หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพในซีรีส์เกาหลีว่าผู้ชายโดยเฉพาะพระเอกต้องเทคแคร์ ให้ความอบอุ่นและดูแลผู้หญิงเป็นอย่างดี แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราก็มักจะเห็นข่าวว่าดาราซีรีส์เกาหลีหลายคน โดยเฉพาะคนที่แสดงเป็นพระเอก กลับมีพฤติกรรมและลักษณะนิสัยแบบสุดขั้วมากเลยทีเดียว 

เช่นเดียวกับเคสของคิมซูฮยอน และ คิมแซรนที่เพิ่งเป็นข่าวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากคิมแซรนตัดสินใจจบชีวิตในวันเกิดของคิมซูฮยอน จากหลากหลายปัญหาที่เขาทั้งคู่เคยคบกัน ไม่นับประเด็นที่ฝ่ายชายนั้นใช้วิธีการควบคุมฝ่ายหญิงและกดดันให้เธอต้องรักเค้าคนเดียวอีกด้วย

แต่หากดูสังคมของเกาหลีใต้แล้ว ก็จะพบว่าตัวเกาหลีใต้เองเป็นประเทศที่มีรากฐานจากสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ซึ่งหยั่งรากลึกทั้งในวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วน รวมถึงวงการบันเทิง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลสูงและสะท้อนทัศนคติของสังคม

วัฒนธรรมและสังคมไม่เอื้อให้เพศหญิงเติบโต

วัฒนธรรมขงจื๊อ (Confucianism) และโครงสร้างทางสังคมนั้นมีส่วนที่ทำให้โครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่ค่อนข้างมั่นคงเป็นอย่างมาก วัฒนธรรมขงจื๊อนั้นเน้นระบบลำดับชั้นและบทบาทของเพศชาย-หญิง ซึ่งทำให้บทบาทของผู้หญิงถูกลดความสำคัญลง นอกจากนั้นด้วยความเชื่อที่ว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวและผู้นำในสังคม ทำให้ผู้หญิงมักถูกมองว่ามีหน้าที่สนับสนุนมากกว่านำ

บริษัทบันเทิงที่เกิดจากเพศชายมากกว่าเพศหญิง

นอกจากนั้น ด้วยความที่บริษัทบันเทิงขนาดใหญ่ส่วนใหญ่มีผู้บริหารเป็นผู้ชาย ทำให้มีอำนาจควบคุมศิลปินหญิง และกำหนดมาตรฐานความงามหรือพฤติกรรมของพวกเธอ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศของโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ หรือแม้แต่เจ้าของค่ายเพลงที่ใช้ตำแหน่งเพื่อเอาเปรียบศิลปินหญิงเป็นจำนวนมากด้วย

ซึ่งการที่บริษัทบันเทิงขนาดใหญ่บริหารด้วยวัฒนธรรมและเพศสภาพที่เป็นชาย ยังส่งผลทำให้ศิลปินฝึกหัด (Trainee) ต้องอยู่ภายใต้สัญญาที่เข้มงวด ซึ่งมักให้อำนาจฝ่ายบริหาร (ที่เป็นผู้ชาย) ควบคุมชีวิตของศิลปินหญิง และศิลปินหญิงมักถูกสั่งให้รักษาภาพลักษณ์ “บริสุทธิ์” หรือ “เซ็กซี่” ตามที่บริษัทกำหนด ทำให้พวกเธอไม่มีอิสระในการกำหนดตัวตนของตนเอง

ซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลทำให้ไอดอลหญิงมักถูกจับตามองเรื่องความสัมพันธ์มากกว่าผู้ชาย หากมีข่าวเดต อาจถูกโจมตีและถูกบีบให้ออกจากวงการ นอกจากนี้ความนิยมในค่านิยม “แฟนเซอร์วิส” (Fan Service) ทำให้ไอดอลหญิงต้องทำตัวอ่อนหวาน น่ารัก และเข้าถึงได้ตลอดเวลา เพื่อเอาใจแฟนคลับ (ที่ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย)

สังคมไม่ให้คุณค่า แถมยังซ้ำเติมเพศหญิงอีก

จากสาเหตุเหล่านี้ ส่งผลทำให้มีหลายกรณีที่ศิลปินหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้บริหารหรือคนในวงการ เช่น กรณี Burning Sun Scandal ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทางเพศและการใช้ยาเสพติด นอกจากนี้นักแสดงหญิงหลายคนต้องเผชิญกับ “วัฒนธรรมหลับแลกงาน” (Casting Couch) ซึ่งบังคับให้พวกเธอยอมจำนนเพื่อให้ได้งานแสดง

ซึ่งนอกจากผลกระทบด้านการถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว ในด้านการทำงานก็จะพบว่านักแสดงหญิงมักได้รับค่าตัวน้อยกว่านักแสดงชาย แม้ว่าจะมีชื่อเสียงเท่ากัน ตัวอย่างก็เช่น คิมซูฮยอน ได้รับค่าตัวสูงสุดถึง 500 ล้านวอนต่อตอน หรือประมาณ 12.9 ล้านบาท จากซีรีส์ “One Ordinary Day” ในปี 2021 ในขณะที่ ซอง เฮ เคียว ได้รับค่าตัวสูงสุด 200 ล้านวอนต่อตอน หรือประมาณ 5.1 ล้านบาท จากซีรีส์ “The Glory” เป็นต้น และตัวละครหญิงในละครหรือภาพยนตร์มักมีบทบาทรอง เช่น แฟนสาว หรือแม่ มากกว่าการเป็นตัวเอกที่มีมิติซับซ้อน

แต่หากลงไปดูการบริหารศิลปินหญิงในเกาหลีใต้ ก็จะพบอีกว่าศิลปินหญิงถูกบังคับให้ลดน้ำหนักหรือทำศัลยกรรมเพื่อให้ตรงกับมาตรฐานความงามที่ถูกกำหนดโดยสังคมชายเป็นใหญ่ และยังต้องเจอความกดดันจากการรักษาภาพลักษณ์ ทำให้ศิลปินหญิงจำนวนมากเผชิญกับภาวะซึมเศร้า และบางรายถึงกับจบชีวิตตัวเอง เช่น กรณีของซอลลี่และ คูฮารา

ในด้านการทำงานนอกจากตำแหน่งนักแสดงหญิงที่มีปัญหาแล้ว ในด้านการจ้างงานยังพบว่ามีผู้กำกับหญิง นักเขียนบทหญิง หรือโปรดิวเซอร์หญิงจำนวนน้อยมาก ทำให้เนื้อหาที่ผลิตออกมามักสะท้อนมุมมองของผู้ชายเป็นหลัก และเมื่อผู้หญิงมีโอกาสน้อยในการควบคุมกระบวนการผลิต การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจึงเกิดขึ้นได้ยาก

สุดท้ายแล้ว ปัญหาชายเป็นใหญ่ในวงการบันเทิงเกาหลีใต้เป็นปัญหาที่มีรากลึกและส่งผลกระทบต่อศิลปินหญิงในหลายระดับ ตั้งแต่การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการกดขี่ทางโครงสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นทีละน้อย และหากมีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ แฟนคลับ และอุตสาหกรรมบันเทิงเอง ก็อาจช่วยสร้างสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยขึ้นสำหรับผู้หญิงในวงการบันเทิงเกาหลีได้นั่นเอง

Content Creator

  • ณตภณ ดิษฐบรรจง

    บรรณาธิการบริหาร THE F1RST แมกกาซีนออนไลน์ที่เล่าทุกเรื่องราวให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่