ต้องยอมรับว่าปีนี้วงการเพลงไทยคึกคักมากๆ เลยทีเดียว ทั้งคอนเสิร์ตที่แน่นทั้งปี ศิลปินที่ทยอยเปิดตัวกันสนุกสนาน และแน่นอนว่าศิลปินบางส่วนที่โลดแล่นอยู่ในวงการเพลงไทย ก้มักจะมีนามสกุลว่า The Voice ห้อยท้ายอยู่เสมอๆ ซึ่งการันตีได้ว่ารายการนี้มีคุณภาพมากจนทำให้ใครหลายคนมีชื่อเสียงได้จนถึงวันนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ชนะในเวที แต่กลายเป็นชนะตัวเอง ได้กลายเป็นศิลปินเต็มตัวที่โด่งดังอีกด้วย และแน่นอนว่าปีนี้ The Voice Thailand 2024 ก็เตรียมกลับมาอีกครั้งในวันอาทิตย์นี้ พร้อม 2 โค้ชใหม่อย่าง ‘โค้ชโอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน’ และ ‘โค้ชจ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี’ ที่มาเสริมทัพ 2 โค้ชตัวหลักอย่าง ‘โค้ชก้อง-สหรัถ สังคปรีชา’ และ ‘โค้ชคิ้ม-เจนนิเฟอร์ คิ้ม’ นั่นเอง
และรอบนี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งกติกาใหม่อย่าง “Super Blocked” ที่รอบนี้ทำเอาโค้ชปวดหัวกว่าเดิม การเปิดตัวโค้ชคนที่ 5 และการลงตอนเต็มเป็นครั้งแรกของรายการบน Netflix อีกด้วย! รอบนี้เเราเลยเชิญคนรู้จริงที่ทำรายการนี้มาคุยกันเต็มๆ เห็นบอกว่าจะมีทำ The Voice Thailand Pride สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย!
วันนี้เราเลยดึงตัว โอ๋-พัฒนี จรียะธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์ซิท สาม หก ห้า จำกัด ผู้ถือลิขสิทธิ์ The Voice Thailand มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปตลอด 10 ปีของการทำรายการ The Voice Thailand การปรับตัว เปลี่ยนแปลง ตลอดจนถึงการพัฒนารายการให้เป็นที่ถูกใจคนไทยทุกยุคทุกสมัย ในวันที่คนหนีไปดูออนไลน์มากขึ้นกัน
ที่มาของการลงแรงและลงเงิน
การทำ The Voice Thailand เราตั้งใจอยากจะทำรายการที่คัดศิลปินจากเสียงร้องจริงๆ ไม่ได้เลือกจากหน้าตาหรือลีลาแต่อย่างใด ซึ่งมันก็พิสูจน์แล้วว่าคนไทยชื่นชอบรายการแบบนี้ คนไทยชอบความอ่อนน้อมถ่อมตนในรายการ ชอบมีความสุข ไม่ดราม่าแบบในอดีต ซึ่งจากการทำมาเรื่อยๆ และเราก็ลงทุนแบบมหากาพย์มากๆ เพราะตอนนั้นเราไม่ได้ทำสเกลรายการปกติ แต่เอาคนที่ดีที่สุดในทุกๆ ด้านมาพัฒนารายการไปด้วยกัน The Voice Thailand จึงเปรียบเสมือนคอนเสิร์ตที่มีรูปแบบรายการทีวี และงบในช่วงเวลานั้นก็สูงถึง 150 ล้านบาทเลย แต่ปัจจุบันก็พยายามควบคุมต้นทุน อย่างปี All Star ก็ใช้ไป 60 ล้านบาท ปีนี้ก็จะทรงๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท
โปรดักชั่นเราการันตีว่าเราดีมากๆ และมีคุณภาพสูงมากๆ เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ทำกำไรในปีแรกหรอก แต่พอทำไปจนถึงซีซั่น 3 มันสำเร็จมากๆ ทั้งทางทีวีและออนไลน์ แต่มันก็มีดราม่าด้วยเช่นกันทั้งตัวโค้ชและตัวผู้เข้าแข่งขัน เช่น แสตมป์ที่ขอลาออกจากรายการเลย เพราะเขาเครียดมาก เป็นต้น และพอมี Social Media ก็ยิ่งทำให้รายการติดจรวดขึ้นไปอีก ด้วยยอดผู้ติดตามมากกว่า 6.7 ล้านคน และมียอดการรับชมบนออนไลน์มากกว่า 300 ล้านวิวส์เลย แต่หลังจากการเข้ามาของทีวีดิจิทัล ประกอบกับการลงทุนที่ลดลง เพราะกำไรจะได้น้อยลง เราเลยต้องลดค่า Production ลง และเราก็ย้ายรายการไปลงที่ช่อง PPTV HD36 ในช่วงซีซั่นที่ 7-8 หลังจากนั้นก็เจอโควิด-19 พอดีก็เลยตัดสินใจเลิกทำไป และกลับมาอีกทีคือ All Star เลยย้ายมาลงช่องวัน 31 พอดี
เชื่อว่ารายการประกวดร้องเพลงยังไปได้
โอ๋เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเพลงไม่มีวันตาย ด้วยความที่ส่วนตัวก็อยู่ในวงการเพลงมาตลอด คือเทรนด์การเสพเพลงอาจจะเปลี่ยนไปบ้างในปัจจุบัน แล้วเทรนด์การดูรายการทีวียุคปัจจุบันก็เน้นดราม่า แต่โอ๋เชื่อว่าถ้าเป็นรายการเพลง The Voice Thailand ยังคงเป็นอันดับหนึ่งเสมอ เพราะเราเน้นคุณภาพจริงๆ และที่กลับมาทำจริงๆ ก็เพราะว่าในตลาดเพลงไทย ถ้าพูดถึงศิลปินหน้าใหม่ที่ดังๆ ก็ล้วนเป็นคนที่มาจาก The Voice ไม่ว่าจะเป็นแชมป์หรือไม่นะคะ เช่น นนท์-ธนนท์ จำเริญ, วี-วิโอเลต วอเทียร์, โจอี้-ภูวศิษฐ์ อนันต์พรสิริ, โบกี้ไลอ้อน หรือแม้กระทั่ง อิงฟ้า วราหะ, มีนตรา อินทิรา ก็มาจากบ้านเรา ซึ่งนามสกุล The Voice ก็ค่อนข้างศักดิ์สิทธิ์แล้วสำหรับคนในวงการ ถึงทำให้รายการอยู่มาได้ 10 ปีเลย แต่พอยท์สำคัญที่จะทำให้รายการเพลงไปได้คือตัวเพลง ซึ่งก็ต้องใช้การเจรจาลิขสิทธิ์เพลง เพราะค่าลิขสิทธิ์เพลงถือว่าสูงที่สุดแล้วในบรรดาต้นทุนทั้งหมด
ปีแรกที่ทำลายสถิติคนออดิชั่นถึง 25,000 คน!
หากจะนับจากการเปิดออดิชั่นรอบนี้ถือว่าสูงสุดตั้งแต่ทำรายการมาเลย คือ 25,000 คน จากปีก่อนๆ ที่มีออดิชั่นออนไลน์เพราะข้อจำกัดด้านต้นทุน แต่ปีนี้เราทำเป็นตู้ออดิชั่น ลักษณะจะคล้ายๆ Photo Booth ให้เข้าไปร้องเพลงในห้องนั้น เลยทำให้รายการไวรัลตามไปด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงปีที่เคยเยอะที่สุด คือซีซั่น 3 ที่ตอนนั้นได้ประมาณ 10,000 คน แต่ตอนนั้นคือตั้งแถวมาเลยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้วตอนนั้นเป็นทดสอบร้องกัน 3-5 วินาที เพราะคนคัดก็ฟังไม่ไหวจริงๆ แต่ปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ
เมื่อคนมีความฝันเหมือนกัน เลยมาทำงานร่วมกัน
ทางพี่ก็ได้มีการไปคุยกับพี่นนท์-ณัฐฏ์ฐพัฒฑุ์ ฉันทะนิธิ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ อาร์ทิสต์ ไทยแลนด์ จำกัด) ตัวพี่เขาเคยทำงานอยู่ A-Time แล้วเขาเป็นเจ้าแม่ตั้งแต่แรกเลย แล้วเขาก็มาทำที่ World Artist ทีแรกเราจะคุยเรื่องคอนเสิร์ตกัน แต่เขาและดร.แตน-ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ (ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด) ชวนให้กลับมาทำ The Voice Thailand ก็เลยได้ T&B และ World Artist มาร่วมลงทุนด้วย
เลือกโค้ชที่ใช่ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด?
จริงๆ เราศึกษามาเยอะ อย่างปีแรกๆ เราอิงจากต่างประเทศเป็นหลัก ก็คิดถึงหน้าพี่คิ้มเป็นคนแรกเลย เพราะเขาขายเสียงมากๆ ไม่ได้ขายหน้าตา แล้วพี่ก้องก็ตามมา เพราะพี่ก้องเป็นคนรู้จักที่สุดในทีวี ตอนนั้นเล่นละครอยู่ด้วย ตามมาด้วยพี่โจอี้บอยและแสตมป์ แล้วปีต่อมาเลยเป็นป๊อป เลยเข้าใจว่าสุดท้ายโค้ชต้องสนุกด้วย พอปีนี้เปลี่ยนเป็นโอ๊ต พี่ว่าพอได้นะ เพราะส่วนตัวโอ๊ตเป็นคนเก่งมากๆ ร้องเพลงเก่ง แต่ภาพลักษณ์เขากลายเป็นพิธีกรแล้ว พอปีต่อๆ มาก็มีเรียกคนไปคุยบ้าง เพราะจริงๆ พี่คิ้มแกจะไม่ยอมทำแล้ว ก็มีสองปีก่อนหน้าที่เราเอาดา เอ็นโดรฟินมาเป็นดค้ชแทน เขาก็สนุกดีมากๆ แล้วก็แซ่บมากๆ เช่นกัน แต่ความมหาชนอาจจะยังสู้พี่คิ้มไม่ได้ เราก็เคยถึงขนาดไปขอร้องแกที่บ้านแกเลยทีเดียว สุดท้ายแกก็ยอมกลับมาทำอีกครั้ง
The Voice Thailand กับการต่อยอดไปทุกช่องทาง
เนื่องด้วยปีนี้เราปรับวิธีการเช่าเวลาสถานีโทรทัศน์ จากเดิมปี All Star เราใช้วิธีการ Time-Sharing กับทางช่องวัน 31 เนื่องจากตัวเราเองก็ขายโฆษณาเองได้ไม่ค่อยเยอะ แต่ปีนี้เรามีนักลงทุนและมีวิธีการหารายได้ใหม่ๆ เราเลยใช้วิธีการเช่าเวลา 100% และยังต่อยอดการทำคอนเทนต์และการขายให้มากขึ้น ปีนี้เลยเป็นปีแรกที่เราจะลง Full Ep. บน Netflix แต่ก็ยังคงมีคอนเทนต์แบบ Highlight และคอนเทนต์ต่อยอดอื่นๆ บนช่องทาง Social Media ของ The Voice Thailand รวมถึงในปีหน้าตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นคอนเสิร์ตอีกด้วย
ซึ่งโดยปกติการหารายได้ของรายการคือการหาผู้สนับสนุนต่างๆ ในรายการ และอย่างรายการ The Voice ก่อนหน้านี้ก็ได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจาก Social Media Platform เป็นหลัก ฉะนั้นในปีนี้เราเลยเน้นการต่อยอดด้วยคอนเทนต์ต่างๆ ประกอบกับตัวรายการเองทั้งทางออนไลน์และทางทีวี รวมถึงการออกโชว์ของเด็กๆ ใน The Voice ที่ทาง T&B World Artist จะนำไปพัฒนาต่อของเขาด้วย โดยผสานกับเทคโนโลยีอีกด้วย
สำหรับเป้าหมายหลังจากนี้ คงยังอยากทำ The Voice Thailand ไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และอยากต่อยอดให้เป็น The Voice Pride (LGBTQIA+) เนื่องจากเราเห็นว่าในปีที่ผ่านๆ มามีศิลปินที่มีความหลากหลายทางเพศมาจาก The Voice ด้วย เช่นใน The Voice Senior Season 2 ก็มีป้าป้อมที่เป็นแชมป์ ตัวแกเองเป็นทอมที่อายุเลย 60 ปีแล้ว แต่แกยังใจรักในการร้องเพลงและดูแลคุณแม่ไปด้วย หรือเพียว The Voice แบบนี้เป็นต้น เราเห็นว่าใน The Voice มีบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ผลิตมาจากบ้านเราเยอะมาก ก็อยากจะทำแต่คงเป็นออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งเราก็ได้คุยกับทาง itv Studios เจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวเขาก็สนใจมากๆ และอยากให้เราทำ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยรูปแบบต่างๆ มากกว่า ซึ่งถ้าเราตั้งใจอยากให้เป็นประเทศแรกในโลกที่ทำคอนเทนต์แบบนี้ และคงตั้งใจอยากให้ลงเป็น Netflix Original ด้วยซ้ำ
ติดตามรายการ “The Voice Thailand 2024” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 18.00 น. ทางช่องวัน 31 และรับชมย้อนหลังเต็มตอนได้ทาง Netflix ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 21.30 น. และยังมีรายการ “The Voice Thailand Comeback Stage” ที่จะออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี 18.00 น. เฉพาะบน YouTube: The Voice Thailand อีกด้วย รวมถึงรับชมเนื้อหาสนุกๆ ได้ทาง Social Media ทุกแพลตฟอร์มของ The Voice Thailand