วันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เกิดคดียึดทรัพย์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย เมื่อศาลพิพากษายึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นในขณะนั้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ภายหลังการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ของรัฐบาลสิงค์โปร์ จำนวน 1,487 ล้านหุ้น รวมมูลค่ากว่า 73,271 ล้านบาท นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในสังคม ถึงแม้จะเป็นการขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องเสียภาษี แต่ภาคประชาสังคมต่างตั้งคำถามถึงจริยธรรมของผู้นำ ซึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นครั้งนี้ จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนถัดมา ส่งผลให้ทักษิณประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ และประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่ดูเหมือนกระแสต่อต้านจะบานปลายในที่สุด เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายนในปีเดียวกัน
ภายหลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้จัดตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลทักษิณย้อนหลัง 5-6 ปี โดยพุ่งเป้าไปที่การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นปี 2549 ในประเด็นการไม่เสียภาษีจากกำไรส่วนต่างในการซื้อขายหุ้น และการประกาศใช้ พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ที่ขยายสัดส่วนการถือครองหุ้นก่อนการซื้อขายไม่กี่วันนำ มาสู่คำสั่งอายัดเงินที่ได้จากการขายหุ้นและ ดอกผลทั้งหมด มูลค่า 76,261.6 ล้านบาท ของอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
ซึ่งในการตัดสินคดีครั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์จากกลุ่มอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของคดีกับรัฐประหารในปี 2549 ความเป็นกลางขององค์กร เป็นต้น และการตัดสินคดีครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองก่อนการชุมนุมใหญ่ ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2553