บทความนี้ขอใช้ตัวเลขไทยทั้งหมด
จากกระแสที่เร่าร้อนเหลือเชื่อ ของการกำเนิดแคมเปญรณรงค์ขอรายชื่อสนับสนุนเล็ก ๆ แคมเปญหนึ่ง บนเว็บไซต์ change.org ของคุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้ง Opendream ในหัวข้อ ‘ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทย เพื่อความพัฒนาในด้านดิจิทัล’ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปัจจุบันมีผู้คนมาร่วมลงชื่อแล้วกว่า ๑๒,๐๐๐ รายชื่อ
ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายรายล้อมตัวเลขไทยทั้ง ๑๐ ตัวนี้อยู่ ทั้งการสนับสนุนแคมเปญนี้ก็มีความเห็นว่า ควรมีการใช้งานตัวเลขไทยให้ถูกกาลเทศะ และไม่สร้างปัญหาต่อระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องมีความเป็นสากล หรืออีกมุมมองหนึ่งที่คัดค้านแคมเปญนี้ และมีความเห็นว่าควรอนุรักษ์การใช้ตัวเลขไทยในเอกสารราชการนี้คงเดิมทุกประการ เพื่อดำรงความเป็นชาติเอาไว้ให้เป็นปึกแผ่น ที่มีวัฒนธรรมไทยเป็นของตัวเอง
แน่นอนว่าเสียงจากผู้คนในสังคมแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งผู้สนับสนุนแคมเปญนี้ก็มีการหาตรงกลางระหว่างกัน ฝั่งผู้คัดค้านก็ยืนกรานไม่ให้มีการแก้ไขใด ๆ ทั้งนั้น เพราะเป็นการมองว่าอีกฝั่งต้องการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมของประเทศไทย และเอาใจต่างชาติ
จะด้วยเหตุผลใดจากฝั่งไหนก็ตามแต่ เราคงต้องหาสิ่งใดมาเป็นกาวเชื่อมความสัมพันธ์การใช้งานเลขไทยให้กับทั้งสองกลุ่มนี้ และกาวแท่งนั้นมีชื่อว่า TH Sarabun IT๙ แท่งกาวผู้ขี่ม้าขาวมาช่วยกู้สถานการณ์นี้ เรามาร่วมรู้จักเจ้าแท่งกาวที่สามารถสมานสัมพันธ์ครั้งนี้กัน
TH Sarabun IT๙ ฟอนต์มาตรฐานที่ผ่านการดัดแปลงใหม่
ท้าวความก่อนว่า TH Sarabun IT๙ เป็นฟอนต์ไทยมาตรฐานราชการที่ดัดแปลงมาจากฟอนต์ TH SarabunPSK ฟอนต์ไทยที่ออกแบบโดย คุณศุภกิจ เฉลิมลาภ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๑๓ ฟอนต์แห่งชาติ ที่ถูกคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงมติเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓ ให้หน่วยงานฝ่ายบริหารทั้งหมดใช้ชุดแบบอักษรนี้ ทดแทนชุดแบบอักษรเดิมที่ซื้อมาจากบริษัทเอกชน เช่น ชุดแบบอักษร Angsana New, Browallia New, Cordia New และ EucrosiaUPC เพื่อให้กระทรวง และหน่วยงานราชการทั้งหมดใช้งานเป็นแบบแผนเดียวกัน
และเพื่อเป็นการใช้ฟอนต์ที่มีลิขสิทธิ์ขึ้นที่อยู่ในการกำกับดูแลของไทยได้ แทนการใช้ฟอนต์เดิมที่มีลิขสิทธิ์ขึ้นกับบริษัทเอกชน ซึ่งอาจจะมีการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ตามมาในภายหลัง
โดยในประกาศเดียวกันนั้น มีการกล่าวถึงการรับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าควรมีการรณรงค์ให้จัดพิมพ์ตัวเลขไทย แทนตัวเลขอารบิก เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เลขไทยตามมติของคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น
ต่อมามีโปรแกรมเมอร์นิรนาม ดัดแปลง Glyph ตัวเลขอารบิกทุกตัวบนฟอนต์ให้กลายเป็นเลขไทย เพื่อให้สะดวกต่อการใช้ตัวเลขไทยของหน่วยงานราชการนั่นเอง ด้วยการพิมพ์เลขอารบิกบน Num Pad ตัวเลขทั้งหมดที่แสดงผลบนหน้าจอก็กลายเป็นเลขไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์
ข้อดี-ข้อเสีย ของ TH Sarabun IT๙
อันที่จริงฟอนต์ TH Sarabun IT๙ ไม่ใช่ฟอนต์ราชการไทยโดยสมบูรณ์ เพียงแต่เป็นกาวเชื่อมระหว่างความสะดวกสบายของการใช้เลขไทย และระบบราชการที่ถูกกำหนดให้ใช้เลขไทยในเอกสารราชการ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นวิธีการจัดการที่ทำให้งานสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดการทำงานที่ซับซ้อนลง หรือเรียกอย่างหยาบ ๆ ว่า “ความมักง่าย”
เพราะข้อดีเพียงข้อเดียวของฟอนต์นี้ คือการทำให้เอกสารราชการไทยสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น ในการพิมพ์เอกสารแต่ละครั้งที่อาจต้องใช้เวลา การร่นเวลากด Shift หรือ Caps Lock ก่อนจะกดใช้ตัวเลขไทยที่ไม่ได้เรียงบนแป้นพิมพ์ให้พิมพ์สะดวกมากนัก ให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้นด้วยแป้นพิมพ์ตัวเลขอารบิก ทั้งความสะดวกที่มากกว่าในการใช้แป้นพิมพ์แถวบนสุด หรือ Num Pad ด้านขวาของแป้นพิมพ์
ส่วนนอกจากนั้นทุกข้อ ล้วนเป็นข้อเสียที่เกิดขึ้นจจากการใช้งานฟอนต์นี้ทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการทำให้การจัดหน้าเอกสารคลาดเคลื่อนได้ หากเปลี่ยนเป็นฟอนต์อื่น ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เลข ‘1’ และ ‘๑’ ที่มีขนาดตัวอักษรด้านกว้างที่แตกต่างกัน เมื่อ Glyph ของเลขอารบิกบนระบบฟอนต์ กลายเป็นเลขไทย ทำให้ฟอนต์อื่น ๆ ที่ Glyph ของเลขอารบิกบนระบบฟอนต์ เป็นเลขอารบิก ถูกแสดงผลการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะทำให้การจัดหน้าเอกสารที่จัดไว้เสียหาย หน้าเลื่อน ผิดพลาดไม่มีชิ้นดี
หรือการทำให้การแสดงผลข้อมูลบนเอกสารต่าง ๆ เกิดความผิดพลาด อย่างที่เราจะเห็นกันบ่อย ๆ ในกรณีของการใส่ URL ในเอกสารราชการที่ใช้ฟอนต์ TH Sarabun IT๙ ที่ทำให้ตัวเลขที่ปรากฏบน Domain name ผิดเพี้ยนกลายเป็นตัวเลขไทยเสียงอย่างนั้น หรือการแสดงผลตัวเลขไทยบนคำที่ดูแปร่ง ๆ เมื่อประกอบอยู่กับภาษาอังกฤษ อย่าง pm๒.๕, ๓๐% และการแสดงผลที่ผิดพลาดบนระบบรายการบรรณานุกรม ที่อาจทำให้ผู้ค้นคว้าข้อมูลค้นหาข้อมูลที่ตัวเองต้องการใช้ไม่เจอก็ได้
สุดท้ายแล้วฟอนต์นี้ก็เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งที่ไม่ดีนัก หากเปรียบเป็นแท่งกาวก็คงจะเหมือนกาวที่ถูกผสมเนื้อกาวมาอย่างไม่ได้คุณภาพ ทำให้คุณภาพกาวก็ติดได้อย่างไม่สนิทแน่น ไม่ควรนำมาใช้งานแต่อย่างใด สร้างความสะดวกสบายในมุมมองของผู้ใช้งาน แต่ส่งผลต่อความลำบากของผู้คนอื่น ๆ ที่ต้องการนำเนื้อหาส่วนนั้น ๆ มาใช้งานต่อ ทั้งจากการเลือกใช้งานฟอนต์ TH Sarabun IT๙
และการเลือกใช้งาน ‘ตัวเลขไทย’ บนเอกสารที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานตัวเลขไทยขนาดนั้น ควรใช้เป็นตัวเลขอารบิกเพื่อให้ผู้คนที่นำข้อมูลนั้น ๆ ไปใช้งาน ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้จจะสร้างความลำบากให้กับผู้พมพ์สักเล็กน้อย แต่การจัดการระบบเอกสารราชการในภายภาคหน้า จะเป็นระบบที่ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งต่อตัวผู้จัดพิมพ์เอกสารราชการเอง และตัวผู้นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานต่อ ๆ ไป