หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการถ่ายทอดสดรายการสำคัญๆ ที่ดำเนินการออกอากาศรายการนั้น ๆ ซึ่งในบางครั้งก็ออกอากาศครบทุกสถานีโทรทัศน์ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือบางครั้งก็สลับกันออกอากาศในบางช่วงเวลาแต่เป็นรายการในโปรแกรมเดียวกัน ซึ่งการออกอากาศแบบนี้มีผู้อยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย” นั่นเอง หรือในชื่อย่อคือ ทรท. วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ทรท. กันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้าง?

เหตุการณ์ต่อไปนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2509 เมื่อในระหว่างการแข่งขันของโทรทัศน์ในประเทศไทยเริ่มดุเดือดมากขึ้น การมีช่องโทรทัศน์ของรัฐ 2 ช่อง นั่นก็คือ ไทยทีวี ช่อง 4 (ช่อง 9 MCOT HD ในปัจจุบัน) และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ททบ.5 ในปัจจุบัน) ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงจับมือกันทำงานเพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ประชาชนควรได้มีส่วนร่วมทางสังคมด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าที่สถานีโทรทัศน์ช่องใดช่องหนึ่งจะรับผิดชอบการถ่ายทอดสดเพียงลำพัง เพื่อให้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ

ในตอนนั้นทั้งสองสถานีโทรทัศน์จึงจับมือกันร่วมกันถ่ายทอดสด ดังเช่นการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 9-20 ธันวาคม พ.ศ. 2509 และกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 (กีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน) ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในปีเดียวกัน ทั้ง 2 ช่องก็ได้ร่วมมือกันอีกครั้ง

จากความร่วมมือในการดำเนินการถ่ายทอดสดกีฬาระดับนานาชาติของทั้ง 2 ช่อง ทำให้ผู้บริหารเห็นความจำเป็นในการร่วมมือกันทำงานในวาระสำคัญของบ้านเมือง จึงจัดการประชุมหารือกันระหว่างผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และในที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการรวมตัวกันในวงการโทรทัศน์ เพื่อปรึกษาหารือจนการดำเนินการจัดการเรื่องต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ทุกสถานี และมีมติให้จัดตั้งองค์กรขึ้น โดยให้มีคณะกรรมการในส่วนกลาง อันประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 , ททบ.7 ขาวดำ และ ช่อง 7 สี เป็นกรรมการ และมอบให้ผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ขาวดำ) เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และทำเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

จึงทำให้ พลตรี ประสิทธิ์ ชื่นบุญ รับหน้าที่เป็นประธาน ทรท. คนแรก ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถาวรนับตั้งแต่ก่อตั้งสถานีในปี พ.ศ. 2513 โดย “โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย” ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานหลายประการ ประกอบไปด้วย

  • ร่วมมือกันถ่ายทอดสดและรับการถ่ายทอดสดทั้งในและต่างประเทศจากรายการสำคัญๆ เช่น การถ่ายทอดพระราชพิธี การถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ
  • ดำเนินการจัดทำข่าวในพระราชสำนัก รวมถึงการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีสำคัญๆ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านสถานีโทรทัศน์ของสมาชิกและสถานีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณ
  • เป็นผู้ประสานงานตกลงค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ จากการถ่ายทอด เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมและให้ผู้ชมได้รับชมการถ่ายทอด (กีฬา) ในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม
  • เพื่อร่วมมือกันจัดทำภารกิจถ่ายทอดสดตามที่ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาล เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านสถานีโทรทัศน์ของสมาชิกและสถานีโทรทัศน์ที่รับสัญญาณถ่ายทอดสด
  • เป็นสื่อกลางระหว่างสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน ขจัดและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในสถานีโทรทัศน์แต่ละสถานี โดยไม่ก้าวก่ายการบริหารภายในของแต่ละสถานี
  • ร่วมมือสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างสถานีโทรทัศน์

โดยรายการสำคัญระหว่างประเทศที่ดำเนินการถ่ายทอดสดในชื่อของ ทรท. คือการถ่ายทอดการส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วยยานอะพอลโลของสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการรับการถ่ายทอดสัญญาณข้ามทวีปผ่านดาวเทียมเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2512

ปัจจุบันโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย มีสมาชิกคือช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 19 ช่อง ทั้งภาคธุรกิจ สมาชิกก่อตั้ง และทีวีสาธารณะ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนสถานะของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยจากคณะบุคคล ให้กลายเป็นนิติบุคคลในรูปแบบสมาคม โดยจดทะเบียนชื่อสมาคมว่า “สมาคมโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย” และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Television Pool of Thailand Association”

โดยในสมาคมนี้จะมีคณะกรรมการสมาคม ซึ่งประกอบไปด้วย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 เอชดี เป็น นายกสมาคม, ผู้บริหาร ช่อง 7HD, 3HD และ 9MCOT HD เป็น อุปนายกสมาคม คนที่ 1-3 ตามลำดับ, ผู้แทน ททบ.5 เอชดี เป็น นายทะเบียนและฝ่ายกฎหมาย, ผู้แทน ช่อง 3HD เป็น ปฏิคม (งานด้านการเป็นตัวแทนสมาคมพบปะพันธมิตรและงานด้านสังคม), ผู้แทน ช่อง 7HD เป็น ประชาสัมพันธ์, ผู้แทน ช่อง 9MCOT HD เป็น เหรัญญิก และผู้แทน ททบ.5 เอชดี เป็น เลขานุการสมาคม

โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างรอให้คณะกรรมการธงภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี อนุญาตให้นำแถบสีธงชาติไทยไปแสดงในเครื่องหมายสมาคมซึ่งใช้ตราเดียวกับ ทรท. เดิมทุกประการ และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมต่อกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนสมาคมประจำกรุงเทพมหานครอย่างสมบูรณ์ เพื่อปรับองค์กรจากคณะบุคคลให้กลายเป็นนิติบุคคลในรูปแบบสมาคม เพื่อทำให้สามารถทำงานได้ง่ายและคล่องตัวมากขึ้นด้วย

Content Creator

  • ณตภณ ดิษฐบรรจง

    บรรณาธิการบริหาร THE F1RST แมกกาซีนออนไลน์ที่เล่าทุกเรื่องราวให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่