Partner with DiverCity – Inclusive Platform.
ประเด็นการเปิดเผยสถานีเพศวิถีของตนเองในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเกย์ในประเทศไทย มักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งบนหน้าสื่อและบนโลกออนไลน์ หลายครั้งความเห็นเหล่านี้ก็มักจะถูกทับถมด้วยการดูถูก เหยียดหยาม เมื่อมีการเปิดเผยสถานะเกิดขึ้น แต่ในอีกหลายครั้งหลายคนก็จะโดนนินทาหากตัวเองไม่ได้เปิดเผยสถานะเพศวิถีให้ชัดเจนต่อสังคม
คำถามที่เกิดขึ้นในหัวคือ “แล้วทำไมเขาจะต้องเปิดเผยเพศวิถี?”
จริงๆ แล้วการเปิดเผยตัวตนในกลุ่ม LGBTQ+ (Self-disclosure) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “เปิดตัว” (Coming out) ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาตัวตนทางอัตลักษณ์ ทั้งในเชิงสังคมและการสร้างตัวตนที่ง่ายขึ้น โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมามีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้ โดยได้สำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการนี้ ผลกระทบทางจิตวิทยา และพลวัตที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างกว้างขวาง ซึ่งเอาเข้าจริงมันมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการ “เปิดตัว” อยู่มากพอสมควร
คนแบบไหนที่จะตัดสินใจ “เปิดตัว” มากกว่า
จากการศึกษาเกี่ยวกับเยาวชน LGBTQ+ พบว่าการตัดสินใจเปิดเผยตัวตน มักจะคำนึงถึงผลกระทบด้านลบก่อนเสมอ เช่น ความกลัวต่อการไม่ถูกเป็นที่ยอมรับต่อสังคม หรือการถูกมองว่าเป็นเรื่องบาปจากการที่ตนเองอยู่ในศาสนานั้นๆ มากกว่าผลกระทบต่อตนเองในเชิงบวก เช่น ความต้องการความเป็นตัวของตัวเอง
นอกเหนือจากนี้ ในการศึกษายังบอกด้วยว่าบุคคลที่มักจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเองในชีวิตประจำวัน มักจะมีแนวโน้มที่จะ “เปิดตัว” เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศมากขึ้น โดยไม่ได้รับผลกระทบจากความรู้สึกเชิงลบที่เกิดจากการเกลียดชังตัวเอง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปิดเผยเพศวิถี
จริงอยู่ที่ใครหลายคนกล้าเปิดเผยเพศวิถีของตนเอง เพราะอาจจะด้วยวิถีชีวิตและการที่คนๆ นั้นอยู่ในสังคมที่โอบรับ แต่สำหรับใครอีกหลายคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าควร “เปิดหรือปิด” ตัวตนแล้วละก็ อย่าเพิ่งรีบตัดสินเขาคนนั้น หรือแปะป้ายเขาว่าเขาเป็น “อีแอบ” แบบที่ใครหลายๆ คนเคยตัดสิน ซึ่งเอาจริงๆ คำนี้ค่อนข้าง “แก่” พอสมควร ถ้าในยุคนี้ก็น่าจะเรียกว่า “กุลเกย์” นั่นแหละ ลองมาอยู่ปัจจัยและสถานการณ์ที่อาจจะทำให้เขาต้องคำนึงว่าจะเปิดตัวดีหรือไม่กันก่อน
ความสัมพันธ์ในครอบครัว
การเปิดเผยอัตลักษณ์ LGBTQ+ ให้พ่อแม่รับรู้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาตัวตนในเยาวชน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูกมีบทบาทสำคัญต่อผลลัพธ์ของการเปิดเผยหรือไม่ บางครั้งสังคมในครอบครัวคนเก่าแก่ก็อาจจะไม่ได้โอบรับให้เขากล้าที่จะพูดเรื่องเพศวิถีก็เป็นไปได้ หรือบางครอบครัวก็อาจจะมองว่าผู้ชาย คือต้องมีกล้าม ดูแมน สมาร์ท และต้องมีลูก ซึ่งยังติดกรอบเก่าอยู่ ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยปากปรึกษาปัญหาเพศกับครอบครัวด้วยซ้ำ ยังไม่นับประเด็นเรื่องศาสนาที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลามเอง ก็มีบางส่วนที่กดทับทำให้ผู้คนไม่กล้าเปิดเผยเพศวิถีของตนเองเช่นกัน
การเปิดเผยเพศวิถีในระบบสุขภาพ
อันที่จริงแล้วการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถช่วยปรับปรุงข้อมูลทางสุขภาพได้ เนื่องจากช่วยเสริมสร้างการสื่อสารและความเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนลังเลที่จะเปิดเผยเนื่องจากกลัวการถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อตนเองต้องเจ็บป่วยจากโรงคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อันเนื่องมาจากในระบบสุขภาพของเมืองไทยก็ยังมีบุคลากรอีกหลายคนที่ยังตีตรา ตัดสินผู้ป่วยว่าติดแบบนี้เพราะเพศวิถีของตนเองรึเปล่า?
การเปิดเผยในที่ทำงาน
แม้ว่าจะมีการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่บุคคลในกลุ่ม LGBTQ+ อาจเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการเปิดเผยหรือปกปิดอัตลักษณ์ของตนเอง เพราะอาจจะกลัวการถูกเป็นที่พูดถึง หรือการถูกล้อเลียน จนไปถึงการกลั่นแกล้งในที่ทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม อันนี้ยังไม่นับตั้งแต่ในสถาบันการศึกษาด้วยซ้ำ
สังคมเฮงซวย กลัวเป็นขี้ปากชาวบ้าน เลยปิดแม่งเลย!
อันที่จริงจากที่ยกตัวอย่างการเปิดตัวและปัจจัย คงต้องบอกว่าการที่คนๆ หนึ่งตัดสินใจไม่เปิดตัว ก็อาจจะเพราะสังคมรอบข้างทั้งในระบบสุขภาพ หรือในครอบครัว เพื่อนฝูงมักไม่โอบรับ ซ้ำยังมีนิสัยชอบนินทาชาวบ้าน เลยคิดว่าการเปิดตัวอาจจะทำให้ตัวเอง “ถูกเลือกปฏิบัติ” ได้ในที่สุด และแน่นอนว่ามันส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน
การปกปิดรสนิยมทางเพศของตนเอง มักจะเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตที่แย่ลง เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและส่งเสริมการแสดงออกอย่างแท้จริง สามารถช่วยให้บุคคลยอมรับตนเองและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้บุคคลในกลุ่ม LGBTQ+ มักเผชิญกับความเครียดที่ไม่เหมือนใคร เช่น การเกลียดตัวเองภายใน และความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการเปิดเผยตัวตน
แล้วเราควร “เปิดตัว” จริงๆ เหรอ
ถ้าหากให้พูดตามความเป็นจริงแล้ว การเปิดตัวหรือไม่คงไม่ใช่เรื่องสำคัญมากนัก คนที่เปิดตัวว่าเพศวิถีของตนเองเป็นแบบนี้ อาจจะเพราะด้วยสังคมยอมรับและเข้าใจมากพอสมควร ส่วนคนที่ยังไม่เปิดเผยเพศวิถีเองก็คงมีหลายเหตุผลของเขา ทั้งครอบครัว การงาน และ “คตวามพึงพอใจของตนเอง” ก็น่าจะพูดได้ง่ายๆ ว่า “ไม่ต้องเสือก” นั่นแหละ
การเปิดเผยตัวตนหรือไม่นั้น เป็นสิทธิของตนเองที่สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ทันที คนที่ไม่เปิดเผยบางครั้งไม่ใช่เพราะปัญหาด้วยซ้ำ แต่เขาพอใจและอยากให้คนรอบข้างโฟกัสและชื่นชมเขาในงานที่เขาทำมากกว่าเอาเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง แต่คนที่เปิดเผยก็อาจจะเป็นเพราะเขาภูมิใจในตัวตนของตนเองด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าเพื่อนของเรา หรือตัวเราเองจะตัดสินใจ “เปิดตัว” หรือไม่ สิ่งสำคัญคือทำความเข้าใจกับตนเองและรักตัวเองให้มากๆ เช่นกันกับเพื่อนรอบข้างก็ควรที่จะโอบรับการตัดสินใจนี้และดูแลเพื่อนของตนเองให้ดีที่สุด รวมถึงไม่นินทากาเลเพื่อนของตนเอง เพราะเมื่อเขาตัดสินใจแบบไหนก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาได้ทำแล้ว คือเขาได้เคารพและยอมรับตัวเองแล้ว ให้เขาตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อนรอบๆ ข้างก็ไม่ต้องไปโน้มน้าว ชี้แนะอะไรเขามาก ให้ได้มากสุดคือคำแนะนำก็เป็นอันพอใช้ได้
เพราะเราไม่ใช่เขา และเขาไม่ใช่เรา
ทุกคนควรมีชีวิตที่เคารพกันและกันเป็นของตนเอง