นับตั้งแต่โลกของเรามีสิ่งที่เรียกว่ากล้องถ่ายรูป มันเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ณ ขณะนั้นได้อย่างเถรตรงที่ไร้การเสริมแต่งเติมเรื่องราว และแน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่ผ่านเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนโลกมาถึงปัจจุบันก็ได้ถูกบันทึกเอาไว้บนแผ่นฟิล์มนับตั้งแต่นั้น

ในโลกของเรา มีภาพถ่ายหลายรูปที่ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญเอาไว้ ไม่ว่าจะภาพถ่ายที่สะท้อนถึงชัยชนะ ภาพถ่ายที่สะท้อนถึงความรุนแรง รวมถึงภาพถ่ายที่สะท้อนถึงความรู้สึกสะเทือนใจกับสถานการณ์ที่มนุษย์ของเผชิญกับความตาย

หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในช่วง 100 ปีให้หลัง แน่นอนว่าเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สั่นสะเทือนคนทั้งโลก มีภาพถ่ายนับพันรูปที่ได้บันทึกเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้เอาไว้ แต่มีหนึ่งรูปที่ทรงพลังทั้งในแง่ขององค์ประกอบด้านศิลปะของภาพถ่าย ความหมายของสถานการณ์ และชัยชนะอันภาคภูมิใจของทหารอเมริกัน

ก็คือภาพถ่ายที่ชื่อว่า การปักธงที่อิโวจิม่า (Raising the Flag on Iwo Jima) ที่ถ่ายโดย โจ โรเซนธัล (Jo Rosenthal)

นับตั้งแต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้นำกองทัพนาซีเยอรมันบุกประเทศโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ เหล่าประเทศในยุโรปก็เริ่มเคลื่อนไหว และเริ่มแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน โดยแบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ฝ่ายอักษะที่นำโดยประเทศเยอรมนี, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอิตาลี และฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, เวลล์, สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ), สหภาพโซเวียต และจีน

หากแต่ช่วงเวลานั้น ทางด้านฝั่งเอเชีย ได้เกิดสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับจีนก่อนแล้วในปี 1937 ซึ่งเวลานั้น จักรวรรดิญี่ปุ่นหมายมั่นจะยึดครองเอเชียโดยเริ่มจากการบุกจีนก่อน แต่ทันทีที่ฮิตเลอร์เปิดสงครามกับประเทศในแถบทวีปยุโรป จึงเกิดการรวมตัวกัน และกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ทางด้านของเยอรมนีที่นำโดยฮิตเลอร์ได้เข้ายึดหลายประเทศในยุโรปได้สำเร็จ ทั้งฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และหมายมั่นจะยึดสหราชอาณาจักรให้ได้ แต่ด้วยความที่ภูมิประเทศของสหราชอาณาจักรเป็นเกาะ และความสามารถด้านยุทธนาวีเช่นกองเรือของสหราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งทำให้การยึดเป็นไปด้วยความยากลำบากและกินเวลานาน แถมยังได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ห่าง ๆ อีกด้วย

ในตอนนั้นสหรัฐฯ ยังคงวางตัวเป็นกลางไม่อยู่ฝ่ายใด แต่เอาเข้าจริงก็รู้กันดีว่าแม้ฉากหน้า จะประกาศตัวว่าเป็นกลางแต่ลับหลังก็แอบสนับสนุนฝั่งสัมพันธมิตรแบบเงียบ ๆ มาตลอด แต่แล้วก็อยู่เงียบอีกต่อไปไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีกองเรือสหรัฐฯ แบบสายฟ้าแลบที่อ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) ในเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ความเสียหายครั้งนั้นทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 2,403 นาย และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะและเข้าร่วมกับฝั่งสัมพันธมิตรทันที

คำถามตามมาว่าการที่ญี่ปุ่นตัดสินใจโจมตีกองเรือสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ล นั้นเป็นยุทธการที่ถูกหรือผิด เพราะมันเหมือนกับเป็นการกระตุกหนวดเสือให้ตื่นหรือเปล่า? เพราะหลังจากนั้นฝ่ายอักษะก็ดูจะเริ่มปราชัยในสงครามทั้งภาคพื้นยุโรปและเอเชียไปเรื่อย ๆ คำถามนี้เราต้องมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิกกันเสียหน่อย

แน่นอนว่าเหตุผลในการทำสงครามโลกของฝั่งอักษะ คือต้องการจะ ‘ยึด’ และประกาศชัยชนะในทุกภูมิภาคทั้งโลกอยู่แล้ว แม้สมรภูมิหลักจะอยู่ฝั่งยุโรปที่มีเยอรมนีคุมอยู่ และญี่ปุ่นก็เดินเกมยึดฝั่งเอเชีย ซึ่งก็ทำได้มาตลอดตั้งแต่ยึดเมืองนานกิงของจีนจนรัฐบาลก๊กมินตั๋งของ เจียงไคเช็ค ที่ต้องตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นหนีไม่รู้กี่รอบ รวมถึงประเทศไทยที่ก็ถูกญี่ปุ่นบุกในเวลาประมาณตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม 1941 ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เป็นต้น ด้วยเหตุเพราะภูมิประเทศของไทยถือเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จะเห็นว่าหากญี่ปุ่นต้องการทำตามจุดประสงค์ในการยึดครองโซนเอเชียทั้งหมด การบุกเข้าประเทศต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา เพราะภูมิภาคของสหรัฐฯ แม้จะดูห่างไกลมากกับโซนเอเชีย แต่นั่นก็แค่มหาสมุทรที่คั่นกลาง แต่หากตัดที่พื้นน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ที่คั่นกลางอยู่ สหรัฐก็ไม่ได้ไกลจากญี่ปุ่นเลย เพราะการที่ญี่ปุ่นจะยึดครองเอเชียทั้งหมด มันหมายถึงต้องยึดโซนแนวมหาสมุทรแปซิฟิกได้ด้วย ซึ่งอเมริกาถือเป็นประเทศสำคัญในแปซิฟิกด่านท้าย ๆ ก่อนขึ้นไปถึงทวีปยุโรป นั่นหมายความว่า ไม่ว่ายังไงการบุกสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แค่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

นอกจากนั้นอาจเพราะญี่ปุ่นไม่พอใจสหรัฐฯอย่างแรงที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือรัฐบาลเจียงไคเช็คมาโดยตลอด อย่ากระนั้นเลย จะช้าหรือเร็วยังไงก็ต้องบุก ญี่ปุ่นจึงฉวยโอกาสบุกและทำลายกองเรือของสหรัฐฯ ไปในคราวเดียวกัน โดยหมายจะทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินให้สิ้นซาก แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นไม่รู้คือเรือบรรทุกเครื่องบินส่วนมากไม่ได้อยู่ที่อ่าวเพิร์ล และอเมริกามีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พวกเขาคิดเอาไว้

ย้อนกลับไปตอนนั้น ตอนที่สหรัฐฯยังไม่ได้สถาปนาตนเองเป็นประเทศมหาอำนาจโลกอย่างปัจจุบัน ตอนนั้นสหรัฐก็เป็นเพียงประเทศใหญ่ประเทศหนึ่งที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงในด้านการสงครามอะไร ไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ที่เหล่าประเทศมหาอำนาจในตอนนั้นต้องกังวลอะไรมากนัก ดังนั้นการโจมตีสหรัฐในเช้าวันที่ 7 ธันวาคม เป็นเพียงการเดินหมากบุกยึดประเทศโซนแปซิฟิกที่ต้องทำ แต่ใครจะรู้ว่าเหตุการณ์ได้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อสหรัฐฯ ได้โอกาสโชว์ศักยภาพที่แอบซ่อนไว้ต่อโลกในเรื่องการสงคราม

สงครามฝั่งแปซิฟิกจึงเกิดสมรภูมิที่สำคัญที่สุดในแนวรบมหาสมุทรแปซิฟิกอย่าง สมรภูมิมิดเวย์ ในวันที่ 4-7 มิถุนายน 1942 ที่เกิดจากการที่ญี่ปุ่นต้องการจะยึดหมู่เกาะมิดเวย์ที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นฐานที่มั่นของตน เพราะหากยึดเกาะนี้ได้การโจมตีสหรัฐฯนับจากนี้จะได้เปรียบมาก นอกจากนั้นยังเป็นการหวังจะโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ยังเหลือของสหรัฐอีกด้วย สมรภูมินี้ทางญี่ปุ่นจึงทุ่มทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมือดีเข้าสู่สมรภูมิ แต่ทว่าทางสหรัฐดันสามารถถอดรหัสลับของญี่ปุ่นได้ก่อน จึงวางแผนเตรียมรับมือการป้องกันและจัดวางกำลังพลตลบหลังญี่ปุ่นได้ สมรภูมินั้นทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนักทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลขับเครื่องบินฝีมือดีที่ตายหลายคน และทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นฝ่ายที่เริ่มกลับมาได้เปรียบในแนวรบมหาสมุทรแปซิฟิก

ที่ฝั่งสมรภูมิที่ยุโรป การเข้าร่วมฝั่งสัมพันธมิตรของยุโรป ทำให้กองกำลังทวีความแข็งแกร่งขึ้น แถมสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนเมื่อทหารฝั่งโซเวียตเริ่มสู้กลับ จากปัจจัยเรื่องภูมิอากาศที่หนาวสุดขีดของภูมิประเทศที่ทำให้ทหารเยอรมนีเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ทำให้ทหารฝ่ายอักษะเกิดศึกสองด้าน ทั้งด้านของฝั่งทหารโซเวียตที่เริ่มรุกกลับ และอีกด้านคือฝั่งของสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ร่วมกันสู้รบเพื่อยึดคืนประเทศที่เยอรมนียึดไปก่อนหน้า จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า วันดีเดย์ (D-Day) หรือ ปฏิบัติการเนปจูน ที่เป็นการโต้กลับของฝั่งสัมพันธมิตรในการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 เพื่อยึดฝรั่งเศสคืนและโต้กลับทหารนาซีเยอรมัน

จากจุดนี้เองที่ทำให้ฝั่งอักษะที่ต้องรับศึกสองด้านเริ่มพ่ายแพ้และต้องถอย ถอยลงมาเรื่อย ๆ จนร่นลงมาถึงเบอร์ลิน

ที่แนวรบแปซิฟิก หลังจากญี่ปุ่นเกิดความเสียหายอย่างหนักจากสมรภูมิมิดเวย์ สหรัฐอเมริกาเดินหน้ารุกคืบต่อด้วยการบุกญี่ปุ่นที่ฟิลิปปินส์ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 1944 โดยเป้าหมายคือต้องการยึดฟิลิปปินส์กลับคืน แต่ด้วยความเสียหายจากสมรภูมิก่อนหน้า ทำให้ความสามารถด้านการรบของญี่ปุ่นอ่อนกำลัง ประกอบกับทางอเมริกันที่ยกกำลังพล โดยเฉพาะกองเรือบรรทุกเครื่องบินมาพร้อม จึงถล่มญี่ปุ่นได้อย่างเด็ดขาดและยึดฟิลิปปินส์กลับคืนมาได้สำเร็จ สมรภูมินี้สร้างความเสียหายให้กับญี่ปุ่นมากขึ้นไปอีก โดยสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไปถึง 3 ลำ และเครื่องบินรบกว่า 600 ลำ

มาถึงตอนนี้ สหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้น เพราะการเดินหมากต่อไป คือการรุกเข้าเขตแดนของญี่ปุ่น

เกาะอิโวจิม่า เกาะเล็ก ๆ ในแนวมหาสมุทรแปซิฟิก ฐานทัพด่านสุดท้ายก่อนจะถึงแผ่นดินใหญ่แดนอาทิตย์อุทัย คือเป้าหมายต่อไปของสหรัฐอเมริกา เพราะความสำคัญของสมรภูมินี้คือจุดตัดสินทิศทางของสงคราม หากสหรัฐฯบุกยึดอิโวจิม่าได้ นั่นหมายถึงการได้ฐานอากาศยานขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นมาครอง การจัดตั้งฐานทัพกองกำลังเครื่องบินที่จะโจมตีแผ่นดินใหญ่จะทำได้ง่ายดาย ชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อญี่ปุ่นก็อยู่แค่เอื้อม และมันอาจเป็นการจบสงครามที่แนวรบแปซิฟิกอันยาวนานเสียที

แน่นอนว่าฝั่งญี่ปุ่นยอมไม่ได้เด็ดขาดที่จะเสียเกาะอิโวจิม่าให้กับสหรัฐฯ จึงวางแผนจัดกำลังเตรียมรับมือเอาไว้อย่างสุดกำลัง การต่อสู้เริ่มต้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1945 และกินเวลาถึงห้าสัปดาห์ในสมรภูมิที่ได้ชื่อว่าดุเดือดและนองเลือดที่สุดในสงครามแนวแปซิฟิก เหตุเพราะความมุ่งมั่นของทั้งสองฝั่งที่ยอมไม่ได้ ฝั่งอเมริกาก็จะเอาให้ได้ ส่วนญี่ปุ่นก็ทุ่มสุดตัวในการปกป้อง แต่สุดท้ายก็ต้านทานความเหนือกว่าทั้งอาวุธและกำลังพลของสหรัฐฯ ไม่ไหว การสู้รบจึงยุติในวันที่ 25 มีนาคม 1945

โดยคราวนี้มีทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตถึงสองหมื่นนาย ถูกจับเป็นเชลยเพียง 26 นาย เหตุก็เพราะเหล่าทหารญี่ปุ่นจะมีคติว่าจะต้องสู้จนตัวตายและไม่ยอมถูกจับ หากว่าจะถูกจับเหล่าทหารจะทำการ ฮาราคีรี หรือฆ่าตัวตายก่อน หรือไม่ก็จะเลือกวิธีการพลีชีพโดยการถือระเบิดมือติดตัวและพุ่งเข้าใส่กลุ่มทหารอเมริกันทันที

และรูปภาพการปักธงที่อิโวจิม่าได้ถูกถ่ายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1945 โดยโจ โรเซนธัล ช่างภาพข่าวสงครามจากสำนักเอพี ซึ่งเป็นการปักธงชาติอเมริกันบนยอดเขาสุริบาชิ ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดบนเกาะ ในภาพปรากฏทหารอเมริกัน 6 คนที่ช่วยกันปักธง ประกอบด้วย จอห์น แบรดลีย์, เรเน่ แก็กนอน, ไอรา เฮยส์, แฟรงคลิน เซาส์เลย์, ฮาร์ลอน บล็อก, และ ไมเคิล สแตรง โดยทหารสามคนหลังได้เสียชีวิตในสมรภูมิอิโวจิม่าในเวลาต่อมา

ทางด้านฝั่งยุโรป เมื่อกองทัพนาซีไม่อาจต้านทานกองกำลังฝั่งสัมพันธมิตรและกองทัพแดง (ทหารโซเวียต) ที่บุกเข้ามาในเมืองเบอร์ลินได้แล้ว อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยาของตัวเองในวันที่ 30 เมษายน 1945 ในบังเกอร์ที่หลบภัย ศพของทั้งสองถูกทหารเยอรมันนำไปฝังและจุดไฟเผา อันเป็นการจบสงครามโลกครั้งที่สองในฝั่งยุโรปอย่างไม่เป็นทางการ

ทางฝั่งแปซิฟิก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ชัยชนะในสมรภูมิอิโวจิม่า ก็ได้เล็งเห็นว่าคงไม่คุ้มหากส่งกำลังพลพื้นดินบุกเข้าแผ่นดินใหญ่ เพราะคนญี่ปุ่นทั้งทหารและพลเรือนก็คงยอมสู้ตายถวายชีวิตเพื่อปกป้องมาตุภูมิ จึงเดินหน้าทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ เป็นเวลาหลายเดือน แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้ ดังนั้นจึงใช้แผนการทิ้งระเบิดที่คิดค้นจากโครงการแมนฮัตตัน ตามคำสั่งของประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน ซึ่งก็คือระเบิดปรมาณูที่ชื่อว่า เด็กน้อย หรือ ลิตเติ้ลบอย ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิม่า ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ซึ่งนับเป็นการทดลองใช้ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก มีผู้เสียชีวิตนับ 140,000 คน และบาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน แต่กระนั้นญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้

วันที่ 9 สิงหาคม 1945 สหรัฐฯ จึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่มีชื่อว่า ชายอ้วน หรือ แฟตแมน ลงที่เมืองนางาซากิ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกนับแสนคน หลังจากทิ้งระเบิดลูกที่สองเป็นเวลา 6 วัน ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้สงคราม เป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ

ภาพถ่ายการปักธงที่อิโวจิม่า ของโจ โรเซนธัล ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปีเดียวกัน และมักจะถูกหยิบมาใช้เมื่อมีการกล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่สองอยู่เสมอ และติดอันดับภาพที่ถูกพิมพ์ซ้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นยังถูกใช้เป็นต้นแบบอนุสาวรีย์ทหารนาวิกโยธินสหรัฐ ในรัฐเวอร์จิเนียอีกด้วย

เหตุการณ์สมรภูมิที่อิโวจิม่า เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองเรื่อง ที่เล่ามุมมองจากทั้งฝั่งทหารอเมริกันและมุมมองจากฝั่งทหารญี่ปุ่น ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Flags of Our Fathers (2006) ที่เล่าเรื่องจากฝั่งทหารอเมริกัน และ Letters from Iwo Jima (2006) ที่เล่าเรื่องจากฝั่งทหารญี่ปุ่น ซึ่งภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องกำกับโดย คลินต์ อีสต์วูด ผู้กำกับตำนานของฮอลลีวูด

ที่เป้าหมายของหนัง อาจต้องการบอกคนทั่วโลกว่า ในสงคราม มันไม่มีคนดีหรือคนเลวหรอก ทุกคนต่างต้องทำตามหน้าที่ของตน และสิ่งหนึ่งที่คนอาจลืมไปคือทหารทุกคนก็คือมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีหัวใจ กลัวตาย ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนชนชาติไหนก็ตาม และกับสงคราม ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งผู้ชนะหรือผู้แพ้ สิ่งหนึ่งที่จะได้กลับบ้านไป คือบาดแผลในใจอันทุกข์ทรมานที่ไม่อาจลืมได้จนวันตาย

อ้างอิง

Content Creator

  • ธนาณัติ ลิ้มธนสาร

    ชายบ้าภาพยนตร์ บ้าแมนยู บ้าการเมือง ที่ชอบอ่าน ชอบเขียน และคิดเสมอว่าบทความดีๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดความคิดบางอย่างได้เสมอ แต่เป็นมนุษย์ติดกาแฟ คิดวนไปวนมา ตอนนี้กำลังฝึกตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สามารถมองเห็นความสุขง่ายๆ ของชีวิต