fbpx

ในรายงาน “สถานการณ์เศรษฐกิจและแรงงานในญี่ปุ่น เดือนกันยายน 2024” จากเว็บไซต์ของมูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan International Labour Foundation : JILAF) พบว่าในเดือนกรกฎาคม 2024 ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ราว ๆ 67.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 230,000 คนจากปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันยังมีจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ราว ๆ 1.88 ล้านคน เพิ่มขึ้น 50,000 คนจากปีที่แล้ว โดยคนส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออกจากที่เก่า เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น

ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าในสภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่องการทำงานอย่างหนัก ทั้งการหางานที่ยากเย็น และการลาออกจากงานที่มากขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธกันยากว่าใคร ๆ ก็ต้องการงานที่ดี และเงินที่ดี เพื่อประทังชีวิตและความฝันของตนเอง 

คนที่มีงานทำจึงแทบจะต้องทำงานแบบถวายชีวิต จนบางทีอาจจะเผลอมองข้ามเรื่องสุขภาพออกไปโดยที่ไม่รู้สึกตัว ไหนจะหัวหน้าแผนกที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช และเพื่อนร่วมงานที่ชอบโบ้ยงานเพื่อความสุขส่วนตน เรียกว่าเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ชานม ยาดมกระปุก กลายเป็นไอเทมชุบทีมีใบของเหล่าพนักงานกินเงินเดือนทุกท่านเลยก็ว่าได้ 

อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว จึงต้องขอถามผู้อ่านกันแบบตรง ๆ เลยว่า … “อยากได้ผีหรือวิญญาณ ไปช่วยเยียวยาพวกคุณไหมครับ”

เชื่อว่าใครก็ตามที่เจอคำถามข้างต้น คงกำลังคิดจะโทรหาพี่แจ็ค The Ghost Radio หากได้ประสบพบเจอตามคำถามที่ถามไป แต่ ณ อีกฟากหนึ่ง ในประเทศญี่ปุ่น มีสาวออฟฟิศคนหนึ่งกำลังพบเจอผีที่ออฟฟิศจริง ๆ แต่แทนที่เธอจะตื่นกลัวและรีบกลับบ้าน แต่เธอกลับชื่นใจ และมีแรงทำงานล่วงเวลาต่อไปอีก 3 วัน 7 วัน

เพราะอะไรเธอถึงไม่กลัวผีในออฟฟิศ และผีหรือวิญญาณตนนั้นเป็นใคร วันนี้ทางผู้เขียนภูมิใจนำเสนอเรื่องราวสุดอบอุ่นหัวใจ ของสาวออฟฟิศ และวิญญาณก้อนกลมตนนี้ 

และสิ่งนี้มีชื่อเรื่องว่า “คุณพนักงานคะ รับน้องผีไปช่วยเยียวยาไหมคะ”

ชวนรู้จักกับ “น้องผี”

“คุณพนักงานคะ รับน้องผีไปช่วยเยียวยาไหมคะ” (Miss Shachiku and the Little Baby Ghost) ซีรีส์มังงะ (หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น) แนวโชเน็ง ตลก เหนือธรรมชาติ จาก “อ.อาริตะ อิมาริ” โดยเริ่มต้นเป็นการ์ตูนสั้นลงในช่องทาง Twitter ส่วนตัวของอาจารย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และได้ตีพิมพ์ลงใน “Shounen Gangan” นิตยสารการ์ตูนโชเน็งรายสัปดาห์ของค่าย SQUARE ENIX ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน และได้ตีพิมพ์เป็นฉบับรวมเล่ม จนปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 11 เล่ม (ที่ประเทศไทยตอนนี้ก็มีลิขสิทธิ์อยู่ที่สำนักพิมพ์ First Page Pro ออกมาแล้วจำนวน 4 เล่ม)

ส่วนในฉบับอนิเมะ (ซีรีส์อนิเมชั่นญี่ปุ่น) ได้ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 เมษายน – 23 มิถุนายน 2022 เป็นจำนวน 12 ตอน ภายใต้การผลิตของสตูดิโอ “Project No.9” ที่ก่อนหน้านี้เคยผลิตอนิเมะโรแมนติกต่างวัยอย่าง “โกนหนวดไปทำงานแล้วกลับบ้านมาพบเธอ (Higehiro: After Being Rejected, I Shaved and Took in a High School Runaway)” และผลงานเด่นล่าสุดในปี 2024 อย่าง “รุ่นพี่สุดสวยคนนี้เป็นผู้ชาย (Senpai is an Otokonoko)” ซึ่งสามารถรับชมได้ในช่องทาง Bilibili

เนื้อเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้ จะเป็นเรื่องราวของ “ฟุชิฮาระ” พนักงานสาวใน Black Company ที่ถูกใช้แรงงานอย่างหนักจากเจ้านายใจดำ ในทุก ๆ วันฟุชิฮาระมักจะอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และกองงานที่พูนล้น ซึ่งเธอต้องอยู่แบบนี้จนดึกดื่นเป็นประจำ จนอยู่มาวันหนึ่งเธอก็ได้ยินเสียงโหยหวนปริศนา แต่เจ้าของเสียงนั้นไม่ได้คาดหวังจะเอาชีวิตของเธอ แต่ดันเป็นการไล่ให้เธอออกไปจากที่นี่ และกลับบ้านให้ไวที่สุด

ฟุชิฮาระจึงสืบหาต้นตอของเสียง และได้พบกับ “น้องผี” วิญญาณเด็กที่กำลังโหยหวนขอให้เธอออกไปจากที่นี่ แต่ด้วยความตัวเล็กก้อนกลม และหน้าตาน่ารัก เลยผลักดันเธอให้มีแรงฮึดในการทำงานต่อจนเสร็จ 

ในทุก ๆ วัน น้องผีจึงพยายายามอย่างหนักในการไล่ฟุชิฮาระออกจากออฟฟิศนี้ ในขณะที่ฟุชิฮาระก็ดูท่าจะเอ็นดูน้องผีตนนี้เหลือก้ำเหลือเกิน จนเก็บไปเลี้ยงที่ห้องเช่าเล็ก ๆ จากคนที่ใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย ใช้ชีวิตวันต่อวัน แต่งงานกับงาน กลับมีความผูกพันกับน้องผีตนนี้ไปโดยปริยาย

“น้องผี” ไม่ได้มีแค่ตัวเดียว !?

หากนี่เป็นเรื่องราวระหว่างน้องผี และฟุชิฮาระเพียงแค่สองฝั่ง ก็อาจจะจืดไปสักหน่อย เลยขอแนะนำเหล่า “น้องผี” ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องนี้กันสักเล็กน้อยพอหอมคอหอมปากกันดีกว่า (จริง ๆ ยังมีอีก แต่ขอแนะนำคร่าว ๆ สักสามสี่ตัวนะครับ)

“น้องผี”

วิญญาณเด็กนุ่งเสื้อผ้าสีขาว นิสัยซุกซน แก่นแก้ว ขี้แย มีหน้าที่ไล่ฟุชิฮาระกลับไปพักผ่อนที่บ้านในทุก ๆ วัน แต่ด้วยหน้าตาที่น่ารักของน้อง เลยกลายเป็นเหมือนสายชาร์จแบตเตอรี่ของฟุชิฮาระแบบไม่มีข้อกังขา และน้องผีดูจะผูกพันกับเธอมากเลยทีเดียว ทั้งชงชา นวดไหล่ เพื่อให้ฟุชิฮาระทำงานเสร็จไว ๆ และออกไปให้เร็วที่สุด

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ในเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นจะเรียกน้องว่า “ยูเร” ที่หมายถึงวิญญาณที่เสียชีวิตโดยมีความอาฆาตหรือไม่มีความสงบสุข ซึ่งทางผู้เขียนยังไม่ทราบแน่ชัดว่าน้องเสียชีวิตอย่างไร และเพราะเหตุใด

“เหมียวโกะ”

เดิมทีเป็นแมวที่ถูกทิ้งข้างทาง ฟุชิฮาระและน้องผีมาพบเจอระหว่างทาง และน้องผีขอร้องให้ฟุชิฮาระนำกลับมาเลี้ยงที่ห้องพัก แต่กลับพบว่าแมวตัวนี้สามารถแปลงร่างเป็นเหมียวโกะ ที่มีผมและหูสีดำ ใส่ชุดกิโมโน และเรียกฟุชิฮาระว่านายท่าน มีหน้าที่เฝ้าและดูแลงานบ้านทุกอย่าง ทั้งทำความสะอาดห้องพัก และทำอาหารได้เก่งมาก

เหมียวโกะจะมีลักษณะเหมือน “เนโกะมาตะ” หรือ “แมวผี” ซึ่งในบางพื้นที่ของญี่ปุ่นมีเรื่องเล่าที่กล่าวถึงเนโกะมาตะซึ่งหลงรักเจ้านายของตน และแปลงร่างเป็นสาวงามเพื่อใช้ชีวิตอีกด้วย

“ลิลลี่”

วิญญาณเด็กสาวผิวแทนในชุดเมด มีหน้าที่คอยดูแล “คุราฮาชิ ซัตสึกิ” สาวนักวาดการ์ตูน ที่อาศัยอยู่ข้างห้องของฟุชิฮาระ ถึงแม้ว่าลิลลี่จะเบื่อหน่ายในนิสัยของซัตสึกิที่ชอบปล่อยให้ห้องของตนสกปรก และชอบรบกวนน้องอยู่บ่อยครั้ง แต่น้องก็ยังยอมและชอบความพยายามในงานของซัตสึกิอยู่ตลอด

“มิโกะ”

ผู้ส่งสาส์นจากเทพเจ้าอายุ 806 ปี มีเขา สวมชุดจิฮายะ มิโกะได้เห็นฟุชิฮาระครั้งแรกในสภาพที่ไม่สู้ดี ตอนที่พวกเธอมาไหว้ขอพรปีใหม่ที่ศาลเจ้า ซึ่งมิโกะได้เตือนเธอผ่านคำพยากรณ์ ว่าให้ย้ายบ้านออกไปจากที่นี่ เพราะจะถูกไฟไหม้

ตามประเพณีของญี่ปุ่น มิโกะเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในศาลเจ้าชินโต มีหน้าที่ทำพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้า และเป็นร่างทรงของเทพเจ้าเพื่อรับคำพยากรณ์ และประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน

เพราะสังคมการทำงานมัน “อักเสบ” เกินไป?

หลังจากที่ผู้เขียนได้ลองอ่านมังงะไปส่วนหนึ่ง ก็ได้ข้อคิดไปตกผลึกอีกต่อว่า ในขณะที่สังคมทั่วโลกเริ่มหางานได้ยาก คนที่มีงานจึงพยายามอย่างหนักเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอบ้าง ไม่เพียงพอบ้าง มาประทังชีวิต หากโชคร้ายเจอเจ้านายสุดเขี้ยว สิ่งแวดล้อมเลวร้าย ก็ยิ่งทำให้การทำงานอย่างราบรื่นดั่งใจหมาย อาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว

ผู้เขียนจึงคิดว่า อ.อาริตะ อาจแต่งการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจและการทำงานในประเทศญี่ปุ่น ที่ร่ำลือกันว่าโหด และใช้แรงงานหนักเยี่ยงทาส

ยกตัวอย่างแบบไว ๆ ก็จากกรณีที่สตูดิโอผลิตอนิเมะแห่งหนึ่ง ที่ทีมงานผู้ผลิตต้องโหมงานอย่างหนักภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อผลิตอนิเมะยอดนิยม ซึ่งพวกเขาต้องเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อแลกกับค่าแรงที่นานวันก็ยิ่งน้อยนิด จนเกิดการลาออกครั้งใหญ่ในที่สุด

ทางผู้เขียนคิดว่าบางที ไอ้คำว่า “งานหนักไม่ได้ทำให้เราตาย” คงจะจริงแค่เพียงบางบริบท ตรงที่ผู้สั่งการไม่ตาย แต่แรงงานชั้นล่างนี่สิที่จะตาย การอัดฉีดสวัสดิการเพื่อจูงใจให้พนักงานมีแรงทำงาน และพยายามไม่ให้องค์กรของตนกลายเป็น Black Company จึงเป็นธรรมาภิบาลที่ผู้บริหารควรยึดถือไว้เป็นสรณะ

สุดท้ายแล้ว หากวันหนึ่งวันใดที่ผู้เขียนต้องเจองานหนัก บางทีก็อยากจะมีน้องผีมาช่วยเยียวยาจิตใจแบบนี้บ้าง เพื่อประคับประคองตนจากการทำงานในแต่ละวัน

หรือว่าเราต้องบินไปญี่ปุ่น เอ … จะคุ้มหรือเปล่านะ?

บรรณานุกรม

Content Creator

  • อภิวัฒน์ ช่วยแสง

    พอดแคสเตอร์ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นพิธีกรเกมโชว์ ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบคุยกับผู้คน เผลอ ๆ อาจจะชอบคนอ่านด้วย