fbpx

ส่วนใหญ่เมื่อเรานึกถึงหนังของ หว่อง กา ไว ภาพที่เราเห็นจะเป็นความเหงา ความรัก หรือความสับสนวุ่นวาย  แฟนหนังของ หว่อง กา ไว จึงเรียกความอารมณ์นี้ว่า “หว่อง” แต่มากกว่าความหว่องนี้ ภาพยนตร์ของหว่อง กา ไว กลับสอดแทรกประเด็นทางการเมือง สภาพสังคม หรือเศษรฐกิจไว้อย่างแนบเนียบบนประเด็นหนังรักโรแมนติกที่ผู้คนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผลงานคลาสสิกอย่าง “Happy Together”

Happy Together พูดถึงความสัมพันธ์ของคู่ชายรักชายชาวฮ่องกง คือไหล่เยิ่วฟา (รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย) กับ ห่อโปวเหวง (รับบทโดย เลสลี จาง) ที่วาดฝันร่วมกันว่าจะเดินทางไปยังน้ำตกอีกวาซู ในประเทศอาร์เจนตินาด้วยกันสักครั้ง แต่ระหว่างทางกลับมีอุปสรรคที่กระทบกับความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องเงิน ความเหงา ความใคร่ และ ความผิดหวังหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนยังคงสามารถประคองความสัมพันธ์ไว้ได้จนกระทั่งมีอาเจิน (รับบทโดย จางเจิน) เข้ามาในชีวิตของไหล่เยิ่วฟา 

อาร์เจนตินา จีน ไต้หวัน ก่อนปี 1997 

ทำไม หว่อง กา ไว ถึงเลือกที่จะใช้สถานที่และภาพตัวแทนอย่างอาร์เจนตินา จีน และ ไต้หวันเข้ามาในบทหนัง ทั้งที่ทั้งสามประเทศแทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

ช่วงก่อนปี 1997 ประเทศอาร์เจนตินาก่อน มีข้อพิพาษกรรมสิทธิ์หมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอังกฤษ ที่กินเวลายาวนานกว่า 200 ปี และในเดือนเมษายน ปี 1982 เกิดสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่สู้รบกันนานกว่า 10 สัปดาห์ ซึ่งท้ายที่สุดอาร์เจนตินาแพ้สงครามและต้องเสียหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ให้แก่สหราชอาณาจักร และหมู่เกาะนี้ก็เป็นที่รู้จักกันในฐานะ ‘ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร’

ดังนั้น ชาวอาร์เจนตินาจึงมีแผลใจจากอังกฤษ ประกอบกับบริบทสังคมเสรีนิยมสุดโต่งอย่าง Peronism ที่รัฐบาลเป็นผู้สนองความต้องการของทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นล่าง และทำให้คนในสังคมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันทางสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนปี 1997 มีการเจรจาสัญญาเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี เมื่อเดือนกันยายน ปี 1982 ต่อมา ทางอังกฤษได้ต่อสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงไปอีก 50 ปี แต่ทางการจีนได้หาทางออกในเดือนมิถุนายน 1984 ด้วยระบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ซึ่งเป็นนโยบายภายใต้หลักการจีนเดียว แต่ให้อิสระทางการปกครองแก่ฮ่องกง จนเป็นเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 

สถานะของชาวฮ่องกงในช่วงเวลาการเช่าสัญญา 99 ปี นั้นไม่ต่างกับพลเมืองชั้น 2 ที่จีนและอังกฤษคอยตักตวงผลประโยชน์ เพราะ ชาวฮ่องกงนั้นได้รับอิทธิพลจากทั้งสองประเทศ แต่ด้วยความที่วัฒนธรรมไม่ใช่จีนแท้ และไม่ได้มีเชื้อชาติเป็นอังกฤษแท้ จึงทำให้ชาวฮ่องกงนั้นรู้สึกเป็นส่วนเกินอยู่เสมอ

สังเกตได้ว่าทั้งจีนและอาร์เจนตินา ถึงแม้จะไกลคนละซีกโลก แต่กลับมีประเทศที่เป็นคู่เจรจาเจ้าเดียวกันอย่างอังกฤษ ทำให้หว่อง กา ไว เลือกที่จะเล่นประเด็นทางการเมืองผ่านประเทศอาร์เจนตินา ที่มีเสรีภาพเรื่องเพศ และความรุ่งเรืองในอดีตที่ไม่สามารถเรียกร้องเอาหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กลับมาได้ 

ส่วนไต้หวันก่อนปี 1997 นั้น ถูกจีนมองว่าเป็นแค่เขตอิสระ แต่พวกเขามีรัฐธรรมนูญและทหารเป็นของตัวเอง และเหตุการณ์สำคัญอย่าง 228 ในปี 1947 ที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลพรรค ก๊ก มิน ตั๋ง ที่ปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง ส่งผลให้มีการออกกฎอัยการศึกที่กินเวลานานถึง 38 ปี หรือรู้จักกันในเหตุการณ์ ‘ความน่าสะพรึงสีขาว’

กว่าที่ไต้หวันจะได้รับอิสรภาพและกล้าลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง พวกเขาต้องเผชิญกับความหวาดกลัวและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่กลุ่มรัฐบาลมองว่าเป็นภัยความมั่นคง แน่นอนว่า ถ้าคนนอกมองประเทศนี้อย่างผิวเผินก็อาจจะไม่รู้ถึงเรื่องราวตรงนี้เลยก็ได้  

ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ สะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของคู่รัก LGBTQ+ ที่ในยุคนั้นยังมี “ความเป็นอื่น” เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เช่นเดียวกับฮ่องกงที่มีความเป็นส่วนเกินในบริบททางการเมืองและวัฒนธรรมในขณะนั้นโดยใช้ตัวละครหลักอย่างไหล่เยิ่วฟา ที่เป็นชาวฮ่องกงที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจีนสูง และ ห่อโปวเหวงชาวฮ่องกงที่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ ที่มีความขัดแย้งกัน ขณะที่ก็มีอาเจินที่เปรียบเสมือนไต้หวันที่มีอิสระ กล้าที่จะสู้กับความถูกต้อง และเคารพตัวเอง

 2 ฉากที่น่าสนใจ กับ สัญญะแฝงใน Happy Together 

ฉากเต้นรำของตัวละครหลักทั้งสองกลายเป็นแรงผูกมัดที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ตัณหา และช่องว่าง ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเหมือนกับความสัมพันธ์ของชาวฮ่องกงและอังกฤษที่ “ขอเริ่มต้นใหม่” ทุกครั้งในการเจรจาที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถหวนกลับไปถึงอดีต ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีความแน่นอนหากต้องกลับไปรวมกับจีน  ดังนั้น ประโยคที่ว่า A Story About Reunion บนโปสเตอร์ จึงบอกเล่าสถานการณ์นี้อย่างชัดเจน

ส่วนฉากที่ห่อโปวเหวงมอบโคมไฟให้แก่ไหล่เยิ่วฟาที่น้ำตกอีวาซู แทนที่จะมีบรรยากาศที่สวยงาม ชวนฝัน และเป็นธรรมชาติที่มีความรุนแรงตามสัญชาตญาณ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมืดทึม ไม่ได้สวยงามเหมือนที่ทั้งสองคนวาดฝันไว้ ก็เปรียบได้กับการที่ชาวฮ่องกงฝันถึงอิสรภาพที่ถูกยอมรับจากอังกฤษและจีน เช่นเดียวกับไต้หวันที่กล้าลุกขึ้นสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเอง

อาร์เจนตินา จีน ไต้หวัน หลังปี 1997 ถึงปัจจุบัน 

อาร์เจนตินาหลังปี 1997 นั้นต้องเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงปี 2001 – 2002 และผลพวงนี้ทำให้ Peronist ได้กลับเข้ามาสู่คนรากหญ้าในอาร์เจนตินามากยิ่งขึ้น และในปี 2023 ประเทศอาร์เจนตินามีภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 100%  

ส่วนไต้หวันหลังปี 1997 ก็ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์บีบคั้นจากทางการสาธารรัฐประชาชนจีนอยู่บ่อยครั้ง เพราะสีจิ้นผิงต้องการให้ไต้หวันรวมชาติกับจีนภายใต้นโยบายจีนเดียว แต่ไต้หวันยังคงต่อสู้เพื่อตัวเองและยืนหยัดสถานะประเทศของตัวเองไว้

ในทางกลับกัน ฮ่องกงหลังปี 1997 นั้น สถานการณ์กลับตึงเครียดกว่าเดิม เพราะในปี 2014 เกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง ที่ส่งผลให้ชนชั้นกลางในฮ่องกงต้องอพยพออกจากจีน และเกิดกฎหมายฉบับพิเศษในปี 2020 ซึ่งทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนนั้นลดลงอย่างน่าใจหาย และอนาคตต่อจากนี้จนถึงปี 2046 ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

Content Creator

  • ​ผู้เขียนสายไลฟ์สไตส์และถ่ายรูปบอกเล่าเรื่องสาระให้ย่อยง่ายและแบ่งปันเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง