ๋วก็บอก ‘อีมายะมันเป็นบ้า อย่าไปอ่านมัน’ เราก็แบบ ‘ไม่จริงอ่ะ’
“คือเราเป็นพวกที่อินการ์ตูนมาก แล้วก็เพ้อเจ้อกับสิ่งพวกนี้ ทุกครั้งที่เวลาเล่นเราก็ต้องรู้สึกว่ามันต้องทำได้ เราเชื่อว่าเราเล่นแบบนั้นได้ คนอื่นก็ต้องเชื่อสิ เพราะฉะนั้นเวลาเล่นอะไรมันก็ต้องเชื่อในตัวเองพอสมควรแหละ เพราะตรงหน้าที่เราเห็นในขณะที่เราแสดง คนอาจจะเห็นเราใช่ไหม แต่ในสายตานักแสดงคือกล้องๆๆๆ ทีมงานและทีมงานและทีมงาน ถ้าพี่ไม่เชื่อว่าฉันอยู่ในห้องนี้โดยที่ไม่มีคนอยู่ข้างหน้ามันก็ยากมาก เพราะฉะนั้นมันต้อง ไม่อยากใช้คำว่าหลอกตัวเอง ใช้คำว่าเชื่อตัวเองให้ได้ในเลเวลนั้น ก็คงบ้าไม่ต่างกับมายะ”
อย่างอื่นที่เหลือ ก็แล้วแต่ฟ้ามันพาไป
“วันฉายรอบปฐมทัศน์เข้าเกณฑ์นักร้องทุกคนของแกรมมี่ไปดู ก่อนหนังฉายเราก็อยู่บนสเตจเล็กๆ พูดสัมภาษณ์นักแสดง ทุกคนคือหน้าใหม่หมด เสร็จปุ๊บ เข้าไปในโรงหนัง หนังจบปุ๊บพี่พีอาร์เดินตามแล้วก็บอกว่าไปสัมภาษณ์ ฟิลลิ่งแรกตอนที่เห็นหน้าตัวเองในโรงหนังคือแบบ แม่งใหญ่มากเลย แล้วมันก็ ‘จริงเหรอวะ’ แต่พอมันที่มันบอกว่ามันจริง ก็คือพอเดินออกมาปุ๊บแล้วพี่อิน บูโดกัน ซึ่งตอนนั้นดังมาก ‘นี่ พระเอกๆ ขอถ่ายรูปหน่อย’ เฮ้ย เมื่อกี้ก่อนเดินเข้ามา ไม่มีใครสนใจเราเลย พอหนังจบปุ๊บออกมาแล้วมีนักร้องของแกรมมี่เขารอถ่ายรูป ซึ่งตอนนั้นเราเดินในตึกในฐานะแดนเซอร์คนหนึ่ง วันนั้นเริ่มรู้สึกว่า เรากำลังยังไงวะ ค่อนข้างตื่นเต้นกับมันไม่ได้เท่าไหร่ ก็ต้องไปเตรียมโปรเจต์ของโหมโรงแล้ว เพราะมันซ้อนกันมาก เพราะฉะนั้นตอนนั้นก็คือยังไม่รู้สึกอะไรเลยกับการที่อยู่ในวงการ
“มีบ้างที่ไปเดินจตุจักร เพื่อนเดินตามหลังแล้วก็มีคนเดินมา สักพักหนึ่งเดินสวนไปปุ๊บเพื่อนก็บอก มึงได้ยินหรือเปล่า ไม่ได้ยิน เมื่อกี้มีคนเดินสวนมึงแล้วก็บอกกับเพื่อนว่า ‘แกๆ ฉันเดินผ่านดารา ดาราที่ไม่ดังอะ’ ซึ่งเพื่อนก็โมโห ผมก็บอกว่า เราก็ไม่ได้ดังจริงๆ นะ ไม่ แต่มึงเล่นหนังที่ดีไง หนังที่ดีกับดังมันคนละเรื่องกัน ซึ่งกูว่ากูก็ไม่ได้ดัง แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ดังจริงๆ ไม่เคยรู้สึกว่าจะกล้าใช้คำว่าดาราเลยแม้แต่นิดเดียว
“คนที่เปลี่ยนมุมมองคือครูแอ๋ว ซึ่งเป็นครูสอนแอคติ้ง วันนั้นเป็นงานเทศกาลหนังกรุงเทพฯมีหนัง มีนักแสดงไทยมากมาย หนึ่งในนั้นคือติ๊ก เจษฎาภรณ์ (ผลดี) นั่งรถเปิดประทุนเข้ามา เราก็เดินมาในฐานะนักแสดงโหมโรง คนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก พี่ติ๊กเนี่ยแค่นั่งรถเข้ามาคนก็กรี๊ด กรี๊ดดังมากแล้วเราก็ ‘นี่ไงดารา’ ‘นี่คือดารา’ แล้วเสร็จปุ๊บ เข้าไปในงาน ก็ยืนถือแก้วแล้วก็หลบแล้วก็มองดาราคนนู้นดาราคนนี้ ก็จะตื่นเต้นทุกครั้งที่เจอดาราเยอะๆ ครูแอ๋วเดินมาบอกว่า ‘ทำไมมายืนอยู่ตรงนี้’ ‘ก็โอชอบยืนอยู่ตรงนี้’ ‘อายใครอะ อายอะไรแอบอะไรอยู่’ ‘ไม่ได้แอบ ก็ไม่ได้อายใคร แต่ไม่ชอบออกไปเดินเจอคนในงาน’ ตอนนั้นก็คือไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว หนังเราแย่หรอ เราอายหนังตัวเองหรือเปล่าโหมโรงเนี่ย ไม่อาย หนังเราดีไหม ดี งั้นโอก็มีภาษีไม่แพ้ติ๊ก ออกไปเดินให้ทุกคนเห็นว่าเราคือพระเอกโหมโรง เท่านั้นแหละ มุมมองเราก็เปลี่ยนเลย
“ถ้าเราภูมิใจในงานของเรา เราก็ต้องภูมิใจในตัวเอง เพราะเราคือส่วนที่ทำให้ทุกอย่างมันดี หลังจากนั้นก็มันใจ กล้าที่จะพูดว่าเราคือนักแสดง มันไม่ใช่อาชีพที่น่าอาย แล้วก็ถ้าเราภูมิใจในหนังของเรา ซึ่งแน่นอนภูมิใจมาก จนตอนนี้ครูแอ๋วต้องมาเจอพี่แล้วก็บอกว่าให้ลดๆ ความมั่นใจลงหน่อย เพราะมั่นใจเกินไป (หัวเราะ)”
เมื่อคำชมทำงานมากเกินไป และการทำงานกับคนที่เห็นคุณค่าทำให้เรามีค่า
“คำชมมีผลมาก ทำให้เราเย่อหยิ่ง ทำให้เราโคตรภูมิใจเลย เพราะเราเริ่มจากการเป็นพระเอกมาก่อน พอวันนึงมันก็จะเริ่มสมทบขึ้นเรื่อยๆ ถ้าวันนึงเขาให้เราไปผลักดันดาราดังๆ เราเข้าใจได้ แต่วันนั้นที่เขาบอกว่า โอเค โอไปเล่นซัพพอร์ตตัวนี้ ทำไมโอต้องซัพพอร์ตตัวนี้ แสดงเก่งไหม ก็ไม่ ก็พูดตรงๆ ว่าไม่แฮปปี้ที่จะซัพพอร์ต ถ้ายอมรับที่จะซัพพอร์ต อีกสักพักเราต้องเป็นคนขับรถแล้ว เราเข้าใจแหละว่าวันนั้นมันต้องมาถึง แต่เราจะ Maintain ตัวเองยังไงให้ไปถึงช้าหน่อยได้ไหม จนกระทั่งเวลาที่ที่อื่นส่งบทอะไรมา นั่นคือตัวที่ทำให้เราบอกกับตัวเองว่าเรายังมีค่าอยู่ เพราะเวลาที่ค่ายอื่นนอกเหนือจากค่ายที่เรารักมากๆ ส่งบทมา อย่างตอนกี่เพ้า (2555) พออ่านบทแล้วก็ ‘โห มันมีคนปฏิเสธมาหรือเปล่าวะง หรือพี่ส่งมาให้โอเลย ใครจะกล้าปฏิเสธบทอย่างนี้วะ ไม่รู้ว่าเขาตอบว่าอะไรแต่ตอนนั้นเล่นไปแล้ว แล้วก็พบว่าการทำงานกับคนที่เห็นค่าเรามันดีมากเลย
“ไม่รู้ว่าดาราคนอื่นเขาทำกันหรือเปล่า ก่อนหน้านี้เราก็มักจะเสิร์ชหาชื่อตัวเอง เพราะว่าเราก็จะได้เห็นคำชื่นชมที่คนอื่นพูดถึง มันเป็นกำลังใจที่ดีแล้วก็บอกกับตัวเองว่า มันมีคนที่เห็นเราอยู่ ถึงแม้ว่าบางวันกองถ่ายนี้ เขาอาจจะให้เราถ่ายดึกๆ เพราะเขารู้ว่ามีดาราเบอร์ใหญ่กว่าต้องรีบไป มันก็มีบ้างที่อาจะจะน้อยใจ แต่ท้ายที่สุด ไอ้สิ่งที่แบบ เขาใหญ่กว่า เขาดังกว่า แต่มีดาราไม่กี่คนหรอกที่ได้รางวัลเยอะขนาดนี้ มันจะเป็นตัวบอกเราแล้วทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงจุดไหน อย่างน้อยที่สุดมันไม่ได้ทำให้เราเย่อหยิ่ง แต่มันทำให้เราภาคภูมิใจกับตัวเอง”
เมื่อได้ทำงานกับดาราที่นับถือ
“เราเคยเจอพี่จอย (ศิริลักษณ์ ผ่องโชค) จริงๆ คือเขานั่งอยู่ในร้านอาหาร แล้วเรากำลังจะไปกินร้านไอศกรีมติดกัน แล้วพี่ก็เห็นเขาปุ๊บ แล้วก็มองๆ ก็เลยบอกเพื่อน แล้วเพื่อนก็ ‘ไปขอเขาถ่ายรูปสิ’ เราก็บอก ไม่ได้ เขานั่งอยู่ในร้านอาหารกับเพื่อนๆ เขา เข้าไปขอถ่ายรูปดาราในเวลากินข้าวมันดูเสียมารยาท แล้วก็เลยกลายเป็นไปนั่งรอเขาหน้าร้านสักพัก จนเขาเดินออกมาแล้วก็พูดคุยกับเขา แล้วก็ตอนเด็กๆ ตื่นเช้าเวลาไปโรงเรียนแล้วไปคุยกับเพื่อนเรื่องละครที่เพิ่งจบเมื่อคืน เป็นกิจวัตรที่มีความสุขมากเลย แล้วหนึ่งในเรื่องที่ทุกคนคุยกันก็คือรักเดียวของเจนจิรา แล้วนั่นก็คือละครที่พี่ชอบมากของพี่จอย
“พอได้พูดกับเขาว่าอยากเล่นกับเขา เขาก็อธิบายมาว่าเขาอาจจะไม่ค่อยได้รับละครแล้ว เพราะฉะนั้นวันที่ช่อง 8 ติดต่อมาว่าพี่กวาง (กมลชนก โกมลธิติ) อยากให้เล่นเป็นลูกคนเล็ก ก็คิดต่อว่าเดี๋ยวก่อน คือบทมันเด็ก ทุกคนลืมว่าเราอายุเท่าไหร่แล้ว แต่พอบอกว่ามีพี่จอยอยู่ด้วย โหย ชีวิตพี่เนี่ยโคตรโชคดีเลย ความฝันหลายๆ อย่างมันเป็นจริงมาก ตอนนั้นยังแทบจะไม่รู้เลยว่าเรื่องราวเป็นยังไง แค่รู้สึกอยากทำงานด้วยกัน
“การรับส่งอารมณ์โดยที่เราไม่ต้องพยายามมันว้าวมาก ถ้าให้เล่าในเนื้อเรื่องก็คือ ระดมเวลาอาการกำเริบเขาจะจำไม่ได้เลยว่าเขาทำอะไรลงไปบ้าง ซึ่งเขาก็จะทำร้ายคน พอทำร้ายคนจนหมดแรง ตื่นมาปุ๊บเห็นสภาพห้อง เห็นรอยข่วนที่แขน เห็นทุกอย่างที่มันแบบ เชี่ย มันต้องเกิดอะไรอย่างที่เคยเกิดแน่ๆ เลย นี่คือซีนตอนที่อ่านบทแล้วก็พังมาก แล้วพอไปเห็นว่าแบบพี่เขาต้องไปมุดอยู่ใต้บันได ที่เดียวที่เขารู้สึกมันเซฟที่สุด แล้วเป็นบันไดแคบๆ แล้วเขาแบบ ‘อย่าเห็นฉันนะๆ’ แล้วพอเราไปเห็นเขาอยู่อย่างนั้นมันไม่ต้องพยายามเชื่ออะไรเลย ไม่ต้องพยายามบิ้วด์ ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น แต่เห็นพี่จอยที่สั่นอยู่ใต้บันได ซึ่งมันคือความสามารถทางการแสดงของเขาที่ส่งออกมาจนแบบ มันก็ฟิน เพราะฉะนั้นมันสนุกมาก เอาแค่ได้เล่นด้วยกัน ก็ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติที่หาไม่ได้จากคนอื่นแล้ว สำหรับเรามันแบบสนุกมาก
“การทำงานด้วยกันมันคือการเรียนรู้ การได้เห็นคนๆ หนึ่งมากขึ้นที่มีทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี เพราะบางคนในฝัน เอ้า ไม่เก่งขนาดนั้นนี่หว่า ก็มีเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพี่จอยแกเป็นฝันที่เป็นจริงขึ้นไปอีก ได้เรียนรู้ วันสุดท้ายที่ถ่ายเสร็จ ได้ไปกอดพี่จอยแล้วก็ร้องไห้ บอกว่าพี่รู้ใช่ไหมว่าสำหรับโอมันยิ่งกว่าการทำงาน มันดีมากเลย มันเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่มีความสุข”
ถ้าไม่ใช่โอ อนุชิต ในวันนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเล่นบทนี้ได้มั้ย
“บทระดมมันต้องใช้ประสบการณ์ทุกอย่างในการผลักตัวเอง ฟูมฟายทันทีเมื่อถูกกระทำ ก่อนหน้านี้ ต้องถามให้น้ำตาไหลทำยังไงก่อนดีกว่า ฉากร้องไห้กับนักแสดงเป็นอะไรที่แบบ ที่สุด โดยเฉพาะถ้าบทเขียนว่าร้องไห้แล้วมีตัวละครไปปาดน้ำตา ถ้ากูไม่ร้องไอ้นี่ก็ไม่มาปาดน่ะสิ บทอย่างนี้เนี่ยนะ เชี่ยที่สุด อ่านบทแบบนี้ปุ๊บแล้วคิดว่าจะทำยังไง ซึ่งคนอื่นก็จะคิดว่า ‘พี่โอร้องให้ได้สบาย’ ไม่จริง มันก็มีวันที่ไม่มีหรือไม่ได้ ไม่สามารถได้ พวกนี้ทั้งหมดมันเกิดจากประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เราเข้าใจว่า คนที่มันพังทลายแตกร้าวมาจากข้างใน มันรู้สึกยังไง มันทำให้เราเชื่อทุกอย่างมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาตัวละครหลายๆ ตัวจากละครหลายๆ เรื่องมันก็มีความเชื่อยากเหลือเกินว่ามีคนแบบนี้จริงอยู่หรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดแล้วเราต้องเชื่อ แล้วก็ต้องเป็น พอทุกอย่างมันค่อนข้างเอา ก็เริ่มจากเบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 เบอร์ 4 มันจะระดมขึ้น เราเคยพีคจนถึงเบอร์ 8 ขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นกูระดมเบอร์ 10 ก็ไม่ได้ยากที่จะไต่ขึ้นไปเท่าไหร่ เพราะเรามีประสบการณ์มาแล้ว เพราะฉะนั้นอย่างที่บอก ถ้าไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ มั่นใจว่าคงจะช้ากว่านี้มาก”
บทเรียนจากการเป็นนักแสดง
“ล่าสุดคือได้จากกาหลมหรทึก (2561) หลักๆ ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงชีวิต คือเราไม่ได้มองคนที่การกระทำ เรามองคนที่เหตุผล ทำทำไมอะ เราอยากรู้แค่นั้นเลย จบ แล้วก็หน้าที่ตัดสินคนไม่ใช่ของเรา เราแค่รับรู้ ถ้าอยากรู้ อะ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง แต่อย่าตัดสิน คุณไม่รู้เลยว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เพราะแค่กระทบนิดเดียว คนก็เปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ สิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ ก็รู้ก็แค่นั้น จบแล้ว อย่าตัดสินและอย่าตัดสิน หรือถ้าจะตัดสินก็ใจดีกันหน่อย มันยิ่งโหดร้ายขึ้นทุกวัน บางอันมันโหดร้ายมากเกินไปจน เชี่ย ทำไม คิดว่าเขาไม่อ่านกันหรอ คิดว่าเขาไม่รู้กันหรอเขียนวิจารณ์อะไรกัน โหดไป แต่ก็นั่นแหละฮะ มันก็คือสังคมในยุคนี้ ที่เราทำได้ก็คืออย่าอ่าน มึงก็อย่าอ่านสิ ก็บอกตัวเอง”