fbpx

คุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้บ้างมั้ย?

ฟังเพลงจนร้องได้ แต่ไม่รู้เพลงอะไร

เสียงคุ้นๆเหมือนจะจำได้ แต่นึกไม่ออกว่าเสียงใคร 

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นกับเราเสมอตลอดระยะเวลาหลายปีที่ได้ฟังเพลงของปิงปอง-ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ 

บทเพลงที่เก็บเอาดาวทุกดวง เขียนเป็นท่วงทำนองขับขาน ถักทอและเรียงร้อยคำ จากหัวใจ’ 

คือเนื้อท่อนหลักจากเพลงประกอบละครรุ่นพ่อเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราเคยฟังเมื่อครั้งยังเด็ก น่าแปลกที่ช่วงเวลาล่วงเลยมากว่า 10 ปีแล้ว แต่บทเพลงนี้ยังคงได้รับความนิยมจากอดีตถึงปัจจุบัน และใช่ค่ะ กับคำถามที่ไม่เคยได้รับคำตอบว่าตัวตนที่แท้จริงของ ศิรศักดิ์ เป็นอย่างไร

และเพราะความสงสัย รวมกับบทบาทใหม่บนเส้นทางที่แตกต่างออกไปจากการเป็นศิลปินนี่แหละ ที่ทำให้เราตัดสินใจพาคุณๆไปรู้จักตัวตนในทุกจังหวะชีวิต ของเจ้าพ่อเพลงละครซึ่งครั้งหนึ่งทุกคนรัก

ในฐานะชายที่คนรู้จักหน้า รู้จักเสียง แต่ไม่รู้ใคร 

เมื่อเราพบกัน

การพบกันของเด็กชายศิรศักดิ์และจุดเริ่มต้นเส้นทางดนตรี เกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 7 ขวบ 

ภายใต้การชักนำของบาทหลวงจากโบสถ์แถวบ้าน ซึ่งมองเห็นศักยภาพอะไรบางอย่าง (ที่เจ้าตัวก็ไม่รู้) ส่งผลให้เด็กชายศิรศักดิ์เริ่มต้นเส้นทางดนตรีครั้งแรกในวงประสานเสียง แต่ในตอนนั้นเขาไม่ได้จริงจังกับมันมากนัก เรียกว่าร้องพอให้มีเซนส์และความเข้าใจทางดนตรีติดตัวมาบ้าง

ก่อนที่ทุกอย่างจะถึงจุดเปลี่ยนในช่วงชั้นมัธยมปลาย แรงบันดาลใจจริงๆที่ทำให้ศิรศักดิ์เริ่มฝึกเล่นกีต้าร์ มาจากเพลงดังของวง Extreme ที่ชื่อ More than Words เพราะการตีคอร์ดที่แตกต่างจากเพลงทั้งหมดในยุคนั้น รวมทั้งเทคนิคเพอร์คัสซีฟสแลป (percussive slap) ที่ตนรู้สึกว่าโคตรเท่ ทำให้เด็กชายศิรศักดิ์ในยุคนู้นอยากทำได้บ้าง

“สมัยก่อนกีต้าร์มันมีแค่ตีคอร์ดไงครับ จู่ๆนูโน่ – Nuno Bettencourt เขามาเล่นกีต้าร์แบบตบๆอะ แชะ! โหไม่รู้หรอกว่าทำยังไงแต่สมัยนั้นแม่งโคตรเท่ แล้ววันดีคืนดีเพื่อนที่โรงเรียนก็เอากีต้าร์มาเล่น แชะ! แบบนี้เลย ตั้งแต่เด็กหลังห้องยันตัวเด็กเรียนหน้าห้องอะ เอากีต้าร์มาเพื่อเล่นสิ่งนี้ทั้งๆที่มันไม่เล่นดนตรี จนเรารู้สึกว่า อ้าวเหี้ยทุกคนเล่นได้หมดเลย (หัวเราะ) ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้หัดเล่นกีต้าร์ ซึ่งเอาจริงๆเราก็กะจะเล่นเพลงนี้เพลงเดียวแหละ โชว์สาวเท่ๆ แชะ! เดียวพอแล้ว แต่ปรากฎว่าพอเล่นไปเล่นมามันกลายเป็นเราไม่ไปไหน เอาแต่จับกีต้าร์ สุดท้ายก็โดนบาทหลวง (คนเดิม) ลากไปเรียนทฤษฎีดนตรี เลยเป็นจุดเริ่มต้น” 

เมื่อเริ่มเข้าใจทฤษฎีดนตรี ร่วมกับฝีมือในการเล่นกีต้าร์จากช่วงมัธยมปลาย ศิรศักดิ์พกเอาความสามารถที่สั่งสมมา พร้อมความฝันที่อยากแต่งเพลง ก้าวเข้าสู่รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่สร้างศิลปินรุ่นพี่ในวงการยุคอัลเทอร์เนทีฟมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ป๊อด – Moderndog, โป้ Yokee Playboy, สินเจริญบราเธอร์ส, รวมไปถึง สยามซีเคร็ทเซอร์วิส

บนความหวังว่าตนจะสานฝันได้ไม่ต่างจากรุ่นพี่ ศิรศักดิ์เริ่มทำเดโม่กับเพื่อนในคณะ โดยทำดนตรีแนวร็อกพร้อมซาวน์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำๆตามความนิยมในยุคนั้น และเริ่มหว่านไปตามค่ายเพลงต่างๆ 

แต่อาจเป็นเพราะจังหวะที่ไม่ดี หรือโชคไม่เข้าข้าง 

ท้ายที่สุดค่ายเพลงอินดี้ต่างๆเริ่มทยอยล้มหายตายจาก ตั้งแต่ E Minor ค่ายแรกที่ตนเสนอ จนถึง Philharmonic ที่เกือบจะได้เดบิวต์ภายใต้การโปรดิวซ์ของ เต๊าะ-จามร วัฑฒกานนท์ (Kidnappers) ก็ต้องปิดไปด้วยพิษเศรษฐกิจ ศิรศักดิ์ในวัย 19 ปี จึงต้องพับแผนความฝัน และผันตัวเองมาทำอาชีพนักดนตรีกลางคืน ก่อนที่เขาจะได้พบกับ แน่น-สราวุธ เลิศปัญญานุช ชายผู้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล 

“พี่แน่นเป็นรุ่นพี่ครุดนตรีที่ทำเพลงประกอบละครเวที กับทำเพลงประกอบละครให้ เอ็กแซกท์ ครับ พี่แน่นมาดูผมเล่นที่ร้าน เหมือนแกเห็นอะไรก็ไม่รู้อะ แต่แกเรียกไปด่าก่อนนะ แบบเฮ้ยปองมึงเล่นเพลงเหี้ยอะไรเนี่ยโคตรเร็วเลย ก็บ่นตามประสาแกอะ แต่สุดท้ายก็ถามผมว่าร้องเพลงประกอบโฆษณามั้ย ร้องคอรัสมั้ย นั่นละครับเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ร้องเพลงกับพี่แน่น” 

ผิดถูกไม่รู้

เพราะโอกาสจากพี่แน่น ทำให้ศิรศักดิ์ในวัย 20 ปี มีงานร้องเพลงเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องคอรัสให้กับ Smallroom ในยุคแรก ไปจนถึงการร้องเพลง ฉันเลือกเอง เพื่อประกอบละครเรื่อง เพื่อนร้างบนทางรัก (2542) ซึ่งเป็นกระแสให้คนพอจะเริ่มคุ้นชื่อของปิงปอง ศิรศักดิ์ในฐานะนักร้องเพลงประกอบละคร 

แต่จุดเปลี่ยน (อีกครั้ง) ที่ทำให้ชื่อของ ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์โด่งดังนั้น เจ้าตัวบอกว่ามาจากจังหวะล้วนๆ ที่ตนบังเอิญได้ร้องเพลง แทนใจ เพลงประกอบละครเรื่อง เพลงผีบอก (2543) โดยที่เจ้าตัวเล่าเบื้องหลังในการทำงานให้เราฟังว่า ก็ไม่ได้คิดว่าเพลงจะดัง แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะชอบกันมากขนาดนี้ 

“คือไอ้เพลงนี้มันแบบด่วนมาก ประมาณว่าวันนี้วันจันทร์วันศุกร์มันต้องออนแอร์แล้ว แต่เพลงละครยังไม่มีเลย (หัวเราะ) คือไม่รู้นะว่ามีปัญหาอะไรกันมา แต่สิ่งที่ได้ยินคือมึงเอาใครก็ได้ เอามาร้องเดี๋ยวนี้ ที่มันไม่ได้ร้องเพลงแย่เกินไป และใช่ครับหวยมาออกที่ผม 

สมมติให้ตอนนั้นเป็นวันจันทร์นะครับ ตอนเที่ยงพี่แน่นโผล่มา บอกว่าตอนเย็นจะเอาเมโลดี้มาให้ เย็นวันนั้นเขาก็โผล่มาพร้อมเทป 1 ม้วนเป็นมิดี้แบบโคตรรีบทำ ให้เราไปจำทุกอย่างให้ได้ แล้ววันอังคารเราก็ได้เนื้อเพลง แล้วทุกอย่างก็อัดมิกซ์จนเสร็จในคืนวันพุธ ซึ่งตอนนั้นผมเล่นดนตรีกลางคืนด้วย ก็คือสภาพเรานี่แบบ โอยกูจะตายอยู่แล้ว อยากกลับไปนอนเหลือเกิน แต่ก็เสร็จไปนะครับแบบอดหลับอดนอนนั่นแหละ ละครก็ออนแอร์ทัน แล้วเพลงมันก็ดันดังเฉยเลย (หัวเราะ)” 

เพราะความดังของเพลงแทนใจ ไปต้องตาพี่บอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ จากเอ็กแซกท์เข้า พี่บอยจึงทำการยื่นข้อเสนอเพื่อปั้นปิงปอง ศิรศักดิ์ให้เป็นศิลปินเบอร์แรกของค่าย แลกกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์หลายๆอย่างเพื่อให้เหมาะกับการเป็นศิลปินมากขึ้น 

ศิรศักดิ์ในวัย 20 ปี เฝ้าถามตัวเองถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ บนความรู้สึกว่าถ้าเราทำเพลงได้ดี หน้าตาจะเป็นอย่างไรคงไม่สำคัญ อีกทั้งแนวเพลงที่ชอบก็ไม่ใช่แบบที่ค่ายต้องการ ความรู้สึกว่า ‘การเซ็นสัญญาเหมือนการขายวิญญาณ’ จึงเริ่มก่อตัวขึ้นในความคิดของเขา 

“คือตอนนั้นกับตอนนี้ความคิดผมเปลี่ยนไปเยอะเลย ในตอนนั้นเราก็คงคิดแหละว่ามันไม่เกี่ยวกัน แต่ในปัจจุบันผมมองว่ามันคือ Performance art น่ะ ถ้าคนๆ หนึ่งทำเพลงแล้วดังเพราะหน้าตาดี ผิดตรงไหนอะ คุณลองนึกภาพพี่ เล็ก Greasy Cafe ร้องเพลง สิ่งเหล่านี้ แต่มีหน้าตากับแต่งตัวแบบ บิวกิ้น สิ ได้มั้ยล่ะ (หัวเราะ) เพราะคนเรามันเสพความบันเทิงด้วยรูป รส กลิ่นเสียง มันก็มาพร้อมกัน มันแยกกันไม่ได้ คนทำเพลงมีความสามารถมีแนวทางของตัวเองทุกคนแหละ แค่แต่ละคนเป็นแบบไหน แต่ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจจุดนี้”

ท้ายที่สุดเพราะความต้องการค้นหาตัวตน ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เราทำได้ดี รวมทั้งมองเห็นประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้จากการอยู่ที่นี่ ศิรศักดิ์จึงตัดสินใจเซ็นสัญญาเพื่อเป็นศิลปินในค่ายเอ็กแซกท์ภายใต้ระยะเวลา 5 ปี โดยหวังว่าตนจะเรียนรู้และเก็บเกี่ยววิชาให้มากที่สุด จากศิลปินรุ่นพี่และการทำงานในค่าย 

“คือมาเปลี่ยนใจตอนที่รู้สึกว่า เราอาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตัวตนเราคืออะไร เรารู้แค่ว่าอิเล็กโทรนิก้าคือสิ่งที่เราอยากเป็น แต่เราเป็นแบบนั้นจริงมั้ยก็ตอบไม่ได้ แล้วถ้าไปรอค่ายอินดี้อื่นๆที่ล้มหายตายจากไป ก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นยังไง แต่ถ้าอยู่ที่เอ็กแซกท์ เรามีพี่เป๋า – กมลศักดิ์ สุนทานนท์ มีพี่ตู๋ – ปิติ ลิ้มเจริญ วงนั่งเล่น เจอพี่โอ๋ – เจษฎา สุขทรามร วงซีเปีย คือมีแต่มือโปรมากๆน่ะ เฮ้ยคิดไปคิดมาเหมือนเราลงคอร์สเรียนแบบไม่จ่ายตังค์อะ โอกาสแบบนี้มันจะไปมีที่ไหนวะ เฮ้ยพี่เป๋านี่เขียนเพลงให้พี่เบิร์ดนะเว้ย พี่ตู๋นี่เขียนให้สุเมธแอนด์เดอะปั๋ง พี่โอ๋อีกอะซีเปีย ซีเปียเลยนะมึง ก็เลยอะสัญญา 5 ปีถือว่าเรียนหนังสือ เลยตัดสินใจว่าอยู่เอ็กแซกท์”

ระยะเวลา 5 ปี ของการเป็นศิลปิน (ที่เหมือนเด็กฝึกงานตามที่เจ้าตัวบอก) ในสังกัดเอ็กแซกท์ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เพื่อการค้นหาตัวตนของเขาเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นการเรียนรู้ของพี่บอยในการปั้นศิลปินอย่างจริงจังเบอร์แรกของค่ายอีกด้วย 

เพราะการทำละครไม่เหมือนการสร้างศิลปิน และการทำให้ใครสักคนหนึ่งประสบความสำเร็จไม่มีสูตรตายตัวที่รับรองผลลัพธ์ ศิรศักดิ์จึงได้ลองผิดลองถูกร่วมไปกับพี่บอยเพื่อหาวิธีที่ใช้ที่สุด จนเขาค้นพบว่าความชอบที่แท้จริงของเขาไม่ใช่การเก่งในด้านใดด้านหนึ่ง แต่การเป็นเป็ดที่ได้ทำทุกอย่างต่างหาก คือความสุขในการทำงานดนตรีที่เขารัก 

“คือเราไม่เก่งสักอย่าง ถ้าให้เราเจาะเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างใดอย่างนึงเลยสักพักเราจะเหนื่อย แต่ถ้าเราเรียนรู้แบบกว้างๆทั้งหมดเหมือนตอนเรียนครุศาสตร์อะครับ เรียนศิลปะหลายๆแนวอันนี้โคตรสนุก เล่นกีต้าร์ก็ได้ เล่นกลองก็เป็น เรียบเรียงเสียงประสานก็มา คือไม่มีอะไรเก่งระดับท็อปๆสักอย่างแต่ทำได้หมดอะ มีความสุขมาก แล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้มากๆอีกอย่างคือ เริ่มรู้ว่าเพลงแบบไหนที่เราไม่ชอบ ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะครับ แต่แค่ไม่ถนัด การแสดงบนเวทีแบบไหนที่เราทำได้ไม่ดี ทำแล้วเรารู้สึกแย่กับตัวเองเราก็จะเริ่มตัดเริ่มปรับ ก็เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ จนกลายเป็นเราในทุกวันนี้” 

ทำทุกอย่าง

เพราะความเป็นเป็ดจากการลองทำทุกอย่างเป็นสิ่งที่ศิรศักดิ์หลงรัก การเป็นศิลปินที่ได้ลองทุกสิ่ง

ที่ตนถนัดและไม่ถนัด จึงเป็นความท้าทายและให้ความรู้สึกแปลกใหม่ทุกครั้งเมื่อย้อนนึกถึง 

โดยที่พอเล่ามาถึงตรงนี้เจ้าตัวก็ออกปากกับเราว่า ตอนเป็นนักดนตรีกลางคืนก็ได้ทำหลายอย่างไม่ต่างกัน แต่ตอนนั้นไม่เหมือนตอนเป็นศิลปินสักนิด 

‘ไม่เหมือนกันยังไงเหรอคะ’ เราถามออกไปด้วยความสงสัย 

“เพราะตอนเราเป็นนักดนตรีกลางคืน เรามีหน้าที่แค่เล่นเพื่อให้เขาสนุกกับเพลงที่เราจัดให้ เราไม่ใช่จุดโฟกัส แต่ตอนเป็นศิลปิน มันก็เหมือนเราผันตัวเองไปเป็นสินค้ามีชีวิตน่ะครับ ถ้าคนไม่ชอบคนก็ไม่ซื้อ ดังนั้นอะไรที่คนดูจะไม่ชอบ ไม่น่าสนใจเราก็จะต้องเก็บๆไว้ อะไรที่ดูมีความเป็นไปได้ก็ขยายมันออกมา” 

‘ก็ดูจะต้องทำทุกอย่าง แล้วก็ปรับเยอะมากๆนะคะ แล้วมาเข้าที่เข้าทางจริงๆตอนไหน’ เราถามต่อ

“เข้าที่เข้าทางจริงๆเลยคือตอนออกจากเอ็กแซกท์ครับ” เจ้าตัวตอบเราก่อนจะเริ่มเล่าต่อ 

ในช่วงปีสุดท้ายของสัญญา เป็นเหมือนทางตันสำหรับทั้งค่ายและตัวศิรศักดิ์ ภาพลักษณ์ของนักร้องเพลงประกอบละคร ซึ่งเป็นทั้งข้อดีที่ทำให้คนจดจำ และเป็นข้อเสียในเวลาเดียวกัน เพราะเจ้าตัวไม่สามารถสลัดภาพนั้นออกไปได้ เปรียบเหมือนเครื่องพันธนาการทางความคิด ที่ทำให้แฟนเพลงยึดติดว่ามีละครต้องมีศิรศักดิ์ 

ด้วยข้อกำหนดนี้ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถขยับไปทำแนวเพลงใหม่ๆได้ และถึงทำออกมาผลตอบรับจากแฟนๆก็ไม่ค่อยดีนัก ผนวกกับช่วงนั้นศิรศักดิ์เริ่มทำธุรกิจร้านเหล้าที่รัชดาซอย 4 ซึ่งเป็นช่วงที่วุ่นวาย ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างรวมกัน ศิรศักดิ์จึงตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเอ็กแซกท์ และหันมาเอาดีทางด้านงานเบื้องหลังในการทำเพลงแทน

“ถึงจะไม่ต่อสัญญา แต่พอออกมาแล้วก็ยังรับงานกับเอ็กแซกท์อยู่นะครับ สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือ ผมขยับมาเขียนเพลงเองเลย คือขยับบทบาทจากด้านหน้ามาทำส่วนด้านหลัง เริ่มเป็นคนลงไปดีลงานเอง ตอนนี้แหละที่ทำให้เริ่มรู้สึกตัวว่า ถ้าเราร้องเพลงแบบนี้จะดีนะ แต่ถ้าเขียนเพลงแบบนั้นดีกว่า กลายเป็นเริ่มรู้จักลายมือตัวเอง เริ่มรู้แล้วว่าเราจะต้องขายอะไรเพื่อให้ลูกค้าชอบ” 

จากประสบการณ์ในบทบาทที่เปลี่ยนไป ทำให้ศิรศักดิ์มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินมากมาย ทั้งในวงการเพลงและวงการศิลปะ โดยเขายกให้คนที่ทำงานด้วยแล้วสนุกที่สุดคือ ทรงศีล ทิวสมบุญ ผู้เขียนหนังสือเรื่องดังอย่าง ถั่วงอกและหัวไฟ – Beansprout & Firehead 

เพราะความสนุกอยู่ตรงการอธิบายของทรงศีล ที่สื่อออกมาในทางศิลปะ เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องรื้อออกมาให้ได้ ว่าความต้องการแท้จริงของนักเขียนเป็นอย่างไร  

“ตอนนั้นคือผมสนุกมาก ถ้าทุกคนได้เห็นงาน BOBBY SWINGERS ที่ผมก็จำไม่ได้แล้วนะว่าเล่มไหน แต่มันจะมีซีดีเพลงแถมไปด้วย อันนั้นน่ะผมโปรดิวซ์ให้เองทั้งหมดเลย แล้วในเล่มนั้นเพลงโคตรมัน สนุกมากโคตรหลุดโลก” 

‘พูดถึงศิลปินที่ทำงานด้วยแล้วชอบที่สุดไปแล้ว ถ้าถามถึงเพลงที่ชอบตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาล่ะคะ’ เราถามต่อไปด้วยความอยากรู้

คำตอบที่ได้คือคำว่าโห! และตามมาด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนที่เจ้าตัวจะค่อยๆเรียบเรียงเพลงทั้งหมดที่ชอบจากความทรงจำ ในแต่ละช่วงการทำงานที่ผ่านมาให้เราฟัง

 ในช่วงแรกของการทำงานเมื่อครั้งยังอยู่กับเอ็กแซกท์ เพลงที่ศิรศักดิ์ชอบที่สุดคือ เก็บอยู่ในหัวใจ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Calla – พลิกลิขิตฟ้า ค้นหาหัวใจ (2545) โดยที่เจ้าตัวให้เหตุผลว่า การทำเพลงไทยในซาวด์เกาหลี โดยไม่มีตัวอย่างในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่ใหม่และยากมาก ทั้งเขาและทีมงานต่างตั้งคำถามว่า ‘ว๊อท อีส เกาหลี???’ 

“คือตอนนั้นมันมีแค่ My Sassy Girl กับ แดจังกึม ให้ดูอะ (หัวเราะ) แล้วตอนนั้นที่เดโม่มันออกมา เราฟังแล้วคือแปลกมากเลยครับ แบบนี้มันคือจะเพราะจริงๆใช่มั้ย โน้ตกระโดกกระเดกมากเลยนะถ้าเทียบกับเพลงไทยยุคนั้น แต่พอมันออกมาแล้วโคตรเพราะเลยก็ชอบ” 

ถัดมาในช่วงที่เริ่มเปลี่ยนบทบาทใหม่ เจ้าตัวเล่าว่าชอบเพลงที่โปรดิวซ์ให้กับวง Teddy Ska Band ซึ่งเป็นวงที่เล่นอยู่ใน Brick Bar และเล่นให้กับร้านของเจ้าตัวด้วย (Choo Bee Doo Bar) บนความเชื่อว่าแนวเพลงแบบสกาจะต้องมาในกระแส ศิรศักดิ์ตัดสินใจออกอัลบั้มชื่อ Choo Bee Doo Bar Test One โดยรวบรวมเอา Teddy Ska Band และนักดนตรีกลางคืนทั้งหมดของร้านใส่ลงไปในอัลบั้ม 

ภายในระยะเวลาไม่นานอัลบั้มดังกล่าวไต่ขึ้นไปอยู่บนอันดับ 7 ของ Fat Radio (ปัจจุบันคือ Cat) จนทำให้พี่หนุ่ม- ชัชวาลย์ โปรดิวเซอร์จาก ค่ายลักษณ์มิวสิค และป๋าเต็ด – ยุทธนา สนใจในวง Teddy Ska Band ขึ้นมา 

“คือทั้งสองที่อยากได้ Teddy Ska ไปทำเพลงด้วย แบบเป็นอัลบั้มรวมเพลงสกา ผมก็ตอบไปเลยว่าผมไม่ได้ทำธุรกิจค่ายเพลง พวกนี้คือน้องๆที่เราอยากปั้นเฉยๆ ถ้าพี่อยากคุยพี่ก็เรียกน้องๆไปเลย ถ้าน้องมันได้ออกกับพี่ผมก็ยินดี แต่สุดท้ายไม่รู้ดีลกันยังไง ได้ออกมาเป็นอัลบั้ม Chick-Ka-Chick แล้ว Teddy Ska แยกไปออกเดี่ยวเอง คือถ้าถามว่าเรารู้สึกยังไง มันสะใจอะ คนทั่วไปจะรู้สึกว่าศิรศักดิ์เป็นนักร้องเพลงอีซี่ แล้วอยู่ดีๆเราเป็นเบื้องหลังในการดัน Teddy Ska งี้ โหโคตรชอบ” 

เพราะประสบการณ์จากการทำเพลงให้ศิลปินมากมาย ลายมือในการเขียนเพลงของศิรศักดิ์ยุคหลังๆจึงมีความเป็นตนเองและเฉียบคมมากขึ้น เมื่อคนเราเก่งขึ้นก็จะยิ่งชอบงานของตนเองมากขึ้นเป็นธรรมดา เพลงที่ชอบในช่วงหลังๆจึงเป็นเพลงที่ตนเองทำเองร้องเองทั้งสิ้น โดยเจ้าตัวยกให้ อยู่คนเดียวแบบนี้ก็ดี และ มุซึบิ (Musubi) เป็นสองเพลงที่ชอบที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“ เพราะเพลงนี้สำหรับคนฟังศิรศักดิ์เวอร์ชันเก่าจะรู้สึกว่าโคตรไม่ใช่เราเลย ทั้งที่จริงๆคนทำเพลงด้วยกันอะจะรู้ ว่าเนี่ยไอ้ปิงปองคือแบบนี้เลย มันต้องปากดีขี้แซะแบบนี้สิ อีกอย่างคือเพลงนี้มันทำเร็วมาก (อีกแล้ว) มันเกิดขึ้นตอนที่โปรดิวเซอร์โทรมาตาม ว่าอีกไม่นานจะต้องเสนอเพลงแล้วนะ ละตอนนั้นขับรถอยู่ ยังไงดีวะคืนนี้ต้องมีเดโม่ส่งแล้วมั้งเนี่ย แม่งเอ้ยรู้อย่างงั้นก็ดีหรอก เอ๊ะๆคำว่าก็ดีหรอก เอามาขายคนโสดเพราะตอนนั้นเราโสด เลยออกมาเป็นอยู่คนเดียวอย่างนี้ก็ดี 

คิดได้แบบนั้นก็กลับมาปั่นเลยครับ ลูกกีต้าร์ในเพลงที่เหมือนจะดีไซน์เยอะๆ ก็เอาไอ้สิ่งที่กูวอร์มนิ้วนี่แหละมาเป็นเพลงเลย ออกมาแล้วดี คนฟังแฮปปี้จบ” 

ส่วนมุซึบิ (Musubi) นั้น เกิดจากการร่วมงานกันของตนและ สกล – Supersub ภายใต้ชื่อวง 33 ซึ่งมาจากรหัสนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะความว่างของสกลหลังทำอัลบั้ม DRY ทำให้พี่น้องสายรหัสคู่นี้ ชวนกันทำเพลง ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องแนวดนตรีที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ศิรศักดิ์เป็นสายป็อป ในขณะที่สกลเป็นเจ-ร็อก ทั้งสองจึงต้องหาทางสายกลางเพื่อทำเพลงออกมาให้ตอบโจทย์ที่สุด ผลจึงออกมาเป็นการทำเพลงอนิเมะ 

‘ฮะ ยังไงนะคะ’ เราอุทานแบบงงๆกับสิ่งที่ได้ยิน 

“คือผมกับสกลมันเป็นสองขั้วที่ไกลกันมาก คิดกันแปปนึงเลยว่าจะเอายังไงดี แล้วตอนนั้นอาจารย์ชินไค – มาโกโตะ ชินไค ที่ทำ 5 Centimeters per Second (ยามซากุระร่วงโรย) กำลังจะมี Your Name ผมก็เคาะเลยเพลงอนิเมะเนี่ยแหละ เราเอาตัวอย่างจาก Studio Ghibli รวมกับชินไคได้นะ ก็เลยเริ่มกันมาแบบนั้น” 

โดยไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ศิรศักดิ์เริ่มต้นทำดนตรีเปล่าๆ ด้วยการศึกษาคอร์ดและสไตล์การเล่นของวงเจ-ร็อกมากมาย ตั้งแต่กลองอันเฉียบคมจากเพลงของ L’arc en ciel จนถึงสไตล์การเล่นกีต้าร์ของ ฮิเดะ X-Japan รวมเข้ากับการแต่งเนื้อเพลงของสกล ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวความรักของ มิตสึฮะ และ ทะกิ  จาก Your Name ออกมาเป็นเพลง มุซึบิ ซึ่งหมายถึงเส้นด้ายแห่งความผูกพัน ที่ร้อยเรียงเอาเรื่องราวของสองตัวละครหลักเอาไว้ 

แม้เพลงจะถูกปล่อยออกมาในยูทูปแบบไม่คาดหวังยอดวิวมากนัก แต่ผลตอบรับจากคนกลุ่มหนึ่งที่ร้องตามได้ กลับทำให้มุซึบิเป็นหนึ่งในเพลงที่ประทับใจที่สุดของปิงปอง ศิรศักดิ์ตลอดมา

“ตอนออกเพลงมามันไม่ดังอะไรเลยนะ 3 – 4 หมื่นวิวเอง แต่พอมีงานเฟสติวัลหรืองานที่คณะ ผมกับสกลก็จะเอาเพลงนี้ไปร้องด้วยกัน คือแปลกใจมากที่มันจะมีเด็กกลุ่มนึงเลยที่รู้จักเพลงนี้ แล้วแหกปากร้องกันลั่น เลยรู้สึกว่าเออเพลงมันทำงานเองว่ะ อาจจะไม่แมสนะ แต่กับ niche market กลุ่มนึงอะเพลงนี้ทำงานอย่างรุนแรง ก็เลยประทับใจเพลงนี้” 

ด้านมืดของดวงตะวัน 

ตลอดระยะเวลาการทำงานในวงการของศิรศักดิ์ บนเส้นทางดนตรีที่เขารักไม่ได้มีเพียงความสุข แม้การยืนบนเวทีท่ามกลางแสงสีและแฟนคลับ จะเป็นเรื่องราวที่น่าจดจำ แม้การเป็นศิลปินจะเป็นอาชีพที่เขารัก แต่ในบางครั้งความรู้สึกของการไม่มีตรงกลางให้กับหลายๆอย่างในชีวิต ก็สร้างความทุกข์ให้เขาไม่น้อย 

“เป็นอาชีพที่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์อย่างแรง หลายครั้งเราหาบาลานซ์ให้กับเพื่อนหรืออะไรหลายๆอย่างไม่ได้เลย เหมือนเวลาคุณดู La La Land นั่นแหละ อยากเข้าไปอยู่ในวงการ ไปทำตามสิ่งที่ฝัน แต่พอไปอยู่ตรงนั้น โลกมันไม่ได้เหมือนที่เราคิดไปทั้งหมด ส่วนที่เจ็บปวด เจ็บตัว เจ็บใจมันมีเยอะ นึกภาพ Soul จาก Pixar ก็ได้ครับ รอมาทั้งชีวิต เพื่อได้รับรู้ว่ามันไม่มีอะไรอยู่ตรงนั้นเลย มีแค่เล่นแล้วก็กลับบ้านมีแค่นั้น” 

เพราะการทำงานด้วยแพชชั่นแบบเต็มเหยียด เป็นทั้งความสุขและความทุกข์มหันต์ หลายครั้งที่ศิรศักดิ์รู้สึกเบิร์นเอาท์จนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ด้วยความกดดันจากทั้งความคาดหวังของตนเองและคนอื่นๆ พ่วงกับเสียงวิจารณ์และทัศนคติด้านลบที่เจอเรื่อยๆ รวมกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติของบ้านเมือง ส่งผลให้สุขภาพจิตเริ่มแย่ลง แม้ไม่หนักหนาจนรับมือไม่ไหว แต่กว่าจะเรียนรู้ว่าต้องอยู่กับความเจ็บปวดนั้นอย่างไร ศิรศักดิ์ก็พบว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า

ด้วยประสบการณ์จากการดูแลคนใกล้ตัวที่ป่วย โดยเฉพาะ พัดชา – เอนกอายุวัฒน์ แฟนสาว ทำให้ศิรศักดิ์ใส่ใจกับอาการและมีความเข้าใจในโรคนี้ประมาณหนึ่ง เขาเล่าว่าทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เมื่อจู่ๆตนก็เบื่อการเล่นดนตรีที่เป็นเหมือนแพชชั่นมาตลอดชีวิต ไม่จับกีต้าร์ ทำงานแทบไม่ได้ และเริ่มนอนไม่หลับ จนกระทั่งมาถึงจุดที่เศร้าและร้องไห้ กับเพลงซึ่งตัวเองแต่งเพื่อให้กำลังใจผู้ประสบปัญหาในวิกฤตโควิด แล้วมันก็เป็นตอนนั้นเองที่ปิงปอง ศิรศักดิ์รู้สึกถึงความผิดปกติอย่างที่เคยไม่เกิดขึ้นมาก่อน จนตัดสินใจเข้าพบแพทย์

“คือเพลงมันไม่ได้เศร้าขนาดนั้น แล้วคุณเข้าใจความรู้สึกที่แบบ นี่ไม่ใช่ที่ของเรามั้ย ตอนนั้นมันบ้านผมเองเตียงผมเองเลยนะ แต่หมดจากนี้คือกูตายแล้ว ไม่ใช่อะ ไม่ใช่แน่ๆ ก็เลยตัดสินใจปรึกษาจิตแพทย์ผ่านแอป คุยไปสักพักน้ำตาหยด ปิ๊ง หมอก็เสียงสวรรค์เคาะมาเลย เป็นซึมเศร้านะคะ (หัวเราะ) ผมก็เอ้าเฮแล้วไงกู 

นึกภาพสมองคนเป็นซึมเศร้านะครับ  คือความเศร้ามันก็ยังทำงานอยู่ แต่ด้านที่เป็นเรามันก็ยังคุยอยู่ไง คือไอ้ห่าเศร้าชิบหายเลยนะ แต่งานการกูเอาไงต่อดีวะ (หัวเราะ) สุดท้ายก็ตัดสินใจไปหาหมอคนเดียวกับพัด เพราะรู้สึกว่าถ้ามีปัญหาทั้งสองคน คุณหมอเขาก็จะได้รับรู้ไปเลย พอไปถึงหมอก็แบบ อ้าวเป็นด้วยเหรอ (หัวเราะ) ก็ได้ยามากินครับ แล้วผมก็ถามแหละว่าถ้าวันไหนผมกับพัดดิ่งพร้อมกัน ดูแลกันไม่ได้จะทำยังไง หมอก็ตอบเลยยากตรงไหน ดิ่งคู่ก็มาหาหมอคู่สิ (หัวเราะ) เออก็จริง ก็จริงของหมอ”

การรู้ตัวว่าเป็นโรคซึมเศร้า สร้างผลกระทบกับการทำงานของศิรศักดิ์อย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงแรก แต่เขาก็ยอมรับว่าผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ด้วยการกินยาล้วนๆ เขาใช้เวลาหลายเดือนในการสังเกตผลข้างเคียงจากยา และปรับปริมาณโดสให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด จนทุกอย่างเริ่มเสถียรในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

ศิรศักดิ์เล่าต่ออีกว่าการป่วยและการปรึกษาจิตแพทย์ในครั้งนี้ ทำให้เขาได้ค้นพบต้นตอของปัญหาที่แม้แต่ตนเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อน ว่าแท้จริงจุดเริ่มต้นของความเศร้าและความเจ็บปวดมาจากความไม่มั่นใจในตนเองที่ถูกกดเอาไว้นานแสนนาน 

“ผมคิดตลอดว่าผมเป็นคนหลงตัวเอง แล้วเราก็จะควบคุมมันเอาไว้ บอกตัวเองว่าอย่าไปเหลิงไอ้ปอง สิ่งที่มึงทำไม่ได้ดีขนาดนั้น จนหมอมาชี้ให้ผมเห็น ว่าสิ่งที่ผมทำมันเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเอง พอเวลาที่เราทำได้ดี เรากลับบอกตัวเองว่ามันไม่ดี กลายเป็นโทษตัวเองสะสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นแบบนี้ในที่สุด

ผมอยากบอกทุกคนที่มีปัญหาว่า  ถึงไม่ป่วยก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ได้นะครับ สิ่งที่ผมเป็นคือโรค มันไม่ได้หายด้วยการเปลี่ยนทัศนคติหรือเข้าวัดฟังธรรม มันต้องผ่านไปด้วยยา ถ้าคุณเป็นอยู่คุณก็ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง คือถ้าคุณไปแล้วไม่เป็นมันก็ดี เพราะอย่างน้อยๆมันมีคนรับฟังความเครียดของคุณ แถมเขาหาวิธีและช่วยแก้ทัศนคติบางอย่างให้คุณได้ด้วย ดังนั้นไปหาเถอะครับ”

ฉันเลือกเอง

ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด คาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบทบาทอีกครั้งในชีวิตการทำงานของศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ เมื่อศิลปินคนนี้ตัดสินใจเลือกตัวตนใหม่ บนเส้นทางของการเป็นยูทูปเบอร์ภายใต้การชักชวนของเพื่อนสนิทสมัยประถมอย่าง เหว่ง – ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ จากช่อง Little Monster Family 

เพราะการทำ ละมุนแบนด์ เหมือนไม่ตอบโจทย์ของยุคสมัยที่ก้าวไปข้างหน้า ผนวกกับเหตุการณ์โควิดระลอกแรก ทำให้ปิงปอง ศิรศักดิ์ตัดสินใจลองก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง และใช้เวลา 3 เดือนในการเรียนรู้ว่าบทบาทใหม่ของ ลุงปอง ภายใต้ช่องชื่อ Pop มั้ย นี้จะเหมาะกับตัวตนจริงๆของเขาหรือไม่ 

“ผมเดินเข้าเดินออกที่นี่อยู่ 3 เดือนเพื่อเรียนรู้งาน แล้วก็เพื่อให้เหว่งดูด้วย ว่าเราเหมาะจะทำงานด้วยกันจริงมั้ย สุดท้ายมันก็ต้องทำที่นี่แหละ (หัวเราะ) 

แต่ก็บอกตรงๆนะว่าตั้งแต่แรกจนถึงตอนนี้ เรารู้สึกตลอดเลย รู้สึกว่าเป็นหัวหน้าที่ไม่เก่งเท่าไหร่ อย่างตั้มเขาก็ทำงานการเงินดี๊ดี อย่างเติ๊ดเขาก็เป็นหัวหน้าให้ครีเอทีฟได้ เหว่งนี่คือทำได้ทุกอย่างดูแลได้หมดเลย ในขณะที่ผมมีดีแค่ทำเพลง งานคอนเทนต์ผมต้องพึ่งคนอื่น พึ่งทีมเยอะ เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ดูแลทีมงานไม่ดี จนบางทีก็รู้สึกว่าเราอยากดูแลทุกคนให้ดีกว่านี้

“ถามว่ามันต่างจากการเป็นนักดนตรีมั้ย มันก็มีส่วนที่เหมือนและต่างนะ แต่ส่วนที่เรามีความสุขจริงๆจากการมาทำที่นี่ไม่ใช่การทำงานหรอก มันคือทัศนคติของทุกคนมากกว่าที่ทำให้เราชอบ 

การทำงานที่นี่สอนให้เรารู้ว่า คนเราไม่ต้องคิดก็ได้ว่าชีวิตจะมีแพชชั่นมั้ย เงินก็เป็นแพชชั่นได้ การทำงานเป็นยูทูปเบอร์คืออาชีพหนึ่ง ไม่ต้องมีแพชชั่นกับมันขนาดดนตรีก็ได้ แค่ต้องตั้งใจแค่นั้น 

อย่างผมเนี่ยทำเพลงด้วยแพชชั่นมาตลอดชีวิต ครึ่งชีวิตเป็นนักดนตรีล้วนๆ ดังนั้นถ้าใครมาบอกว่า ถ้าเราได้ทำงานที่ชอบจะเหมือนไม่ได้ทำงาน ผมแม่งเถียงขาดใจเลย จริงๆมึงยอมเจ็บช้ำเจ็บปวดเพื่อจะได้ทำงานที่มึงรักต่างหาก”

จากปิงปอง ศิรศักดิ์ สู่ลุงปอง Pop มั้ย คือหนึ่งบทบาทที่เขารู้สึกว่าเป็นตัวเองที่สุด แม้มีจุดอิ่มตัวในงานดนตรีและเบิร์นเอาท์บ้างจากภาระงานของช่อง ที่เจ้าตัวบอกว่าหากจะยึดเป็นอาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทั้งถึก และอดทน จนบางครั้งความเหนื่อยล้าก็บั่นทอนสุขภาพกายและใจ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งความสนุกและความสุขที่ได้ทำเพลงเพื่อทีมงานทุกคน 

“พอได้เห็นน้องๆดีใจเวลาเราทำเพลงให้แล้วมันมีความสุขมากนะ เหมือนมันเปลี่ยนโฟกัสจากจำนวนงานที่เราต้องทำเยอะๆเร็วๆไปเป็นความสนุก ความสะใจที่ได้ทำให้น้องๆแทน คือผมแต่งเพลงให้ Pop มั้ย ปีเดียวนี่เท่ากับที่ทำเอง 4 – 5 ปีเลยนะ คือมันเยอะขนาดมีช่วงนึงที่โคตรมั่นใจเลยเรื่องทำเพลงเร็วอะ แบบใครรีบร้อนมากๆจ้างกูเลย 

นั่นล่ะครับ ตอนนี้สนุกมากอยากทำนู่นทำนี่ไปหมด เดี๋ยวอีกไม่นานจะมีโปรเจคที่ทั้ง 4 เพจทำด้วยกัน แล้วผมเป็นคนรับผิดชอบส่วนนั้น ยังไงก็อยากให้รอติดตามนะครับ” 

ไม่ขอให้เป็นเหมือนใคร

จากจุดเริ่มต้นของเด็กชายศิรศักดิ์ในวงประสานเสียง สู่ลุงปองกับช่อง Pop มั้ย เป็นเหมือนเรื่องราวการเดินทางอันยาวนาน บนเส้นทางศิลปินที่ไม่ได้โรยด้วยความสุขเพียงอย่างเดียว 

ตั้งแต่ต้นบทความจนถึงตอนนี้ เราเชื่อว่าคุณคงเห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเขาในทุกๆจังหวะชีวิต ศิรศักดิ์ในวันนี้ไม่เหมือนเขาในวันวานอีกต่อไป ไม่ต่างจากวงการเพลงไทยที่เติบโตขึ้น ไม่ต่างจากโลกที่หมุนไปข้างหน้า 

“มีคนบอกว่าคนเราเกิดใหม่ทุก 7 ปี เพราะ 7 ปี เซลล์ของร่างกายเราทั้งหมดจะถูกผลัด ถ้าคิดตามแบบพุทธศาสนา ชาติหน้าอาจจะไม่ได้มาตอนตาย แต่มาทุก 7 ปีแทน (หัวเราะ) เราไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป แล้วเราก็ไม่ผิดที่จะไม่เหมือนเดิม เพราะโลกหมุนไปข้างหน้า ชุดความคิดบางอย่างก็อาจจะเปลี่ยนไป ดังนั้นถ้าการเปลี่ยนทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่า ก็เปลี่ยนเถอะครับ (หัวเราะ)”

เมื่อความคิดของคนพัฒนาไปข้างหน้า ศิลปะและทิศทางของวงการดนตรีเองก็ไม่ต่างกัน 

เพราะเยาวชนตอนนี้คือประชากรของโลก และตลาดของวงการดนตรีไม่ได้ถูกจำกัดกรอบเพียงในประเทศอีกต่อไป ศิรศักดิ์มองว่าแม้เราเสียคนไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งฟังเพลงไทยจริงๆให้กับตลาดเพลงต่างประเทศ แม้ราคาของศิลปะและดนตรีจะถูกด้อยค่า ด้วยกระบวนการที่ทำง่ายขึ้น และอุปกรณ์ที่ถูกลง และแม้คู่แข่งของคุณอาจจะหมายถึงคนทั้งโลก แต่เพราะความเปิดกว้างนี้นี่แหละ ที่เป็นเส้นทางให้เด็กรุ่นใหม่ก้าวไปถึงฝัน 

“คือนอกจากคุณฝันอยากจะเป็นอะไรก็ได้แล้วน่ะ สังคมตอนนี้มันยังเปิดโอกาสให้คุณได้เป็นตัวเองมากที่สุดด้วย หลายครั้งที่เราได้เห็นน้องๆเมมเบอร์หน้าใส ออกมาพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่ต่างๆด้วยคำพูดที่น่าเชื่อถือ อะไรแบบนี้เป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ ในสังคมที่เปิดโอกาสให้ศิลปะผลิบาน คือผมไม่ได้บอกนะว่าถ้ามันสังคมมันแย่มันจะไม่มีศิลปะ มันอาจจะถูกกดค่าไว้เหมือนไม่ดัด แล้วสุดท้ายงานศิลปะแบบนึงจะหายไป แต่จะมีงานศิลปะแบบอื่นเข้ามาทดแทน เป็นแบบนี้เสมอ

แพชชั่นในการทำงานของเราก็เหมือนกัน หลายครั้งที่มันหมดไปเพราะเรารักษามันไว้ไม่ได้ แต่บางครั้งเราก็เปลี่ยนโฟกัสไปหาอย่างอื่นได้ การทำงานทุกอย่างไม่ต้องมีแพชชั่นก็ได้ เวลาหมดทีมันยาก

คือมันเจ็บมากแหละ และมันก็สุขมากเหมือนกัน แต่ก็จะย้อนกลับไปที่ประโยคเดิมครับ คุณอาจจะฝันอยากเป็นอะไรก็ได้ บางคนอาจจะอยากเป็น Billie Eilish บางคนอาจจะอยากเป็น Lisa มันเป็นไปได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว แค่คุณพยายามมากพอ เพียงแต่อยากให้คิดเสมอครับ คนเราไม่ได้ทำงานด้วยแพชชั่นเพื่อลดความเจ็บปวด แต่คนเราเจ็บปวดเพื่อจะได้ทำงานที่ตนรักต่างหาก สุขมากเจ็บมากครับ”

แทนใจ

ช่วงเวลา 22 ปี ของการทำงานบนเส้นทางดนตรี ศิรศักดิ์ได้พิสูจน์ความสามารถในฐานะนักร้องเบื้องหน้า และโปรดิวเซอร์เบื้องหลัง ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้วงการเพลงไทยมีคุณภาพและก้าวต่อไปด้านหน้า นอกจากกำลังใจจากตนเอง คนรักและครอบครัวที่มีส่วนช่วยในวันที่ยากลำบาก ศิรศักดิ์ยังมีแฟนคลับทั้งเก่าและใหม่มากมาย ที่คอยให้กำลังใจเขาเสมอมา 

แม้ในวันที่ท้อแท้ จนถึงวันที่ความคิดเห็นของเขาแตกต่าง แฟนคลับทุกคนยังคงเชื่อใจ และยืนหยัดที่จะเลือกเขาอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นเหมือนเพื่อนคนสำคัญที่จะอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าโลกหรือสถานการณ์ต่างๆจะเปลี่ยนไปอย่างไร สุดท้ายนี้เขาจึงขอฝากความรู้สึกซาบซึ้ง เป็นคำพูดแทนใจไปถึงคุณๆ ทุกคน

“ขอบคุณมากๆสำหรับกลุ่มแฟนคลับเก่าๆ นะครับ ขอบคุณมากที่อยู่กันเยอะและอยู่กันมาจนไม่มีใครกรี๊ดใครแล้ว (หัวเราะ) เพราะทุกคนเหมือนน้องเหมือนเพื่อนกัน คือบางทีผมโพสต์อะไรปัญญาอ่อนในเฟสก็กดมองบน คือเราอยู่กันมาถึงขนาดนั้นแล้ว แต่ผมขอบคุณเขามาก เขาอยู่เพราะเราเป็นเรา ไม่งั้นเขาคงไม่อยู่มาถึงทุกวันนี้ แม้กระทั่งในวันที่เราแสดงออกอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดการเลือกฝั่งเลือกฝ่ายเกิดขึ้น เขาก็ยังเลือกเราอยู่ ซึ่งอันนี้ขอบคุณเขามากๆ 

ส่วนแฟนคลับใหม่ๆ ขอบคุณที่พยายามเรียนรู้เราในแบบที่เป็นเรา ตอนนี้เราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มันไม่เหมือนตอนเป็นศิลปินน่ะครับ ตอนเป็นศิลปินเราอาจจะต้องควบคุมบางอย่างให้อยู่ในธีม แต่พอเรามาทำคอนเทนต์แบบนี้เราขายความเป็นเราเลย ซึ่งความเป็นเราเต็มเหยียดกลายเป็นลุงปองโดยสมบูรณ์แบบนี้ ยังทำให้เขามีความสุข เราก็ดีใจครับ หวังว่าสถานการณ์บ้านเมืองและโรคระบาดมันจะดีขึ้น เพื่อวันนึ่งเราจะได้กลับมาเจอกันอีก”  

ปิงปอง-ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์

Content Creator