ผ่านมาแล้ว 90 ปี นับตั้งแต่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 หรือ อภิวัฒน์สยาม 2475 ยังคงถูกพูดถึงอยู่เสมอ มีงานเขียน งานวิชาการต่างๆ มากมายให้ได้เลือกศึกษาได้ตามอัธยาศัย แต่แน่นอนว่างานศึกษาต่างๆ ล้วนไม่สามารถจะตัดตัวตนและอคติของผู้ศึกษาออกไปได้หมดจด เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งนี้ จึงถูกเล่าจากสองมุมมอง ทั้งจากฝ่ายที่เห็นดีและนิยมชมชอบคณะราษฎร หรือจากฝ่ายที่ปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475 ที่มักอธิบายการกระทำของคณะราษฎรว่าเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม”
ดังนั้นเราจึงปิดหนังสือทุกเล่ม ปิดวิดีโอทุกคลิป แล้วมองหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้น เพราะเราเชื่อว่าสิ่งของเหล่านี้ แม้จะมีเรื่องเล่า แต่ไร้ซึ่งอคติของคน เราจึงมุ่งหน้าไปหา ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เขาได้เตรียมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยอภิวัฒน์สยาม 2475 ไว้หลายชิ้น หลังจากที่เราบอกกับเขาว่าเราอยากเห็นหลักฐานชั้นต้นจริง ๆ ที่ไม่ได้มีความเห็นใดๆ เจือปน
ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร หรือ อาจารย์บูม เชื่อว่าการสอนประวัติศาสตร์ต้องทำให้เห็นภาพ และไม่น่าเบื่อ ด้วยสไตล์การสอนแบบ Reenactor (ผู้จำลองประวัติศาสตร์) ที่เน้นการจำลองประวัติศาสตร์ให้เห็นภาพจริง ผ่านการแต่งกายที่ถูกต้องตามเหตุการณ์จริง ประกอบกับการนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นจากยุคสมัยนั้นๆ จึงทำให้นิสิตภาควิชาประวัติศาสตร์ และรวมไปถึงนิสิตภาคอื่นๆ ที่เคยลงเรียนกับเขา (เช่นผู้เขียน) ต่างก็หลงใหลและเลิกมองว่าประวัติศาสตร์เป็นของน่าเบื่อ
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-24-684x1024.jpg?ssl=1)
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-22-684x1024.jpg?ssl=1)
ฉะนั้นเราเมื่อเดินทางมาถึง จึงไม่น่าแปลกใจที่อาจารย์บูมจะเดินทางลงมารับเราในเครื่องแต่งกายของทหารบกยศพันเอกในสมัยนั้น ซึ่งเป็นเครื่องแบบเดียวกันกับของพระยาพหลพลหยุหเสนา ในห้องของเขาเต็มไปด้วยหนังสือ เอกสารเก่า และหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายชิ้น จนเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ ก็ว่าได้ “มองอภิวัฒน์ 2475 ผ่านวัตถุ 5 ชิ้น” นี่คือหัวข้อที่เราแจ้งกับเขาไปก่อนหน้าเพื่อให้เขาเตรียมตัว และเมื่อเราถามถึงของชิ้นแรกที่เขาเตรียมไว้ เขาจึงชี้ไปที่หน้าอกซ้ายของเขา ที่มีเหรียญตราเก่าๆ มีแถบแพรลายธงชาติ ติดไว้ 1 เหรียญ
ชิ้นที่ 1
เหรียญปราบกบฏ
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-21-683x1024.jpg)
อาจารย์บูมเล่าว่า “ที่มาของมันคือเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ เป็นเหรียญที่ให้ประชาชนในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชในปี 2476 กบฏบวรเดชถูกพูดถึงจากคนหลายกลุ่ม และหลายชุดคำอธิบาย เขาเป็นกบฏเพราะเขาแพ้ สิ่งที่เขาต้องการแน่ๆ ก็คือต่อต้านและโค่นล้มคณะราษฎร แต่จุดประสงค์จริงๆ ของเขาเป็นที่ถกเถียงกันมานานมากว่าเขาทำไปเพื่ออะไร”
ก็เพื่อถวายอำนาจคืน ร.7 ไม่ใช่เหรอ เราตอบเขา “เขาไม่ได้พูดแบบนั้นชัด ๆ นะ จากในใบปลิวเขาก็บอกว่าเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งใบปลิวเขาโปรยลงมาจากเครื่องบินก็ถือเป็นหลักฐานชั้นต้น จะเขียนไว้ชัดว่าเขาต้องการ Reorganize ประชาธิปไตยให้มันสมบูรณ์ขึ้น ทั้งๆ ที่ก็เพิ่ง Revolution กันมาเอง แต่เขาบอกว่ามันยัง Incomplete (ยังไม่สมบูรณ์)แต่เขาไม่ได้พูดตรงๆ นะว่าเขาจะทำอะไร บอกแค่ว่าจะทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งมันมีประโยคหนึ่งที่อาจารย์ประวัติศาสตร์หลายคนได้พูดไว้คือ สิ่งใดแถลง สิ่งนั้น (มักจะ) ตรงข้าม สิ่งใดห้าม สิ่งนั้นมีอยู่ เพราะงั้นถ้าคุณแถลงว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้ คุณก็ลอง Reverse (หมุนกลับไป) ดูสิ แล้วมันจะได้อะไร ก็ย้อนกลับไปเป็นแบบเก่าไง แต่ถ้าบอกว่าจะย้อนกลับไปเป็นแบบเก่า คนก็จะไม่เอา เพราะคนเขาเกลียดระบอบเก่า”
แล้วเหรียญนี้มันสำคัญยังไง เราถามเขา “คณะราษฎรคณะราษฎรต้องการทำเหรียญขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมในทางใดทางหนึ่ง เช่น ทำของออกมาช่วย เอากำลังออกมาช่วย หรือเสี่ยงชีวิตออกมาช่วย เขาจะเสนอชื่อกับ ครม. และมีการประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษาด้วย”
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-37-1024x684.jpg)
ดังนั้นเหรียญปราบกบฏจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่าประชาชนในสมัยนั้นนิยมในระบอบใหม่และสนับสนุนคณะราษฎร ถึงขั้นเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยในการปราบกบฎบวรเดช ซึ่งสิ่งนี้สวนทางกับชุดความคิดและงานประวัติศาสตร์อีกกระแสที่มองว่าประชาชนสยามยังยึดติดกับระบอบเก่า และไม่ได้มีความเข้าใจในระบอบใหม่ “พวกเขาคิดว่าราษฎรจะเข้าข้างเขา แต่เขาอ่านเกมผิดหมด ชาวบ้านเข้าข้างคณะราษฎรเต็มที่ ขนาดที่ว่าทหารของคณะราษฎรเดินทางไปที่ไหน ชาวบ้านเอาขนมจีนไปเลี้ยงเลย บางคนถึงขนาดขายแหวนแต่งงานเพื่อไปสนับสนุนให้รัฐบาลปราบกบฏก็มี” อาจารย์บูมกล่าวเสริม
“ชิ้นนี้มีมิตรสหายท่านหนึ่งไปได้มาเป็น Dead stock คือยังอยู่ในกล่องกระดาษอยู่เลย ยังไม่ได้แกะ ก็มีประมาณเกือบร้อยเหรียญ เขาก็บอกว่าถ้าอาจารย์สนใจ ผมปล่อยให้ เลยได้มาในราคา 800 บาท ซึ่งมันเป็นมือหนึ่งด้วย”
ชิ้นที่ 2
เหรียญสละชีพเพื่อชาติ
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-20-683x1024.jpg)
“แล้วคนที่ไม่ได้ร่วมแต่ใจให้ล่ะ?” เขาถามเรา ซึ่งชวนคิดไม่น้อยเพราะจากที่ฟังอาจารย์บูมเล่ามา ดูเหมือนจะมีประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนคณะราษฎรในเวลานั้น “ประชาชนทั้งประเทศเอาใจช่วยคณะราษฎรในเหตุการณ์นั้น แต่จะให้ทำเหรียญเครื่องราชออกมาแปดหมื่นอัน มันก็เกินไป แต่หลังจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2476 คณะราษฎรก็ออกสิ่งนี้ออกมาขาย” คราวนี้เขาชี้ไปตรงเหรียญวงกลมที่ติดอยู่บริเวณกระเป๋าเสื้อด้านขวา
“เหรียญสละชีพเพื่อชาติ เป็นรูปรัฐธรรมนูญ อันนี้เป็นเหรียญที่คนที่ไม่ได้ไปร่วม แต่ใจอยู่กับคณะราษฎร สนับสนุนคณะราษฎรจะไปซื้อเหรียญนี้มา และเหรียญนี้มีเยอะมากเลยครับ การที่คนติดเหรียญนี้มันแสดงให้เห็นว่าฉันสนับสนุนคณะราษฎร” คือพูดง่ายๆ ว่าเป็นเหรียญสำหรับคนที่ “อิน” กับคณะราษฎรใช่ไหม เราถามอาจารย์ “ใช่ๆ อินๆ (หัวเราะ) ซื้อเองด้วย คณะราษฎรก็ทำขายในงานฉลองรัฐธรรมนูญมาตลอด จนงานฉลองรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกไป”
“อันนี้สั่งจากเว็บในราคา 300 บาท ตอนนั้นมันไม่ค่อยจะมีราคาค่างวดเท่าไร 2-3 ปีนี่มาเองที่คนมาตามเก็บของคณะราษฎรกันอย่างจริงจัง จนของพวกนี้ที่เมื่อก่อนไม่เคยจะเป็นของหายาก” ปกติของที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรไม่ใช่ของที่มีราคาแพงเลย อย่างเหรียญ (ปราบกบฎ) ซื้อมา 800 เอง เหรียญปรากบฎรุ่น 2549-2550 ได้มา 300 บาท แต่ถ้าเป็นตอนนี้หลักร้อยไม่ได้แล้ว เพราะตั้งแต่การเมืองมันเป็นแบบนี้ ของที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรมันเป็นที่ต้องการ” พอได้ยินแบบนั้นความหวังที่ไปเดินตลาดของเก่าเพื่อตามเก็บของเก่าในสมัยคณะราษฎรของผู้เขียนก็ดับสิ้นลงทันที
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-38-1024x683.jpg)
อาจารย์บูมจึงหยิบเหรียญอีกเหรียญหนึ่งขึ้นมา เป็นเหรียญรูปทรงเดียวกับเหรียญปราบกบฏ ที่แตกต่างกันตรงที่ไม่มีผ้าแพรลายธงชาติไทย เป็นเหรียญที่อาจารย์บูมติดไว้คู่กับนาฬิกาพกพาคู่ใจ “เมื่อก่อนราษฎรเป็นที่พูดถึงก็จริง แต่แอคทิวิสต์ (นักเคลื่อนไหว) ไม่ได้ใช้สัญญะนี้ แอคทิวิสต์กลุ่มแรกที่ใช้สัญญะของคณะราษฎรคือแอคทิวิสต์กลุ่มปี 2550 ที่ไปล้อมบ้านป๋า” ด้านหน้านั้นเป็นรูปรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่พอหันมาด้านหลัง เหรียญยังคงเป็นรูปพระสยามเทวาทิราช แตกต่างกันตรงที่ข้อความที่กำกับไว้ว่า ปราบกบฏ ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ก็น่าชวนคิดสองอย่างว่าใน “กบฏ” ที่พวกเขาหมายถึงคือใคร และพวกเขาปราบกบฏสำเร็จหรือเปล่า
ชิ้นที่ 3
ตราอุณาโลม สละชีพเพื่อชาติ
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-36-1024x683.jpg)
“ชาติคืออะไร” คำถามนี้ลอยขึ้นมาในหัว หลังจากเห็นของชิ้นต่อไปที่เขานำเสนอยังคงผูกติดอยู่กับเรื่องชาติ ซึ่งคำถามนี้กล่าวโดย รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ (บิดาของ จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์) ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์บูมและอาจารย์ของผู้เขียนด้วยเช่นกัน คำถามนี้คือคำถามคลาสสิคของอาจารย์โกวิทที่มักจะถามนิสิตอยู่เสมอ (และนิสิตมักจะตอบไม่ได้) ชาติคืออะไร? และทำไมเราถึงต้องสละชีพเพื่อชาติ?
“การสร้างชาติ โดยเฉพาะการสร้างชาติแบบฟาสซิสต์ (ลัทธิชาตินิยมที่เน้นการรวมอำนาจแบบเบ็ดสร้าง) มันก็เป็นเทรนด์ในยุคนั้นนะ ทั้งฮิตเลอร์ในเยอรมัน มุสโสลินีในอิตาลี คือถ้าเราบอกว่าจอมพล ป.เป็นเผด็จการเชื้อชาตินิยม จะพูดยังงั้นก็คงไม่ผิด คณะราษฎรต้องการสร้างความเป็นชาติและมันเป็นเรื่องเร่งด่วนด้วย มันก็เลยมีวาทกรรม สละชีพเพื่อชาติ ให้รู้สึกว่าชาติเป็นของทุกคน เมื่อก่อนชาติมันเป็นเพียงการ Romanticize ของชนชั้นนำ อยู่ในวรรณกรรม แล้วถามว่าในสมัยนั้นวรรณกรรมคนอ่านออกมากน้อยแค่ไหน” ดูเหมือนสิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยตลอด 90 ปี คือการที่ชนชั้นนำทุกยุคชอบ Romanticize ความเป็นชาติเหลือเกิน เราแอบคิดในระหว่างที่ฟัง
“เพราะงั้นโจทย์ของคณะราษฎรคือต้องพาอุดมการณ์ความเป็นชาติให้ออกพ้นจากกรอบของวรรณกรรม และออกจากกรอบของการที่เป็นแค่มหรสพ เพราะงั้นจึงมีการสร้างความเป็นชาติผ่านการประชาสัมพันธ์ของกรมโฆษณาการ ให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกคุณถือเป็นสมาชิกของประเทศเท่าเทียมกันนะ และเพราะทุกคนเท่ากัน เราก็เป็นพวกเดียวกันไง จากนั้นจึงค่อยใส่สตอรี่เข้าไปว่าชาติเราเนี่ยมีพลานุภาพ อย่างพันท้ายนรสิงห์เนี่ยคือตายเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และกฎหมายไหนที่เขาอยากให้คนตายเพื่อปกป้อง ก็รัฐธรรมนูญไง”
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-35-1024x684.jpg)
เขาหยิบตราอุณาโลมที่มีข้อความว่าสละชีพเพื่อชาติอยู่บนนั้นให้เราดู จากนั้นเขาจึงหยิบหมวกของทหารบกในสมัยปัจจุบันขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็น ซึ่งเราสังเกตเห็นว่าตราบนหมวกของทหารในปัจจุบันนั้นไม่มีข้อความว่า สละชีพเพื่อชาติ อยู่อีกแล้ว “นี่แหละประเด็น คุณเห็นอะไรจากหมวกสองอันนี้บ้าง ตรานี้ (ตราหน้าหมวกปัจจุบัน) มาตอนสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาจัดการประกวดตราใหม่ เพราะเขาจะยกเลิกไม่ให้ตรานี้ (สละชีพเพื่อชาติ) อีกแล้ว
“มีคนบอกว่าคณะราษฎรทำตราแบบนี้ (สละชีพเพื่อชาติ) มา เพราะไม่เอาเจ้า มันไม่มีมงกุฎ แต่ประเด็นคือผิด เห็นตราตรงกลางไหม มันคือตราอุณาโลมของรัชกาลที่ 1 แล้วถ้าเราไปดูตราหน้าหมวกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นะ เขาเรียกว่าเป็นตราอุณาโลมในเปลวกนกเล็ก ๆ จะเห็นว่าตราอุณาโลมหน้าหมวกมีมานานแล้ว คณะราษฎรก็ไม่ได้ตัดทิ้ง แค่เพิ่มคำว่าสละชีพเพื่อชาติเข้าไปเท่านั้น เพื่อให้มันถูกพูดซ้ำๆ ว่า เราต้องสละชีพเพื่อชาติ ทหารต้องสละชีพเพื่อชาติ และแต่ละหน่วยงานก็จะมี Motto ประจำของตัวเอง เช่น ของยุวชนทหาร หรือ รด.ในสมัยต่อมา ก็จะมี Motto ว่า รักชาติยิ่งชีพ ตำรวจก็จะเป็น พิทักษ์สันติราษฎร์ ฝ่ายปกครอง ข้าราชการพลเรือนก็จะเป็นหน้าหมวกรูปสิงห์ว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”
“เพราะงั้นจะสังเกตได้ว่า หากเราตัดของตำรวจและฝ่ายปกครองออกไป ก็จะเห็นได้ว่าคำว่าชาติก็มักจะอยู่ในทหาร ถามว่าวาทกรรมรั้วของชาติมันมีในประเทศไหนบ้างล่ะ ทหารเขาถือปืนก็ต้องสูกสร้างอุดมการณ์ให้มีความภักดีต่อชาติ แต่ตอนนี้ก็ชัดเลยนะว่าตอนนี้ชาติหายไปไหน”
“ชิ้นนี้ได้มาจากตึกแดง จตุจักร (ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น) ได้มานานแล้วเหมือนกัน น่าจะประมาณ 1,000-1,200 บาท แล้วเราก็อยากเก็บของออริจินอลใส่ตู้ไว้ แล้วเราก็สั่งทำมาอีกชิ้นไว้เวลาที่อยากใส่ ”
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-27-1024x684.jpg)
ชิ้นที่ 4
แผ่นเสียงเพลงชาติไทย
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-34-1024x682.jpg)
“ขอเคลียร์โต๊ะหน่อยๆ” เรารีบเก็บของ หยิบมือถือที่ใช้อัดเสียงออกมา เขยิบตัวออกไปแถบจะหน้าห้องของเขา เพราะของชิ้นต่อไปที่อาจารย์บูมจะให้เราดูนั้นกินพื้นที่พอสมควร เขาหยิบกระเป๋าเคสใบหนึ่งขึ้นมาวางบนโต๊ะ และเมื่อเปิดออกมามันคือเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพกพา ซึ่งดูจะอายุก็น่าจะเก่าพอสมควร แต่สิ่งที่เป็นพระเอกไม่ใช่เครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่คือแผ่นเสียงต่างหาก และแผ่นเสียงนั้นคือเพลงชาติไทยที่เราฟังคุ้นหูกันในปัจจุบัน
“พอเขามีการโปรโมทเรื่องชาติ เพราะฉะนั้นในความหมายของคำว่าชาติที่ตรงกับคำว่าประเทศเนี่ย ซึ่งมันก็ไม่ได้ถูกต้องนะ แต่เขาก็ใช้สองคำนี้แทบจะแทนกันได้ เพราะเขาต้องการให้เห็นว่า รัฐ ก็คือ ชาติ มันก็เริ่มในสมัยของคณะราษฎร ทั้งๆ ที่จริงๆ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันมันเลยต้องถูกสร้างขึ้นมา แล้วนอกจากงานฉลองรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ซึ่งจริงๆ มันก็เข้าถึงคนทั้งประเทศแต่มันยังไม่พอ เราจะใช้สื่ออะไรเพื่อ Romanticize ความเป็นชาติอีก ซึ่งง่ายที่สุดก็คือเพลงปลุกใจความเป็นชาติพวกนี้ เพลงชาติจึงถูกแต่งขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย ในปี พ.ศ.2482”
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-32-1024x684.jpg)
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-33-1024x684.jpg)
เขาหยิบแผ่นเสียงเพลงชาติไทยออกจากซอง โชว์ให้เราดูข้อความที่อยู่บนแผ่น ขอโทษครับอาจารย์ มองไม่เห็นอะไรเลย ตัวอักษรมันเลือนรางเหลือเกิน (หัวเราะ) จนต้องเพ่งดีๆ อีกครั้งเราจึงมองเห็นข้อความว่า “เพลงชาติไทย” และมีภาษาอังกฤษว่า National Song และมีตราครุฑของกรมโฆษณาการการประทับอยู่ จากนั้นเขาจึงบรรจงวางแผ่นเสียงลงไปบนเครื่องเล่น แล้วค่อยๆ วางหัวเข็มวางลงไป เสียงดนตรีดังขึ้น ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ชัดเจนว่าเป็นเพลงชาติที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เพียงแต่เสียงร้องเป็นเสียงผู้หญิงที่ค่อนข้างแหบ “เสียงแบบนี้เป็นเสียงแหบๆ ตามกระแสของเพลงแจ๊สในยุคนั้น ต้นเสียงจริงๆ คือ Edith Piaf แล้วนักร้องกรมโฆษณาการตอนนั้นจะพยายามเลียนเสียงตาม” เมื่อเขาพูดจบดนตรีก็จบลงด้วยเช่นกัน “หลังจากเพลงจบ ก็จะมีดนตรีเปล่าๆ ให้ยืนเคารพ” ดนตรีเพลงชาติไทยแบบไม่มีเสียงร้องดังขึ้นต่อทันที “เพลงนี้ทุก 8 โมงจะต้องเปิดตามสถานีวิทยุ ก็จะส่งไปทั่วประเทศเลย” แต่นอกจากการเปิดเพลงชาติทุกเช้าเย็นล่ะ คณะราษฎรได้ใช้เพลงในโอกาสใดอีกบ้าง “เมื่อก่อนการฟังเพลงคือ Privilege (อภิสิทธิ์) อย่างหนึ่งของชนชั้นหนึ่งเท่านั้น แต่คณะราษฎรได้ทำให้การฟังเพลงเป็นเรื่องของทุกคน อารมณ์แบบดนตรีในสวนอะไรแบบนี้ เมื่อก่อนเขาจะมีจัดงานแฟร์ ก็จะมีวงดนตรีของกรมโฆษณาการ หรือ วงสุนทราภรณ์ไปเล่น เพลงที่เล่นก็จะเป็นเพลงที่ปลุกใจเรื่องชาติ และทุกครั้งที่จบการแสดงจะจบด้วยเพลงชาติ ซึ่งตอนหลังก็เปลี่ยนมาเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี”
เราเข้าใจแล้วว่าการปลูกฝังชาตินิยมผ่านเพลงชาตินั้น ทรงพลังจริงๆ แล้วมันมีข้อเสียไหมนะ เราสงสัย “แต่พอปลูกฝังความเป็นชาติผ่านเพลงปลุกใจเหล่านี้ มันก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หายไปหมด เช่น เกิดใต้ธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย มีมิตรสหายท่านหนึ่งที่ทำงานกับประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ เล่าให้ฟังอย่างสิ้นหวังว่าผู้ใหญ่ในกองทัพเวลาจะแก้ปัญหาสามจังหวัด เขาจะรับไม่ได้เลยเวลาต้องพูดถึงเรื่องชาติพันธุ์ เพราะเขามองว่าทุกคนเป็นคนไทย แต่ถามว่าตรงนั้นคนไทยไหม เขาเป็นคนมลายูพูดภาษายาวี แต่นโยบายของรัฐก็ยังบอกว่านั้นไม่ใช่มลายู นั่นคือคนไทย จะเห็นว่าเพลงมีส่วนอย่างมากเลยนะ ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ และเพลงที่เป็นสุดยอดของการปลูกฝังเรื่องชาติ ก็คือเพลงชาติ” ในปัจจุบันแม้ตัวผู้เขียนจะมีโอกาสฟังเพลงชาติได้น้อยครั้งเต็มที่ แต่หลังจากนี้ต่อไป เมื่อไรที่ได้ยินเพลงชาติดังขึ้น ก็คงชวนให้คิดถึงความเป็นชาติในตัวเราไม่มากก็น้อย
“แผ่นเพลงชาติได้มาพร้อมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง ได้มาจากตึกแดงจตุจักรเช่นกัน คนขายก็บอกเราเหมือนเดิมว่า ถ้าอาจารย์จะเอา (หัวเราะ) ก็ได้มาในราคา 4,500 บาท ซึ่งถูกนะ แผ่นเพลงชาติไม่ได้หาได้ง่าย ๆ นะ อาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ (ผู้เขียนหนังสือ ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ(คณะ)ราษฎร) ยังถามเลยว่าพี่ไปเอามาได้ไง มันมีเยอะแหละ แต่ไม่ได้หาง่ายนัก”
ชิ้นที่ 5
ประกาศพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๗๔
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-31-1024x683.jpg)
“ชิ้นสุดท้ายเป็นหนังสือ” อาจารย์บูมหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาวางบนโต๊ะ สภาพเก่า ปกยับเยิน สันขาดวิ่น ในบรรดาของทุกชิ้นที่อาจารย์บูมให้เราลองจับ นี่เป็นชิ้นเดียวที่เราไม่กล้าจับ เพราะกลัวจะไปทำให้มันเสียหาย แม้สภาพจะสมบูรณ์น้อยที่สุดถ้าเทียบกับของชิ้นอื่นๆ แต่ในบรรดาของทุกชิ้น หนังสือเล่มนี้อาจเป็นพระเอกเลยก็ว่าได้
“มันคือสิ่งที่บ่งบอกสภาพสังคมได้ดีที่สุด ประกาศพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนดต่าง ๆ รัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๗๔ นี่คือสถานการณ์ 1 ปีก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง อยากรู้ไหมล่ะว่าเขาออกกฎหมายมันๆ ยังไงบ้างที่เข้าข้างชนชั้นนำ” แหม ขายมาขนาดนี้ ก็ต้องอยากรู้สิครับ ช่วยเล่าต่อทีเถอะ เขาค่อยๆ เปิดอย่างปราณีตและมือเบาที่สุด ใจหนึ่งเราทั้งตื่นเต้นในข้อมูลที่กำลังจะได้รู้ อีกใจหนึ่งก็กลัวเขาจะเปิดแรงจนหน้ากระดาษมันหลุดออกมาเหลือเกิน ระหว่างเปิดเขาบอกว่าประเด็นสำคัญคือการออกภาษีในสมัยนั้น “เขาขึ้นภาษีพวกของจำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ดันไปลดภาษีที่เอื้อชนชั้นนำ เช่นไปลดภาษีเรือยอร์ช” อาจารย์บูมถามเราว่าในสมัยปัจจุบัน Vat อยู่ที่เท่าไร 7% เราตอบครับ จากนั้นเขาจึงชี้ไปที่หน้าที่เขาเปิดเจอ “ของต้องพิกัดภาษีอัตราร้อยละ ๒๐ แล้วดูของที่เขาขึ้น ขนมปัง เนยเหลว เนยแข็ง มาการีน” จนสายตาของเราไปสะดุดกับ เนื้อ ปลา ผัก และผลไม้ เราอุทานขึ้นมาทันทีว่า “เฮ้ย” นี่มันก็แทบทุกอย่างที่เรากินแล้วนะ
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-28-1024x684.jpg)
“แล้วจะให้กูแดกอะไร” อาจารย์บูมสรุปง่ายๆ อย่างได้ใจความ “ทุกวันนี้ภาษีเท่านี้ยังจะเป็นใจตายเลย ร้อยละ 20 อ่ะ ต้นทุนสิบบาทก็ต้องขายสิบสองเลยนะ เศรษฐกิจก็ตกต่ำตายเลย ดูรัฐบาลหาเงินไม่เป็น ปลดราชการออก และก็ยังขึ้นภาษีประชาชนอีก และนี่คือปี 2474 หนึ่งปีก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง” อาจารย์บูมปิดท้ายประเด็นนี้สั้นๆ ว่า “ทำกันขนาดนี้ ไม่ปฏิวัติยังไงไหว”
อีกจุดหนึ่งที่อาจารย์บูมชี้ให้เราเห็นคือเรื่องการศึกษาที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จัดให้กับประชาชน ซึ่งจุดนี้ฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรก็มักจะใช้ว่าวาทกรรมประชาชนยังไม่มีการศึกษาจึงไม่มีความพร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย “เช่น ประกาศกระทรวงธรรมการเรื่องการใช้ พรบ.ประถมศึกษา ๒๔๖๔ สำหรับตำบลนั่นตำบลนี้ คือต่อจากนี้ ตำบลนี้ทุกคนต้องเรียนหนังสือ เขาประกาศทีละตำบล ถึงแม้ในทางหลักการเขาบอกว่าจะให้ พรบ.ประถมศึกษาจะประกาศใช้ทั่วประเทศก็จริง เขาทยอยประกาศ แต่ขนาดจนถึงปี 2474 ผ่านมาสิบปี บางตำบลยังไม่มีการศึกษาภาคบังคับเลย” ก็ชวนให้คิดไม่น้อยเลยว่าในระบอบเก่านั้น จริงจังแค่ไหนในการให้การศึกษากับประชาชน
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-30-684x1024.jpg?ssl=1)
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-29-682x1024.jpg?ssl=1)
“เล่มนี้ได้มา 300 บาทจากสมัยที่ยังไม่ไล่ร้านหนังสือข้างทางตรงวังท่าพระ ซึ่งคนขาย (คนละคนกับแผ่นเสียง) ก็บอกเราอีกเหมือนกันว่า ถ้าอาจารย์จะเอา (หัวเราะ) ซึ่งสภาพมันแย่มากๆ แต่เล่มนี้มันทำให้เห็น 1 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ชัดเจน เข้าใจความอดทนอดกลั้นของผู้คนในสมัยนั้น”
ผ่านมาแล้ว 90 ปี ทำไมเราต้องศึกษาประวัติศาสตร์จากสิ่งของเหล่านี้
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-26-684x1024.jpg?ssl=1)
![](https://i0.wp.com/thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-25-684x1024.jpg?ssl=1)
หลังจากบทสนทนาผ่านสิ่งของดำเนินมาอย่างยาวนาน เราถามอาจารย์บูมถึงความสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านหลักฐานชั้นต้นเช่นนี้ ที่ในยุคปัจจุบัน ถ้าจะศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและคณะราษฎรก็น่าจะหาอ่านหนังสืออ่านได้ไม่ยาก
“บางทีของพวกนี้มันพูดดัง และพูดตรงกว่าหนังสือ เพราะหนังสือมันผ่านคนแต่ง คนแต่งก็มีวิธีคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง เอาง่ายๆ อย่างเรื่องราวของกบฏบวรเดชมันถูกเล่าโดยใคร ถ้ามันถูกเล่าโดยกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรเขาก็จะบอกว่านั่นคือความทุกข์ที่พวกพระราชวงศ์และผู้ภักดีต้องถูกพวกกบฏพวกนี้ (คณะราษฎร) กระทำอย่างน่าสงสาร เพราะงั้นในสายตาของกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรกบฏบวรเดชคือวีรบุรุษ ในขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรก็จะเล่าว่าคนพวกนี้ (กบฏบวรเดช) ทำเพื่อกษัตริย์ เรื่องเหล่านี้มันก็ถูกเล่าโดยนักประวัติศาสตร์ 2 กลุ่ม แต่สิ่งของบางทีมันพูดของมันโต้งๆ แทนที่เราจะอ่านหนังสือและเราจะเชื่อนักประวัติศาสตร์กลุ่ม A กลุ่ม B เราสามารถใช้วิจารณญาณและเข้าไปวิเคราะห์หลักฐานชั้นต้น และบางทีคุณอาจสร้างทฤษฎีของตัวคุณเองก็ได้”
“ของพวกนี้มันมีที่ผ่านมาของมัน จุดประสงค์แรกสร้างมันอาจยังคงอยู่ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบเวลาก็ได้ สิ่งของมันเล่าตัวเองผ่านบริบทแวดล้อมของมัน และบริบทแวดล้อมเหล่านั้นอาจช่วยเสริม และช่วยเราตั้งคำถามเพิ่มเติมกับประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ก็ได้ ซึ่งการที่เราได้ข้อมูลไปเสริม หรือตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ที่มันมีอยู่ นั้นแหละคือจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเรียนประวัติศาสตร์”
![](https://thefirst.asia/wp-content/uploads/2024/11/F1RST-SITTHARD-23-1024x684.jpg)