ถือเป็นวันสำคัญที่ถูกบันทึกบนไทม์ไลน์วิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ในขณะนั้น) เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นับจากวันนี้ก็เป็นระยะเวลากว่า 14 ปีแล้ว และถือเป็นการเดินทางกลับไทยครั้งล่าสุดของอดีตนายกรัฐมนตรี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ภายหลังกรณีการขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ของรัฐบาลสิงค์โปร์ โดยตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ กระแสสังคมพุ่งเป้าไปที่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้นโดยทันที ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทับซ้อน และจริยธรรมของผู้นำ จนสามารถจุดชนวนการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้
สำเร็จ
แม้นายกรัฐมนตรีจะพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมทั้งประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะสายเกินไป เมื่อ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลในวันที่ 19 กันยายน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทักษิณซึ่งกำลังเตรียมขึ้นปราศรัย ณ ที่ประชุมสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ต้องลี้ภัยทางการเมืองในต่างแดน จนกระทั่งภายหลังจากที่คณะรัฐประหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดการเลือกตั้งในปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ของฝ่ายทักษิณนำโดย สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค สามารถชนะเลือกตั้งถล่มทลาย นำไปสู่การเปิดทางให้อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้เดินทางกลับไทย
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ทักษิณ เดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารของการบินไทย เที่ยวบิน TG 603 จากฮ่องกงมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยทันทีที่อดีตนายกเดินออกมาหน้าประตูสนามบิน ก็ได้ก้มลงกราบแผ่นดินต่อหน้าสื่อมวลชน และประชาชนจำนวนมากที่มารอรับ จนกลายเป็นหนึ่งในภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนั้น แต่การเดินทางกลับไทยในครั้งนั้น กลับมีระยะเวลาเพียง 5 เดือนเศษ ก่อนที่ทักษิณจะเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่ได้กลับไทยอีกจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงคุกรุ่นอยู่