เช้าวันนี้ (5 ตุลาคม 2567) ทีมกองบรรณาธิการมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน Data Connect 2024 ที่จัด ณ True Digital Park ซึ่งหนึ่งใน Talk ที่น่าสนใจคือ Talk การเมืองแบบไข่ดาวหลายใบ: อ่านพลวัตการเมืองใหม่ผ่านข้อมูลเลือกตั้ง โดย ณพล จาตุศรีพิทักษ์ – นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ ISEAS ซึ่งได้นำข้อมูลขึ้นมาพูดและเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งในปี 2566
จากงานวิจัย ณพลพบว่า เส้นแบ่งระหว่างชนบทกับคนเมืองยังมีผลต่อการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ในปี 2566 กลับได้ถูกแปรรูปในรูปแบบ “ไข่ดาว” ซึ่งไข่แดงหมายถึงศูนย์รวมของความเจริญ ซึ่งจะเน้นนโยบายทางการเมือง เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร เป็นต้น (เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล) และถูกล้อมรอบด้วยไข่ขาว ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ทางการเกษตร ชุมชน และหมู่บ้าน แน่นอนว่าพื้นที่ไข่ขาวจะเน้นนโยบายทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้เครือข่ายหัวหน้าชุมชน และมักมาในรูปแบบการเป็นหัวคะแนนเสียงนั่นเอง (ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ)
ซึ่งนั่งทำให้ย้อนกลับมาสู่การเมืองก่อนหน้านี้ ที่คนชนบทจะเน้นการเลือกนักการเมืองที่สามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เขาดีขึ้น และนั่นคือการมีกินมีใช้ของเขา ในขณะที่คนเมืองมักจะเน้นการหาวิธีในการทำให้อำนาจที่ตนเองรักอยู่ได้ยาวนานที่สุด ซึ่งมาจากทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ซึ่งนำเสนอโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อสะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี 2533-2536 นั่นเอง
ณพล ได้ทำงานวิจัยโดยนำพื้นที่เขตเลือกตั้งมาประกอบกับดัชนีความเป็นเมือง วัดกับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งพบว่าพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำคะแนนได้ดีในพื้นที่ความเป็นเมือง และพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ จะทำคะแนนได้ดีในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ดี ณพลได้ให้ข้อสังเกตกับข้อมูลนี้เช่นกันว่า มีความคลาดเคลื่อนด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูล เช่น จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า และการที่ไม่ได้เข้าไปถามหน้างานด้วยตนเอง ทำให้ข้อมูลนี้มีข้อจำกัดตามมานั่นเอง
ในขณะเดียวกันก็มีปรากฎการณ์ “การแบ่งคะแนน” จากกฎที่ใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งส่งผลทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้คนในเมืองเลือกให้คะแนนกับผู้สมัครที่ตรงกับพรรคที่ชอบ ในขณะที่คนในชนบทก็จะเลือกแบบ “สามารถต่อรองได้” คือ การเลือกผู้สมัครกับพรรคคนละพรรคกัน ซึ่งเขาก็ต้องการผู้แทนที่ “พบง่าย ใช้คล่อง ไร้ช่องโหว่” และเช่นกัน เขาก็ต้องการ “พรรคที่สามารถให้นโยบายของเขาถูกผลักดันได้” เช่นกัน การเลือกแบบนี้ทำให้เขามีอำนาจในการต่อรองได้มากกว่า
สุดท้าย ณพล ให้บทเรียนว่า ประชาธิปไตยนั้นอยู่บนพื้นฐานของการเคารพทุกเสียงซึ่งกันและกัน เราจะอยู่ไม่ได้เพราะเสียงใดเสียงหนึ่ง ฉะนั้นการทำความเข้าใจกับทุกเสียงที่เลือกมานั้นจะทำให้เราเห็นภูมิทัศน์การเมืองไทยต่อไปนั่นเอง