เช้าวันนี้ (5 ตุลาคม 2567) ทีมกองบรรณาธิการมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Data Connect 2024 ที่จัด ณ True Digital Park ซึ่งหนึ่งใน Talk ที่น่าสนใจคือ Talk Data เพื่อประชาธิปไตยที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – หัวหน้าพรรคประชาชน ซึ่งมานำเสนอการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐและการเมืองไทยให้โปร่งใสมากขึ้น
ณัฐพงษ์ เริ่มต้นด้วยการเปิดข้อมูลของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นระบบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ แต่ที่เกาหลีใต้ใช้ระบบเหมือน e-commerce ของบริษัทเอกชนเลย โดยใช้ระบบ PPS เป็นตัวกลางแทนรัฐในการตรวจสอบคุณภาพ หาสินค้า และหากผ่านระบบก็จะนำขึ้นบนเว็บไซต์ให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาซื้อต่อไปได้ ในขณะเดียวกันกลับมาที่เมืองไทยมีงบจัดซื้อจัดจ้างกลางที่เป็นประกวดราคามากกว่า 595,209 ล้านบาท ซึ่งหากใช้ระบบรูปแบบเกาหลีใต้ทำให้ลดเวลาจากเดิมที่ต้องทำ TOR หรือทำประกวดราคาต่างๆ ที่มากกว่า 3-6 เดือน ลดกลายเป็น 1 วัน และยังช่วยลดการทุจริตอีกด้วย เนื่องจากใช้ระบบตัวกลางในการคัดเลือกแทนการทำ TOR ที่มีความเสี่ยงทำให้เอื้อกับทุนที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้จะยังได้ของที่มีคุณภาพมากขึ้นและประหยัดภาษีอีกด้วย
เช่นเดียวกับระบบของสเปน ซึ่งเทศบาลมีเว็บไซต์ตรงกลางในการเปิดเผยข้อมูลและสร้างการมีส่วนรวมอย่าง decidim.org ที่เน้นการเปิดข้อมูลว่าแต่ละเทศบาลในประเทศมีงบประมาณเท่าไหร่บ้าง และงบประมาณถูกใช้ไปอย่างไรบ้าง ประชาชนเห็นด้วยหรือสงสัยข้อมูลตรงไหนอย่างไรก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมที่เว็บไซต์นี้ได้เช่นกัน
ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมีภาคประชาชนอย่าง WeVis ที่นำเสนอเนื้อหาเปิดเผยเกี่ยวกับนักการเมืองไทย กฎหมายต่างๆ และสัญญาที่นักการเมืองให้กับประชาชนว่าได้ทำหรือไม่ รวมไปถึงการขาดประชุม เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอะไรบ้าง ซึ่งทำให้นักการเมืองอยู่ในสายตาประชาชนมากขึ้น แทนที่นักการเมืองจะเห็นประชาชนว่าเป็นสมบัติของเขาเอง ทำให้อำนาจกลับมาเป็นของประชาชนแทนในที่สุด ซึ่งอนาคตก็อยากให้ระบบเหล่านี้ประชาชนสามารถเข้าไปสมัครสมาชิกและช่วยกันจับตา นำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อทำให้ประชาชนเห็นการทำงานของนักการเมืองและช่วยกันตรวจสอบมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับงานรัฐสภาที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเว็บไซต์ของรัฐสภาให้มีการเปิดเผยข้อมูล เช่น การทำเว็บบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่สามารถเปิดเผยบันทึกเพื่อทราบถึงเจตนารมณ์ของผู้นำเสนอและผู้เข้าร่วมประชุมด้วย ร่วมไปถึงตอนนี้ทางพรรคประชาชนก็สามารถเข้าถึงบันทึกชวเลขเพื่อนำมาแปลงและนำเสนอผ่านระบบเว็บไซต์ในครั้งต่อๆ ไป นอกเหนือจากนี้การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในงานรัฐสภาก็ทำให้การทำงานของสมาชิกรัฐสภามีความเข้าใจมากขึ้นได้เช่นกันวา่าต้องปรับตัวกฎหมายและแก้ไขอย่างไรบ้างให้ตรงจุด
อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถทำให้ประชาชนและนักการเมือง รวมถึงคนทำงานทุกคนสามารถเข้าใจการทำงาน และค้นหาความต้องการได้ตรงจุด รวมถึงทำให้การทำงานของรัฐโปร่งใสมากขึ้นและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และลดการทุจริตได้นั่นเอง